บทบาทอัยการฝรั่งเศส ต้นแบบอัยการโลก

ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในโลกที่มีอัยการเกิดขึ้น โดยผู้ที่ทำหน้าที่ในการฟ้องคดีในฐานะอัยการถือกำเนิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 13 หรือเมื่อประมาณ 700 กว่าปีมาแล้ว มีชื่อเรียกว่า procurators และต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ได้เกิดมีตำแหน่งอัยการของกษัตริย์ (procureur du roi) ซึ่งทำหน้าที่ในการฟ้องคดีกล่าวหาบุคคลใดในนามของกษัตริย์ฝรั่งเศส โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการรักษาประโยชน์ของส่วนรวมในนามของกษัตริย์ฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นบรรพอัยการของอัยการฝรั่งเศส รวมทั้งเป็นตัวแทนในการรักษาประโยชน์ของส่วนรวม และเป็นต้นแบบของอัยการในประเทศภาคพื้นยุโรปและ
ประเทศอื่นๆ ด้วย

ในประเทศฝรั่งเศส อัยการมีสถานะเป็นตุลาการเช่นเดียวกับผู้พิพากษา และมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตุลาการยืนŽ (magistrat du parquet) เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ต้องยืนแถลงสิ่งที่ตนต้องการพูด ขณะที่ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการตัดสินคดีมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตุลาการนั่งŽ (magistrat du siège)
ผู้ที่ประสงค์จะเป็นอัยการและผู้พิพากษาจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับการอบรมในสถาบันตุลาการแห่งชาติ (L’École nationale de la magistrature)ในสถานะเป็นตุลาการผู้ช่วย

โดยผู้มีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 31 ปี และเมื่อสามารถสอบผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเป็นเวลาทั้งสิ้น 31 เดือน หรือประมาณ 2 ปีครึ่ง ซึ่งตุลาการผู้ช่วยนี้จะได้รับการฝึกอบรมทั้งงานของอัยการและผู้พิพากษา และเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้ว ตุลาการผู้ช่วยสามารถเลือกได้ว่าประสงค์จะไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอัยการหรือผู้พิพากษา และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ อัยการและผู้พิพากษาฝรั่งเศสสามารถโอนสลับเปลี่ยนสายงานจากอัยการมาเป็นผู้พิพากษา หรือจากผู้พิพากษาไปเป็นอัยการได้

Advertisement

ในระบบการดำเนินคดีอาญาของประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งในประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี เบลเยียม ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เป็นระบบสากล อำนาจในการสอบสวนและฟ้องร้องคดีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเป็นกระบวนการเดียวกัน จึงไม่ได้มีการแบ่งแยกการสอบสวนออกจากการฟ้องร้องคดีเหมือนระบบการดำเนินคดีอาญาของประเทศไทย

ตามหลักการดำเนินคดีอาญาของประเทศฝรั่งเศส อัยการจึงเป็นผู้มีอำนาจทั้งการสอบสวนและการฟ้องร้องคดีอาญา ซึ่งเป็นไปตามหลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ โดยอัยการฝรั่งเศสจะเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนคดี ซึ่งอัยการฝรั่งเศสอาจสอบสวนด้วยตนเองหรือมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายคดีดำเนินการสอบสวนแทนก็ได้ โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศฝรั่งเศส มาตรา 12, มาตรา 12-1 และมาตรา 13 อัยการฝรั่งเศสจะเป็นผู้ควบคุมและกำกับทิศทางในการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายคดี ซึ่งถือเป็นลักษณะการทำงานร่วมกันในการสอบสวนระหว่างอัยการฝรั่งเศสและเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายคดีซึ่งปกติแล้วอัยการฝรั่งเศสจะมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายคดีดำเนินการสอบสวนแทน เว้นเสียแต่จะเป็นคดีอาญาที่มีความสำคัญและเป็นคดีความผิดร้ายแรง เช่น คดีการก่อการร้าย อัยการฝรั่งเศสจะเข้าไปสอบสวนคดีด้วยตนเองตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ตามที่เห็นเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

เมื่อคราวเกิดคดีก่อการร้ายครั้งใหญ่ในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 มีผู้เสียชีวิตกว่า 150 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 350 ราย หรือเมื่อครั้งที่มีเหตุก่อการร้ายในโบสถ์ใจกลางเมืองนีซ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย อัยการฝรั่งเศสก็จะเป็นผู้เข้าไปทำการสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้น และเป็นผู้แถลงข่าวให้สาธารณชนได้ทราบถึงเหตุการณ์ในคดีที่เกิดขึ้น การดำเนินการสอบสวนและความคืบหน้าของคดี เพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

Advertisement

น อกจากนี้ อัยการฝรั่งเศสยังมีอำนาจดุลพินิจที่กว้างขวางในการใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องคดี โดยอัยการฝรั่งเศสไม่จำเป็นต้องสั่งฟ้องคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดไปเสียทุกคดี แต่มีอำนาจใช้ดุลพินิจในการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อใช้มาตรการทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดแทนการสั่งฟ้องคดีได้ หากเห็นว่าการใช้มาตรการทางเลือกแทนการฟ้องคดี เช่น การไกล่เกลี่ยทางอาญา ความตกลงทางอาญา และการต่อรองคำรับสารภาพในชั้นก่อนฟ้องจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าการฟ้องคดีเช่นปกติทั่วไป

นอกจากอัยการฝรั่งเศสจะมีอำนาจในการดำเนินคดีอาญาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อัยการฝรั่งเศสยังมีอำนาจในการดำเนินคดีแพ่งและพาณิชย์ คดีล้มละลาย คดีฟื้นฟูกิจการ และคดีเกี่ยวกับความมั่นคงด้วย ตัวอย่างกรณีที่อัยการฝรั่งเศสมีอำนาจในการดำเนินคดีแพ่ง เช่น อัยการฝรั่งเศสเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งในเรื่องการได้สัญชาติฝรั่งเศสของบุคคล และอัยการฝรั่งเศสยังมีอำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องสถานะของบุคคลในการขอให้ศาลสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ และมีอำนาจดำเนินคดีเรื่องครอบครัวในการขอให้ศาลสั่งว่าการสมรสไม่ชอบ ขอให้ศาลสั่งเรื่องการรับบุตรบุญธรรม การปกครองผู้เยาว์ในคดีหย่า การเพิกถอนอำนาจปกครอง เป็นต้น นอกจากนี้ ตามมาตรา 423 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฝรั่งเศส ยังได้บัญญัติให้อัยการฝรั่งเศสมีอำนาจที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินคดีเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ เมื่อมีข้อเท็จจริงที่กระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณะเกิดขึ้นด้วย

บทบาทของอัยการฝรั่งเศสในหลายๆ ด้านที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะนำมาใช้เป็นรูปแบบและแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาบทบาทของอัยการไทย รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งย่อมจะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนและสังคมไทยด้วย

ธนกฤต วรธนัชชากุล
ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงาน กระบวนการยุติธรรม
สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image