ปลดล็อกกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 ความว่า

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2561 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2561

Advertisement

(2) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2563

ข้อ 2 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม

(1) กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง น้ำมัน ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

Advertisement

(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก

(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย

(ค) สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน
ร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

(ง) กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

(2) กัญชง (hemp) พืชซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง เช่น ยาง น้ำมัน ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ เฉพาะที่ได้รับอนุญาตได้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก

(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย

(ค) สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

(ง) เมล็ดกัญชง (hemp seed) น้ำมันจากเมล็ดกัญชง (hemp seed oil) หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง (hemp seed extract)

(จ) กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชงและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

(3) พืชกระท่อม พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกระท่อม เช่น แอลคาลอยด์

(4) พืชฝิ่น พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Papaver somniferum L. และ Papaver bracteatum Lindl หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์
ของฝิ่น

(5) เห็นขี้ควายหรือพืชเห็นขี้ควาย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis (Earle) Singer หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ
psilocin

การนำเข้าวัตถุหรือสารตามวรรคหนึ่ง (1) (ก) (ข) (ค) และ (ง) และ (2) (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) ให้นำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง ของกัญชาและกัญชง

ข้อ 3 กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 2 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์นั้น ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประเด็นสำคัญของประกาศฉบับนี้

1.กัญชงและกัญชาได้รับการปลดล็อกไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

2.การปลดล็อกนี้ สำหรับกัญชาและกัญชงไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด

โดยสาระสำคัญจะมีการยกเว้นพืชกัญชากัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ประกอบด้วย

2.1 เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก

2.2 ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย

2.3 สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออลหรือ cbd เป็นส่วนประกอบและมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลหรือ THC ไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก

2.4 เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง

กัญชาไม่ยกเว้นยอดหรือช่อดอก และเมล็ด ส่วนกัญชงไม่ยกเว้นยอดหรือช่อดอก

3.แม้ปลดล็อกแล้วในการนำไปใช้ต้องมีการขออนุญาต ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 ฉบับที่ 7 ในบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้ผู้ที่ขออนุญาตประกอบด้วยหน่วยงานของรัฐ กลุ่มวิชาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน สถาบันการศึกษา สถาบันอุดมศึกษาเอกชน วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์

กรณีของวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ ต้องทำร่วมกับหน่วยงานของรัฐ กล่าวคือหากจะปลูก ผลิต หรือสกัดนำมาใช้ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

สรุป

การปลดล็อกหรือผ่อนคลายการใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชงนี้ เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพ และการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางตามเงื่อนไขที่กฎหมายยาเสพติดให้โทษบัญญัติไว้ รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายอาหารและยา เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image