ที่เห็นและเป็นไป : ที่สุดใครชนะ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ในทางหนึ่งเหมือน “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ที่ตอนหลังเปลี่ยนมาเคลื่อนไหวในนาม “กลุ่มราษฎร” จะเป็นฝ่ายรุก เพราะการจัดม็อบแบบ “แกง” ที่หมายถึง “ต้ม” ภาครัฐจนเปื่อยมาหลายครั้ง ดูจะเป็นม็อบที่มีพลังสูงยิ่ง ไม่เพียงไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย พร้อมจะรวมตัวเสมอเมื่อมีการกำหนดนัด มีพลังเสริมในนามของท่อน้ำเลี้ยงที่ไม่รู้หมด เติมได้ทุกอย่างเท่าที่เรียกร้องต้องการ และยังเป็นผู้กำหนดเกมให้ผู้มีอำนาจต้องเดินตาม

ชัดเจนว่าเล่นในระบบที่ผู้มีอำนาจดีไซน์ไว้เพื่อความได้เปรียบไม่ได้ ต้องลงมาเล่นบนถนนอัน “ม็อบ” เป็นผู้สร้างเกมให้เล่น

แต่อีกทางหนึ่ง “อำนาจรัฐ” ที่มี “กฎหมาย” และ “กลไกบังคับใช้” เป็นเครื่องมือ ก็ดูจะเป็นฝ่ายรุก ด้วยการโยนคดีความต่างๆ เข้าใส่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมโดยเฉพาะคนที่มีบทบาทสูง หรือในฐานะแกนนำ ต้องเดินขึ้นโรงขึ้นศาลด้วยข้อหาที่มีโทษหนักขึ้นเรื่อยๆ

โดยที่ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับการใช้กฎหมาย แม้ว่าจะกู่ก้องร้องตะโกนให้รับรู้ถึงความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมอยู่บ้าง แต่ทำอะไรไม่ได้ ยังต้องเดินอย่างจำนนในเส้นทางสู่การจองจำในคุกขัง

Advertisement

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดการตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในโลกจริงอันได้แก่ในแวดวงสนทนา หรือในโลกออนไลน์ที่สัมผัสสัมพันธ์กันในวงกว้าง

แต่ “ใครหรือฝ่ายไหนจะชนะ” คำตอบส่วนใหญ่เป็นไปตามทรรศนะของคนตอบ

“ทรรศนะ” ที่ประสบการณ์ชีวิต และกรอบความรู้ ความคิด ของแต่ละคนเป็นผู้กำหนด ซึ่งการยอมรับหรือไม่ยอมรับ เห็นด้วยและคัดค้านขึ้นอยู่กับ “กรอบทรรศนะ” ของคนฟังเช่นกัน

Advertisement

คำตอบที่ “เชื่อร่วมกัน” หรือทำให้ “คนส่วนใหญ่เชื่อ” จึงยังไม่มี

เมื่อเป็นเช่นนี้ การทดลองหาคำตอบโดยตัดปัจจัยที่ “ความเชื่อมีอิทธิพลในการกำหนด” ออกไปก่อน พิจารณาเพราะปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับ “ความเชื่อ” หรือ “ทรรศนะส่วนบุคคล” จึงมีความน่าสนใจ
เพื่อจะตอบว่า “ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะ” วิธีแบบ “กำปั้นทุบดิน” ที่สุดคือ “ฝ่ายไหนประกอบด้วยปัจจัยมีพลังมากกว่า”

การพิจารณาถึงพลัง ย่อมต้องแบ่งที่มาออกเป็น 2 แหล่ง คือ “พลังที่เกิดจากธรรมชาติ” กับ “พลังที่มนุษย์สร้างขึ้น”

“ที่เกิดจากแหล่งธรรมชาติ” คือ “พลังของความรัก ความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ น้ำหนึ่งใจเดียว เสมอภาคเท่าเทียม ถูกต้อง เป็นธรรม”

“ที่มนุษย์สร้างขึ้น” คือ “กองกำลัง อาวุธ ระบบระบอบที่สร้างขึ้นมาเพื่อหล่อหลอมให้เกิดการยอมจำนน อันประกอบด้วย กฎหมายและกลไกการบังคับใช้”

“อำนาจ 2 แหล่ง” จะนำมาซึ่งความขัดแย้งและต่อสู้กันอยู่เสมอ

ประเทศที่ประชาชนจะอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบได้ จะต้องเป็นชาติที่ออกแบบกติกาการอยู่ร่วมกันโดยให้ “พลังที่มนุษย์สร้างขึ้น” ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับ “พลังธรรมชาติ”

กติกาที่เขียนโดยมี “ความรัก น้ำหนึ่งใจเดียว เท่าเทียม เสมอภาค เป็นธรรม” เป็นแก่นแกนที่มุ่งไปของเนื้อหาในกฎหมาย

และใช้กลไกและเครื่องมือต่างๆ ในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างที่ “พลังธรรมชาติ” จะนำพานั้น

ประเทศที่จะหาความสงบไม่ได้คือเป็นชนชาติกติกาที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ยกฐานะตัวเองเพื่อเอารัดเอาเปรียบผู้คนที่ร่วมสังคมเดียวกันของคนที่เขียนกติกา และวางระบบการบังคับใช้มุ่งไปที่การสร้างความจำนนให้เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ โดยไม่ใช่ใจถึงความเป็นธรรม

จริงอยู่จะหาคำตอบที่ชัดเจนว่า “ใครจะชนะ” ไม่ได้ จากกรอบคำตอบที่แบ่งพลังออกเป็น 2 แหล่งเช่นนี้

เนื่องจาก “การทำให้จำนนหรือจำยอม” ย่อมถือเป็นชัยชนะได้ เช่นเดียวกับการอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องกับพลังธรรมชาติ

และการทำให้ยอมจำนนนั้นชัดเจนในความหมายของ “ผู้ชนะ” ในมุมมองของการต่อสู้มากกว่า

แต่กระนั้นก็ตาม “ธรรมชาติ” ไม่มีทางที่จะเป็น “พลังที่จะหยุดนิ่ง” โลกยังหมุนไปในขั้วลบ ขั้วบวกของพลังแม่เหล็กที่ต้องกลับสมดุลให้จิตวิญญาณของสรรพสัตว์สู่ความสุขสงบ อันหมายถึงเคลื่อนไปอย่างสอดคล้องกับพลังธรรมชาติเสมอ

หากยังปรับสมดุลไม่ได้ จะเกิดแรงเสียดทานซึ่งความทุกข์ร้อนให้กับคนที่สร้างวิถีชีวิตมาฝืนกับพลังที่ขับเคลื่อนไปสู่ความสมดุลเสมอ

ชัยชนะของ “อำนาจที่มนุษย์สร้างขึ้น” จึงเป็นเรื่องชั่วคราว และสร้างความเดือดร้อนให้กับการอยู่ร่วมกันตลอด

ดังนั้น การหาคำตอบว่า “ใครจะชนะ” อาจจะไม่จำเป็น

การหาหนทางที่จะไม่ให้เกิดแรงเสียดทานของการอยู่รวมกัน หรือให้เกิดน้อยที่สุด ย่อมเป็น “ความมีปัญญา” ที่ถูกต้องกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image