จีนประกาศขจัดความยากจนสำเร็จ ชวนให้คิดถึงตรรกะ‘การแจกปลาสู้สอนจับปลามิได้’

จีนประกาศขจัดความยากจนสำเร็จ ชวนให้คิดถึงตรรกะ‘การแจกปลาสู้สอนจับปลามิได้’

จีนประกาศขจัดความยากจนสำเร็จ
ชวนให้คิดถึงตรรกะ‘การแจกปลาสู้สอนจับปลามิได้’

มาตรการขจัดความยากจนของรัฐบาลจีน มีความคืบหน้าตามลำดับ กระทั่งสุดท้ายเหลืออยู่เพียง 2 มณฑลคือ กุ้ยโจวและกานซูที่ยังจนอยู่ ทว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน รัฐบาลทั้ง 2 มณฑลได้ประกาศว่า ได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว

บัดนี้ ประเทศจีนได้บรรลุเป้าหมายแห่งพื้นฐาน “อยู่อุ่นกินอิ่ม” (小康社會)

รัฐบาลจีนใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีทำให้คนจีนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน

Advertisement

เป็นเรื่องที่ประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติยังมิเคยปรากฏมาก่อน

เป็นความยินดีปรีดาของประชาชนจีน

เป็นกรณีที่ประชาคมโลกก็ให้ความชื่นชมสรรเสริญ

Advertisement

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “เป็นยุคใหม่ของจีน” ดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ปรารภไว้ว่า

“เป็นสมัยที่ถือว่านับวันก้าวหน้าของประชาชนจีน อันเกี่ยวกับความต้องการชีวิตที่ดีกว่าและอาจเกิดความย้อนแย้งกันระหว่างการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่สัมบูรณ์”

ตรงจุดนี้ที่เป็นปัญหาหนักและใหญ่ที่รัฐบาลจีนต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ คือหลีกเลี่ยงกรณีที่ประชาชนหลุดพ้นจากความจนแล้วกลับไปจนอีก อันเนื่องจาก

การพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่สัมบูรณ์

ตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ รายได้ต่อคนต่อวันคือ 1.9 เหรียญสหรัฐ

ปี 2010 ประเทศจีนยังมีคนจนขจัดขจายอยู่ใน 832 อำเภอจาก 22 มณฑล

ปี 2020 รายได้ต่อคนต่อวันคือ 2.2 เหรียญสหรัฐ

ถือว่ารายได้สูงกว่ามาตรฐานของสหประชาชาติ

ทว่า จวบจนเดือนพฤษภาคม 2020 พื้นที่คนจนที่ยังอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน ยังมีเหลืออยู่อีก 52 อำเภอจาก 7 มณฑล ต้นเหตุคือ พื้นที่ราบสูงหรืออยู่ในอาณาเขตทะเลสาบ ไม่ว่าทำเกษตรกรรมหรือปศุสัตว์ ล้วนขาดเงื่อนไขทางธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่กว้างแต่คนอยู่น้อย ครอบครัวยากจนกระจัดกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

การที่จะทำให้หลุดพ้นจากความจนทั้งหมดโดยสัมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องยากมาก

ฉะนั้น รัฐบาลกลางจึงได้ออกคำสั่งชนิดเด็ดขาดเข้าทำนอง “Do or Die” ว่า

“อำเภอที่ยังยากจนอยู่ ให้รัฐบาลท้องถิ่นทำการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2020”

ทั้งนี้ รัฐบาลกลางจะเป็นผู้ลงทุนสร้างบ้านพักอาศัย ให้แก่ประชาชนที่อยู่อย่างกระจัดกระจายและอยู่ไกลปืนเที่ยงให้มาอยู่รวมกันในชุมชนเมือง

ทว่า มีปัญหาให้วินิจฉัยอยู่ 2 ประเด็น

1.วิตกกันว่า ถ้าย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดที่บรรพบุรุษสร้างให้ ทุกอย่างกลายเป็นศูนย์

2.การย้ายมาอยู่ในชุมชนเมือง รัฐสามารถสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้หรือไม่

ประเด็นมีอยู่ว่า มีครอบครัวยากจนเป็นจำนวนมากไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการนี้ ทั้งนี้ มิใช่พวกเขายินยอมที่จะยากจนต่อไป หากแต่ว่าไม่เชื่อใจคณะทำงานของรัฐ เมื่อหมดหน้าที่ในการขนย้ายแล้ว ก็จบกันตรงนั้น และอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของความยากจน และยากจนต่อเนื่องตราบนิจนิรันดร์

