ปม‘เครื่องแบบ’ ประกายไฟ‘ความคิด’ จากนักเรียนเลว

ปม‘เครื่องแบบ’ ประกายไฟ‘ความคิด’ จากนักเรียนเลว ไม่ว่าการประสานระหว่าง “ภาคีนักเรียน” กับ “นักเรียนเลว” ในการเปิดแคมเปญ แต่งชุด “ไปรเวต” ไปโรงเรียนในวันที่ 1 ธันวาคม จะปรากฏผลอย่างไร

ปม‘เครื่องแบบ’ ประกายไฟ‘ความคิด’ จากนักเรียนเลว

ไม่ว่าการประสานระหว่าง “ภาคีนักเรียน” กับ “นักเรียนเลว” ในการเปิดแคมเปญ แต่งชุด “ไปรเวต” ไปโรงเรียนในวันที่ 1 ธันวาคม จะปรากฏผลอย่างไร

แคมเปญนี้ “แรง”

นี่คือก้าวอันเท่ากับเป็นการย้อนศรเข้าไปใน “โรงเรียน” อย่างลึกซึ้ง กระหน่ำอย่างชนิดตรงตัวเข้าไปยัง

Advertisement

“เครื่องแบบ”

กระทบไปยังรากฐานในทาง “ความคิด”

เหมือนกับสถานการณ์หลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่มีการปรับเปลี่ยน “เครื่องแบบ” ของนักศึกษากระทั่งเกิดเอกลักษณ์อย่างที่เรียกว่า “5 ยอ”

Advertisement

เห็นได้ไม่ว่าที่ “ท่าพระจันทร์” หรือแม้กระทั่งที่ “สามย่าน”

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องบรรยายถึงบทบาทของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ส่วนหนึ่งที่บ้างเข้าไปอยู่ในโรงงาน บ้างก็เข้าไปอยู่กับชาวนา

เพียงแต่หนนี้พุ่งเป้าเข้าไปยัง “นักเรียน”

ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์“เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ได้ก่อผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง

ทั้งในทาง “ความคิด” ทั้งในทาง “การเมือง”

ถามว่าทำไมจึงได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ถามว่าทำไมจึงได้มีเสียงเรียกร้องในเรื่องคณะกรรมการ “สมานฉันท์” ดังกึกก้อง

ตอบได้เลยว่าเพราะ “เยาวชนปลดแอก”

แม้ว่าดูเหมือน 250 ส.ว.กับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจะยึดกุมทิศทางในการแก้ไข แต่มั่นใจหรือว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามความปรารถนา

ตราบเท่าที่ “เยาวชนปลดแอก” ยังมีบทบาท

ขณะเดียวกัน บทบาทหนึ่งซึ่งมีผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อ “นักเรียน” คือ บทบาทในเรื่องอัตลักษณ์ บทบาทในเสรีภาพ

จาก “ชู 3 นิ้ว” มาถึง “เครื่องแบบ”

ยิ่งมีการเปิดเวทีเพื่อ “วิวาทะ” ระหว่างผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ กับบรรดา “นักเรียน” หรือผู้เคยผ่านชีวิตของ “นักเรียน” มากเพียงใด

“ปัญหา” ใน “โรงเรียน” ยิ่งปะทุเท่านั้น

รูปธรรมหนึ่ง คือการดีเบตระหว่าง “น้องมิน” กับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

รูปธรรมหนึ่ง คือการพูดถึง “ทรงผม” ในรายการ “ถามตรง”

ชาวบ้านที่ติดตามรายละเอียดเหล่านี้ ไม่ว่าจะผ่านการไลฟ์สด ไม่ว่าจะผ่านยูทูบ ไม่ว่าจะผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ล้วนเห็นตรงกัน

เห็น “ช่องว่าง” เห็นมุมมองที่ “ต่าง”

ไวรัลอันปรากฏผ่านโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดเสียงหัวเราะเมื่อได้ยิน “ผู้ใหญ่”จากกระทรวงให้ความเห็น อาการกุมขมับของ “นักเรียน” คือภาพป้อง

นี่คือ “ปัญหา” อันจะกลายเป็น “วิกฤต” ต่อไป

โรงเรียนมิได้ดำรงอยู่อย่างเป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ โรงเรียนมิได้ดำรงอยู่อย่างเป็นสถานที่อันปลอดภัยของนักเรียนเหมือนความเชื่อเดิมอีกต่อไปแล้ว

ตรงกันข้าม กำลังเป็น “พื้นที่” ที่สร้าง “ปัญหา”

ปะทุแห่งอารยะขัดขืนผ่านการ “ไม่แต่ง” เครื่องแบบที่จะปรากฏในวันที่ 1 ธันวาคม อาจเป็นจุดเล็กๆ เสมอเป็นเพียงการเริ่มต้น

แต่นี่คือ “ประกาย” ที่ขึ้นไปอยู่บน “เวที”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image