สะพานแห่งกาลเวลา : ‘แอนโทรโพซีน’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-pixabay)

มีงานวิจัยที่น่าสนใจและชวนให้คิดต่ออย่างมากชิ้นหนึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการเนเจอร์ ฉบับล่าสุด เป็นผลงานของทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ ในเมืองเรโฮวอท ประเทศอิสราเอล

หัวหน้าทีมวิจัยคือ ดร.รอน ไมโล ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ชีวภาพประจำสถาบัน

ทีมวิจัยของ ดร.ไมโล ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์รวบรวมเอามวลของทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นนับตั้งแต่ปี 1900 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แล้วนำเอาน้ำหนักของทุกอย่างที่มนุษย์ทำขึ้น ตั้งแต่ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน อิฐ ขวดพลาสติก และคอนกรีตทุกชิ้น ฯลฯ มาเปรียบเทียบกับ น้ำหนักของมวลของสิ่งมีชีวิต
ทั้งโลก ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ชีวมวล

ทีมวิจัยพบว่า น้ำหนักของทุกอย่างที่มนุษย์ทำขึ้นนั้น จะเพิ่มขึ้นราวเท่าตัวในทุกๆ 20 ปี

Advertisement

ตรงกันข้ามกับน้ำหนักของชีวมวลที่ลดลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เกิดจากพืชในป่าถูกทำลายและการหายไปของพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้นทุกที

จากการคำนวณ ทีมวิจัยเชื่อว่าถึงที่สุดแล้ววันหนึ่ง น้ำหนักของสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นไว้บนโลก จะมากกว่าน้ำหนักของมวลสิ่งมีชีวิตทั้งหมดรวมกัน

จุดที่ว่านั้นคือ ณ สิ้นปี 2020 นี่เองครับ

Advertisement

ทีมวิจัยให้ค่าความคลาดเคลื่อนไว้ 2-3 ปี คืออาจเร็วกว่าหรืออาจช้ากว่ากำหนดดังกล่าวได้

แต่ยืนยันไว้ชัดว่า ถ้าเรายังคงพฤติกรรมสร้างโน่นนี่นั่นไปเรื่อยๆ เหมือนที่ผ่านมา พอถึงปี 2040 ทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นจะหนักรวมกันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้เกือบ 3 เท่า

คือจาก 1.1 เทราตัน หรือ 1.1 ล้านล้านกิโลกรัม เป็นราว 3 เทราตัน หรือ 3 ล้านล้านกิโลกรัม

นั่นหมายความว่า ทุกวันนี้คนเราสร้างอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาในแต่ละปี รวมกันแล้วมีน้ำหนักมากกว่า 30 กิกะตัน หรือ 3 หมื่นล้านตัน

แต่ละคนบนโลก สร้างอะไรๆ ขึ้นมาในแต่ละสัปดาห์ มีน้ำหนักรวมกันมากกว่าน้ำหนักตัวของคนคนนั้นด้วยซ้ำไป

ตัวเลขที่น่าทึ่งนี้บ่งบอกอะไรกับเรา?

ดร.ไมโลบอกว่า ตัวเลขเหล่านี้คือ “สัญลักษณ์” ที่แสดงหรือสะท้อนให้เห็น “บทบาทของมนุษย์” ต่อการเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกทั้งใบที่อยู่รายล้อมรอบตัวเรา ว่ามีมากมายแค่ไหน

ด้วยเหตุผลนานัปการ ตั้งแต่ความอยู่รอดไปจนถึงความสะดวกสบายของเรา มนุษยชาติทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกนาที ทุกวันเดือนปี
ที่ผ่านไป

และเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนที่ต้องหันกลับมาคิด พิจารณา ไตร่ตรอง ถึง “บทบาท” ที่ว่านี้ให้จงหนัก

เราควร “บริโภค” มากแค่ไหน เราควร “อุ่นสบาย” มากเพียงใด เราควรสร้าง และสั่งสมมากแค่ไหน?

ประเด็นที่สำคัญก็คือ เราควรดำรงชีวิตของเราอย่างไร ถึงจะได้สมดุล พอเหมาะพอดีกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่เหลือ สามารถสร้างดุลยภาพระหว่างชีวิตของโลกกับชีวิตของมนุษยชาติขึ้นมาได้

ในทางวิทยาศาสตร์ ตัวเลขน่าคิดเหล่านี้เป็นหลักฐานบ่งชี้ที่สำคัญอีกประการว่า โลกของเราได้ก้าวมาถึงยุคทางธรณีวิทยาใหม่แล้ว เรียกว่ายุค “แอนโทรโพซีน” (Anthropocene Epoch)

“แอนโทรโพซีน” หมายถึงยุคสมัยในทางธรณีวิทยาที่ซึ่งการกระทำของมนุษย์มีอิทธิพลมากที่สุดต่อสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และ สิ่งมีชีวิตอื่นทั้งหมด
มนุษย์คือ “ผู้สร้าง” ของโลกยุคนี้

คำถามสำคัญก็คือว่า มนุษย์เองรู้ตัวหรือไม่ว่า สิ่งที่ตนเองรังสรรค์ขึ้นนั้นเป็นการสร้างสรรค์หรือทำลาย “โลก” กันแน่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image