แม้รัฐบาลได้ให้คำมั่นจะดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยให้อย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นมิใช่อยู่ที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากอยู่ที่ปัจจัยองค์ประกอบการพัฒนาไม่สมดุลระหว่างพื้นที่

แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจึงไม่ให้พวกเขาต้องประสบกับความจนอีก

เพราะว่าบรรดาอำเภอที่ยากจนเหล่านั้น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และเงื่อนไขทางทรัพยากรธรรมชาติไม่อำนวย จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของประเทศ

แม้การซ่อมสร้างถนนหนทาง สามารถอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการขนส่งผลิตผลไปสู่ตลาด หรืออาศัยสื่อสารออนไลน์เป็นเวทีในการขยายตลาดการค้า แต่ปัจจัยเชิงลึกอยู่ที่คนจนในท้องที่ เงื่อนไขการอยู่รอดขั้นพื้นฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีโอกาสร่ำรวยขึ้นมาได้นั้น ดำรงอยู่ในจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน

ประชาชนที่อยู่ตามป่าเขาลำเนาหรืออยู่ไกลปืนเที่ยง ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย และไม่ได้เรียนหนังสือ โอกาสรับการศึกษานั้นน้อยอยู่แล้ว และยังจะให้พวกเขาทำการต่อสู้แข่งขันชิงชัยในสังคมกระแสหลักของชาวฮั่นอีก

หากต้องการให้การอุปการะ ก็ไม่ควรอิงเป้าหมายแห่งการพ้น “มาตรฐาน” ความยากจน

หากมิฉะนั้น ต่อให้พวกเขาได้รับการศึกษา 9 ปี ก็ยังไม่สามารถออกจากป่าได้

ย้อนมองอดีต ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย รัฐบาลมีนโยบายให้แต้มต่อ แต่หลายปีที่ผ่านมา ปรากฏมีหลายมณฑลได้ยกเลิกระบบเช่นว่า และการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยของชนกลุ่มน้อยกับชาวฮั่นในเมืองใหญ่ เสมือนอยู่ในระนาบเดียวกัน

จึงเห็นว่ารัฐบาลกลางควรต้องลงทุนในมุมกว้างและเป็นปริมาณมาก ให้แก่โรงเรียนที่เคยอยู่ในอาณาเขตยากจนมาก่อน โดยการจัดสรรเพิ่มเติมอุปกรณ์การเรียนการสอน ให้การสนับสนุนและส่งเสริมครูอาจารย์ที่มีคุณภาพสูงไปสอนหนังสือในพื้นที่ห่างไกล จัดสรรเงินทุนสำหรับเด็กนักเรียนที่เรียนเก่งให้ไปเรียนในเมืองใหญ่ เพื่อให้คนรุ่นหลังของครอบครัวที่ยากจนคิดหาหนทางเพื่อรังสรรค์ให้บ้านเกิดของตนหลุดพ้นจากความจนอย่างเป็นนิรันดร์ และก็เป็นการแก้ปัญหายากจนอย่างถาวร

เป็นที่ทราบกันดีเกี่ยวกับตรรกะหรือคติพจน์ของจีนที่ว่า “การแจกปลาสู้สอนจับปลามิได้” ประเด็นจึงมีอยู่ว่า จะปฏิบัติกันอย่างไร เพราะรัฐบาลกลางมิอาจส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานแก้จนได้ทุกปีอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น จึงควรวางแผนขั้นพื้นฐานว่าจะเริ่มต้นอย่างไร

ทว่า หลังจากที่ทั่วประเทศประกาศบรรลุหน้าที่อันทำให้พ้นจากความจน ยังมากด้วยปัญหา เป็นต้นว่า การเรียกร้องให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่า ครอบครัวยากจนแต่เก่าก่อนก็ยังไม่พอใจกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาทางด้านโครงสร้างอันเกี่ยวกับการพัฒนาแต่ละพื้นที่ยังไม่สมดุล คือเป้าหมายสำคัญต่อไปของรัฐ

อันตรรกะ “การแจกปลาสู้สอนจับปลามิได้” (授人以魚不如授人以漁)นั้น หมายถึง การถ่ายทอดความรู้ สู้การสอนวิธีแสวงหาความรู้มิได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “การค้นสำคัญกว่าการคว้า” ยกตัวอย่าง ปลาคือเป้าหมายการทำงาน จับปลาคือกลไกการทำงาน ปลาหนึ่งตัวบรรเทาความหิวได้เพียงชั่วขณะ มิได้ช่วยให้หายหิวไปตลอด หากคิดจะมีปลารับประทานอย่างเป็นนิรันดร์

ก็ต้องเรียนรู้วิธีการจับปลา

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image