เลือกตั้งท้องถิ่น… 6 ปีใต้ระบอบ คสช.

วันที่ 10 ธันวาคม ถูกประกาศเป็นวันรัฐธรรมนูญ เป็นที่ระลึกวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับแรกของประเทศไทย

ถึงวันนี้เวลาผ่านไป 88 ปี กำลังจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นฉบับที่ 20 หลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 วันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการได้เชิญตัวแทนภาคประชาชนที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าชี้แจงหลักการสำคัญๆ แต่กรรมาธิการไม่เห็นพ้องด้วย เลยทำให้เหลือแค่ร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านเท่านั้น

โฉมหน้าการเมืองไทยต่อจากนี้จะเป็นเช่นไรจึงขึ้นอยู่กับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) จะยกร่างขึ้น ภายใต้แรงกดดันของกลุ่มพลังต่างๆ กลุ่มที่ถูกจับตามากคือกลุ่มราษฎร ซึ่งยังยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อเช่นเดิม

Advertisement

เช่นเดียวกับความเป็นไปทางการเมืองที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การเลือกตั้งท้องถิ่น เริ่มจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด วันที่ 20 ธันวาคมนี้ หลังถูกแช่แข็งมานานกว่า 6 ปี ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ความสนใจเฉพาะหน้าคงเน้นไปที่ผลการขับเคี่ยวระหว่างผู้สมัครภายใต้การสนับสนุนของพรรคการเมืองระดับชาติ กับกลุ่มการเมือง
ท้องถิ่น ในแต่ละจังหวัด ใคร กลุ่มไหนจะพิชิตชัยชนะ

กลุ่มการเมืองที่ถูกเฝ้ามองเป็นพิเศษยังคงเป็นกลุ่มก้าวหน้า คนรุ่นใหม่จากพรรคอนาคตใหม่
ที่ถูกยุบไป จะได้รับเลือกตั้งมากหรือน้อย ภายใต้
ปัจจัยที่คนหนุ่ม คนสาวรุ่นใหม่เพิ่งได้รับสิทธิลงคะแนนครั้งแรกเป็นจำนวนมาก

Advertisement

ความตื่นตัวของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จะแห่กันไปลงคะแนนให้กลุ่มการเมืองใด จะเกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

ในเชิงโครงสร้างอำนาจ การเมืองท้องถิ่นภายใต้สถานการณ์ต่อสู้ทางความคิดระหว่างพลังอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้ากำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าความตื่นตัวของพี่น้องประชาชนสูงขึ้น หรือไม่ต่างจากอดีต

อิทธิพลของกลุ่มการเมือง เจ้าพ่อ เจ้าแม่ บ้านใหญ่ บ้านเล็กในท้องถิ่นที่เคยครองอำนาจมายาวนาน จะยังรักษาฐานที่มั่น ผลประโยชน์เดิมไว้ได้ หรือพังทลายจากบทบาทของคนรุ่นใหม่

อีกทั้ง จารีตในการหาเสียง การลงคะแนนแบบเดิมๆ เงินไม่มา กาไม่เป็น จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงไร จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ค วามท้าทายอีกประการหนึ่ง คือการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะส่งเสริมให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก้าวหน้าขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่งจริงหรือไม่ ขณะที่ท้องถิ่นยังอยู่ภายใต้อำนาจของกฎ ระเบียบ ทัศนคติ ค่านิยมรวมศูนย์จากส่วนกลางที่แข็งแกร่งอยู่เช่นเดิม

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นผ่านการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าที่ควร จะส่งผลบทบาทหลัก น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี การศึกษาดี มีงานทำ มีวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมดี จะเป็นจริงหรือไม่

เงื่อนไขจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์กรท้องถิ่นเพียงฝ่ายเดียว แต่ปัจจัยอยู่ที่อำนาจของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอีกด้วย จะปรับตัวและประสานภารกิจกันอย่างไร โดยเฉพาะอำนาจการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นกับการเปิดช่องทางให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น

ภายใต้โครงสร้างอำนาจราชการสองระดับที่ยังดำรงอยู่เหนียวแน่น องค์กรของรัฐหน่วยหนึ่งซึ่งยังคงถูกมองว่าเป็นอุปสรรคใหญ่อยู่เช่นเดิม คือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เน้นกฎระเบียบแข็งตัวยิ่งกว่าผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ทำให้องค์กรท้องถิ่นจำนวนมากไม่กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาฯ

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นถึงแม้ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาคอขวด อำนาจจากส่วนกลางคลี่คลายลงได้เท่าที่ควรก็ตาม

อย่างน้อยทำให้โอกาสของประชาชนในการตัดสินใจ เลือกผู้ที่เหมาะสมเข้ามาและเอาคนที่ไร้ผลงานออกไป กลับคืนมา ทำให้โอกาสของนักการเมืองใหม่ๆ เบียดแทรกเข้ามามากขึ้น

การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นหน้าด่านและทางออกของความเป็นประชาธิปไตยไทย ให้พ้นจากการเมืองอนาธิปไตย เผด็จการทหาร เผด็จการทุนสามานย์ ทรราชย์เสียงข้างมาก

แต่ที่น่าสลดใจ ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ ได้สิทธิและโอกาสกลับคืนมา แต่คนเมืองหลวงกรุงเทพมหานครที่บอกว่าก็แค่เทศบาลใหญ่แห่งหนึ่งเท่านั้น กลับยังไม่ถูกปลดปล่อย เพราะเหตุใด

คนกรุงเทพฯไม่พร้อม หรือใครไม่พร้อม ไม่กล้าเสี่ยงกับความตื่นตัวของประชาชนและคะแนนนิยมที่ลดลงเรื่อยมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image