สถานีคิดเลขที่ 12 : เรื่องร้อนๆ องค์กรอิสระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : เรื่องร้อนๆ องค์กรอิสระ หลายปมปัญหาในสังคมไทยวันนี้

สถานีคิดเลขที่ 12 : เรื่องร้อนๆ องค์กรอิสระ

หลายปมปัญหาในสังคมไทยวันนี้ กำลังถูกเขย่าอย่างขนานใหญ่ ตั้งแต่เรื่องระดับเด็กๆ ว่าด้วยการแต่งเครื่องแบบชุดนักเรียน การไว้ผม ถ้าผมยาวจะบังเพื่อนหรือไม่ ซึ่งอันที่จริงเสียงเรียกร้องของเด็กนักเรียนยุคใหม่นั้น พุ่งเป้ารื้อระบบการศึกษาไทย ให้สร้างเด็กที่คิดเป็น ไม่ใช่นกแก้วนกขุนทอง

ไปจนถึงปัญหาใหญ่ๆ ระดับกฎหมายสูงสุดของประเทศคือรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องการแก้ไขแบบรื้อใหญ่ทั้งฉบับ หรือจะแก้แบบนิดหน่อยๆ เพื่อผ่อนคลายกระแส

รวมทั้งล่าสุดคือ การวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ว่าจะผิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่

Advertisement

แต่ลงเอยด้วย “ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง พ.ศ.2548” ก็ช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำรงตำแหน่งนายกฯได้ต่อไป

จนแวดวงนักวิชาการกฎหมายต้องมาถกเถียงกันยกใหญ่ ว่าด้วย “ระเบียบภายในกองทัพบก” มีสถานะสำคัญเช่นไรเมื่อเทียบกับบทบัญญัติ “รัฐธรรมนูญ”

เป็นเรื่องร้อนๆ ล่าสุดของสังคมไทย

Advertisement

ท่ามกลางความร้อนไปเสียทั้งหมดแทบทุกเรื่อง

แน่นอนว่าด้วยผลการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ปมปัญหาโครงสร้างการเมืองไทย ตกเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงชนิดต้องการรื้อกันครั้งใหญ่

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในสายตาของผู้ที่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลงคือ ต้นตอความเหลื่อมล้ำทางการเมือง

กรณีอำนาจ 250 ส.ว.อยู่เหนืออำนาจประชาชนที่เข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ดูโจ่งแจ้งมากที่สุด

แต่วันนี้ ประเด็นที่มาตอกย้ำเพิ่มเติม คือ การเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระทั้งหลาย

เสียงเรียกร้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมีทั้งเรื่องอำนาจและที่มาของ ส.ว. รวมทั้งอำนาจและที่มาขององค์กรอิสระ

อันที่จริงอำนาจ ส.ว.ในการกำหนดตัวนายกฯและรัฐบาลนั้น เพิ่งมาปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560

แต่ปัญหาองค์กรอิสระมีมายาวนานตลอดกว่า 10 ปีของความขัดแย้งรุนแรงในสังคมไทย

แม้แต่ในวันที่คณะ คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ยังหยิบปมปัญหาความยุติธรรม 2 มาตรฐานขึ้นมากล่าวอ้างว่า เป็นหัวข้อสำคัญที่ต้องแก้ไข เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 63/2557 เรื่องนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ซึ่งเขียนไว้เลยว่า การดำเนินคดีต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ของหน่วยงานด้านยุติธรรม อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า มีการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม ทำให้ปัญหาความขัดแย้งและแตกแยกในสังคมเกิดขึ้น และอาจมีเพิ่มมากขึ้นต่อไป

คสช.จึงมีนโยบายให้ ศาล ป.ป.ช. องค์กรอิสระ อัยการ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ยึดมั่นในความเที่ยงธรรม มีบรรทัดฐาน สาธารณชนตรวจสอบได้ ไม่เลือกปฏิบัติ

ประกาศนี้เขียนมา 6-7 ปีแล้ว

หัวหน้า คสช.วันนี้เป็นนายกรัฐมนตรี และเพิ่งรอดพ้นคดีสำคัญบ้านหลวง

ทำไมเสียงเรียกร้องต่อการปฏิรูปความยุติธรรมและองค์กรอิสระจึงยิ่งดังมากขึ้นๆ

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image