ที่เห็นและเป็นไป : จะจบอย่างไร โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

การระบาดของโควิด-19 ดูจะกลับมาอีกครั้ง อย่างน้อยก็ข่าวลือว่าเกิดการลุกลามจากประเทศเพื่อนบ้านได้สร้างความวิตกกังวลให้เกิดขึ้นไปทั่วพร้อมกับการพบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น

ที่แตกต่างไปจากเดิมคือท่าทีของรัฐบาลในการรับมือ

ก่อนหน้านั้นเมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ ทีมเผชิญโรคระบาดของรัฐบาลจะเข้มข้น การประกาศมาตรการเพื่อควบคุมจดถี่ยิบ ให้เห็นความขึงขังเอาจริงเอาจัง

แต่คราวนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ดูจะมีแค่เสียงเตือน ไม่มีการสร้างบรรยากาศ “สุขภาพ และความปลอดภัยต้องมาก่อน” เหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านั้น

Advertisement

ยังชัดเจนด้วยว่า แม้ผู้คนจะเริ่มกังวลเรื่องการระบาดของโรคร้าย แต่ทิศทางที่รัฐบาลส่งสัญญาณเป็นไปในทางหาวิธีจัดการกับเศรษฐกิจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการประกาศผ่อนปรนให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การขยายสถานที่กักตัวไปที่สนามกอล์ฟ และอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งสะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าจำเป็นและเร่งด่วนในการจัดการเยียวยาคือปัญหาทางเศรษฐกิจ

การล็อกดาวน์ ปิดเมือง เพื่อจัดการกับการระบาดที่จะทำให้เกิดความตื่นตระหนกนั้น ชัดเจนว่าได้รับการปฏิเสธในทุกครั้งที่มีคำถาม

การผ่อนปรนในสถานการณ์ที่น่าจะต้องเข้มงวดเช่นนี้ แปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากหมายถึงรัฐบาลเห็นว่าต้องยอมเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาด เพื่อไม่ทำให้กลไกเศรษฐกิจหยุดชะงักอีกครั้ง

Advertisement

ซึ่งหากฟังเสียงของผู้ประกอบธุรกิจแนวโน้ม ไม่กลัวโรค แต่กลัวเจ๊ง ชัดเจนไปทุกกิจการ

ที่ต้องจับตาคือ การผ่อนปรนมาตรการเพื่อความปลอดภัยเช่นนี้

น่าจะมีผลทางการเมืองสูงอยู่ ด้วยอย่างน้อยย่อมเกิดความวิตกกังวลขึ้นในหมู่ผู้ชุมนุม แม้ว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวจะไม่กลัว เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ดี แต่เมื่อเด็กๆ เหล่านี้ต้องกลับบ้านไปอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายที่อายุมาก และมีความต้านทานต่ำกว่า ถึงอย่างไรก็ต้องคิดว่าจะไม่เอาโรคไปติดต่อกับผู้ใหญ่เหล่านั้น

ยิ่งหากตรวจพบว่ามีการระบาดของโรคในที่ชุมนุมทางการเมือง ความกังวลนี้จะเพิ่มขึ้น โดยแม้รัฐบาลไม่ประกาศมาตรการ แต่การเข้าร่วมชุมนุมจะเบาบางลงทันที

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลต่อเนื่องที่่ต้องจับตา

ขณะที่การใช้กฎหมายเพื่อควบคุมทางการเมืองชัดเจนว่าเข้มข้นขึ้น ถึงขั้นที่ประเมินกันว่า “ตุลาการภิวัฒน์” หรือโมเดลที่ถูกเลือกหยิบมาใช้เพื่อคลึ่คลายความยุ่งยากที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

เป็นโมเดลที่ยิ่งฝ่ายผู้ชุมนุมไม่แสดงพลังในการต่อต้าน หรือพลังน้อยลง การจัดการจะสำเร็จโดยง่ายขึ้น เพราะไม่มีแรงกดดันให้ต้องกังวล

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อยุติความวุุ่นวายทางการเมืองแบบถอนรากถอนโคน ด้วยความเชื่อว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งจะว่าไปช่วงนี้สัญญาณเรื่องอำนาจเด็ดขาดถูกส่งออกมาจากเครือข่ายศูนย์กลางอำนาจถี่ และต่อเนื่องขึ้นอย่างสัมผัสได้ไม่ยาก

เศรษฐกิจที่ทรุดลง การระบาดของโรคเข้ามาซ้ำเติม และความวุ่นวายทางการเมืองถูกมองว่าเป็นอุปสรรคของการบริหารจัดการประเทศในยามที่เกิดวิกฤตในทุกด้าน

เหตุผลของการใช้อำนาจเด็ดขาดจะมีน้ำหนักขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะหากเกิดการระบาดของโรคในที่ชุมนุม

และนั่นบางทีจะเป็นเหตุผลว่าคำประกาศของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” นั้น สถานการณ์จะนำไปสู่คำถามที่ “ใครจบ ใครอยู่”

เป็นคำถามที่ก่อให้เกิดอารมณ์แบบ “ถูกต้อนจนตรอก”

ความหวัง ความฝันที่เป็นพลังต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าจะแตกสลายลง

ชะตากรรมของ “แกนนำ” ในสถานการณ์เช่นนี้ จะเป็นอย่างไร

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตที่สาระของการต่อสู้ยังไม่รุนแรงเช่นนี้ เป็นทิศทางของคำตอบอยู่แล้ว และนั่นหมายถึงการต้องสู้อย่าง “หัวชนฝา” เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

และนี่เป็นความน่าห่วงอย่างยิ่ง

เพราะหมายถึงประเทศจะเดินหน้าสู่สถานการณ์ที่ยากจะประเมินผลความเสียหายได้

และที่ทุกคนทำได้คือ แค่ภาวนาให้เงื่อนไขที่จะเกิดสถานการณ์เช่นนั้น เบาบาง หรือจางหายไปบ้าง

ได้แค่นั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image