ผู้เขียน | รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ |
---|
โอกาสของไทยหลังเข้าร่วม RCEP
RCEP ย่อมาจาก Regional Comprehensive Economic Partnership ซึ่งเป็นข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย 15 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่มีมูลค่าทางการค้ารวมถึง 30% ของมูลค่าการค้าโลก มีจำนวนประชากรรวมกันถึง 2,322 ล้านคน คิดเป็น 29.7% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 26.2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 คิดเป็น 29.9% ของเศรษฐกิจโลก จึงนับว่าเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมมากที่สุดในโลก และทำให้เป็นที่จับตามองสำหรับนักลงทุนทั่วโลก ข้อตกลงประกอบไปด้วยความร่วมมือด้านต่างๆ รวมทั้งสิ้น 10 ด้าน โดยมีการเปิดเสรีทางการค้า การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการลงทุน เป็นประเด็นสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งนี้
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 15 ประเทศที่มีอยู่เดิม
กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีการร่วมมือทางการเงินและการค้ากับ 5 ประเทศ อันได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มานานแล้ว เช่น
-กลุ่มประเทศอาเชียน นอกจากจะมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี (Free Trade Agreement: FTA) ยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในนามกลุ่มประเทศอาเซียน+3 มาตั้งแต่ธันวาคม ปี 2540 หรือก็คือ 23 ปีมาแล้ว ซึ่งทั้ง 13 ประเทศ มีความร่วมมือกันในหลายๆ ด้าน เช่น
(1)ความร่วมมือทางการเงินในรูปแบบข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization) ซึ่งเริ่มต้นมาจากข้อตกลงแบบทวิภาคีในปี 2542
(2)การพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชียในนาม Asian Bond Market Initiative ที่ส่งเสริมการออกพันธบัตรในรูปเงินตราของประเทศตนเองแทนการระดมทุนผ่านการกู้ยืมในรูปเงินตราต่างประเทศ ที่เคยทำให้เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยมีมาตรการริเริ่มนี้มาตั้งแต่ปี 2546
(3)กลุ่มประเทศอาเซียน+3 มีแผนการดำเนินการขยายขอบเขตความร่วมมือมาตั้งแต่ปี 2550 โดยแผนการขยายความร่วมมือมีระยะเวลายาวถึงปี 2565 โดยให้มีความครอบคลุมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการเมือง ความมั่นคง การบริการของรัฐ (civil service) การบริหารจัดการภัยพิบัติ ด้านการเคลื่อนย้ายสินค้าและทรัพยากร (เช่น ข้อตกลงทางการค้า ความร่วมมือทางการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงาน) ด้านความเชื่อมโยงระหว่างประเทศและการเดินทางข้ามแดน (เช่น การท่องเที่ยว การคมนาคม เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ) ด้านเศรษฐกิจอื่นๆ (เช่น เกษตรกรรม ป่าไม้ เหมืองแร่ และวิสาหกิจขนาดย่อม เล็กและกลาง) รวมถึงด้านพลังงาน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และยังมีด้านสังคม การศึกษา วัฒนธรรมและศิลปะ และสาธารณสุช
-กลุ่มประเทศอาเซียนมีข้อตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ASEAN Australia-New Zealand FTA) มาตั้งแต่มกราคม ปี 2553 หรือก็คือกว่า 10 ปีที่แล้ว ตามมาด้วยการริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีขอบเขตกว้างขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น ความร่วมมือด้านการศึกษา ในชื่อ ASEAN-Australia Education Dialogue
จากเดิมที่เคยเป็นความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างกลุ่มอาเซียนและประเทศใดประเทศหนึ่งนอกกลุ่มอาเซียน RCEP ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทำให้ความร่วมมือแปลงเปลี่ยนเป็นความร่วมมือแบบพหุภาคี ซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบการต่อรองข้อตกลงในระดับพหุภาคีมีความซับซ้อนกว่าทวิภาคีอยู่มาก
มูลค่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน
และอีก 5 ประเทศ
ในปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มอาเซียน และ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มีถึง 8.69 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 31% ของมูลค่าการค้าของกลุ่มอาเซียน และมีมูลค่าการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ 3.79 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 24.5% ของมูลค่าเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในกลุ่มอาเซียน
ในขณะที่ออสเตรเลียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 7 ของกลุ่มอาเซียน และกลุ่มอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของออสเตรเลีย ในส่วนของนิวซีแลนด์นั้น มีการค้ากับกลุ่มอาเซียนมูลค่าถึง 1.69 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ออสเตรเลีย และมีมูลค่าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนร่วม 855 ล้านเหรียญดอลลาร์ออสเตรเลีย นี่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของทั้ง 5 ประเทศที่มีต่อกลุ่มอาเซียน
ผลกระทบของการเข้าร่วม RCEP ต่อเศรษฐกิจไทย
แม้หลายสำนักจะออกมาพูดถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ โดยเฉพาะมองว่าสินค้าของไทยจะสามารถเปิดตลาดใหม่ๆ ในประเทศเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปบางชนิด หรือการบริการ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ แต่การประเมินผลเช่นนี้อาจเกินความเป็นความจริงไปบ้าง เพราะไทยทำการค้ากับประเทศในกลุ่มความร่วมมือนี้มานานแล้ว และมีมูลค่าการค้าในสัดส่วนสูงอยู่แล้วถึงประมาณ 60% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย จึงอาจไม่สามารถนับ RCEP เป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้าไทยได้
การส่งออกของไทยอาจจะได้อานิสงส์จากการยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้าของประเทศสมาชิก ผู้ผลิตไทยที่จะได้รับอานิสงส์ของ RCEP นั้น ขึ้นอยู่กับสินค้าที่เป็นที่ต้องการของประเทศสมาชิกเหล่านั้น โดยดูจากสินค้าออกหลักของไทยที่ส่งไปยังกลุ่มอาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ดังนี้
-10 สินค้าออกหลักที่ส่งไปยังกลุ่มอาเซียน (49% ของการส่งออกไปยังอาเซียน 9 ประเทศ) ได้แก่ ยานยนต์และอุปกรณ์ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักร น้ำตาลทราย คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า
-10 สินค้าออกหลักที่ส่งไปจีน (60% ของการส่งออกไปจีนทั้งหมด) ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง เคมีภัณฑ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยานยนต์และอุปกรณ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ แผงวงจรไฟฟ้า
-10 สินค้าออกหลักที่ส่งไปเกาหลีใต้ (41% ของการส่งออกไปยังเกาหลีใต้) ได้แก่ น้ำตาลทราย เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา
-10 สินค้าออกหลักที่ส่งไปยังญี่ปุ่น (41% ของการส่งออกไปยังญี่ปุ่น) ได้แก่ ยานยนต์และอุปกรณ์ ไก่แปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
-10 สินค้าออกหลักที่ส่งไปยังออสเตรเลีย (79% ของการส่งออกไปออสเตรเลีย) ได้แก่ ยานยนต์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์พลาสติก
-10 สินค้าส่งออกหลักไปยังนิวซีแลนด์ (78% ของการส่งออกไปยังนิวซีแลนด์) ได้แก่ ยานยนต์และอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์พลาสติก อวกาศยานและส่วนประกอบ รวมทั้งเหล็กและเหล็กกล้า
ที่ผ่านมาไทยมีการเกินดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าในกลุ่มนี้ค่อนข้างจำกัด แม้กับประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าไทย ไทยก็ยังมีการขยายตัวของการนำเข้าจากประเทศเหล่านั้นมากกว่าการขยายตัวของการส่งออก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยนำเข้าสินค้าจากไทยก็เริ่มได้เปรียบด้านค่าแรงราคาถูกจนกลายเป็นฐานการผลิตใหม่
ไทยขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาตลอดตั้งแต่ปี 2550 กับจีนตั้งแต่ปี 2557 และมาเลเซียตั้งแต่ปี 2559 ด้วยเหตุที่มูลค่าการขาดดุลการค้ากับทั้ง 3 ประเทศนี้มีมากกว่าการเกินดุลกับประเทศสมาชิก RCEP ที่เหลืออีก 11 ประเทศ ทำให้ไทยมีตัวเลขขาดดุลการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2553
จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วงปี 2559-2562
-ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มจาก 6.6 แสนล้านบาทในปี 2559 เป็น 6.8 แสนล้านบาท ในปี 2562
-ไทยขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้เพิ่มจาก 1.2 แสนล้านบาท ในปี 2559 เป็น 1.3 แสนล้านบาท ในปี 2562
-ไทยขาดดุลกับมาเลเซียนั้น เพิ่มจาก 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 เป็น 8.1 หมื่นล้านบาท ในปี 2562
-ไทยขาดดุลกับบรูไน เพิ่มจาก 1.9 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 เป็น 2.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2561
ตลาดที่ไทยมีการเกินดุลการค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2559-2562 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากค่าเงินที่แข็งขึ้นทำให้มีการส่งออกลดลงโดยที่การนำเข้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ได้แก่
-ไทยเคยเกินดุลกับเมียนมา 6.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 แต่ลดลงเรื่อยๆ เหลือเพียง 3.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2562
-ไทยเคยเกินดุลกับลาว 7.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 แต่ลดลงเหลือเพียง 3.9 หมื่นล้านบาท ในปี 2562
-ไทยเคยเกินดุลกับนิวซีแลนด์ 3.3 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 แต่ก็ลดลงเหลือเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2562
-ไทยเคยเกินดุลออสเตรเลีย 2.4 แสนล้านบาท ในปี 2559 แต่ลดลงเหลือเพียง 1.9 แสนล้านบาท ในปี 2562
อย่างไรก็ดี โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2559 ไทยมีการขยายตัวของการเกินดุลการค้ากับประเทศสมาชิกบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นลดลงเรื่อยๆ
จากสถิติการค้านี้ การเปิดเสรีการค้าในแต่ละประเภทสินค้าจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าในกลุ่มนี้ให้มากไปกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้าของไทยอาจจะทำให้การค้าของไทยมีการกระจุกตัวเกินไป และการลดภาษีนำเข้าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ในขณะที่ทำให้ประชาชนได้สินค้านำเข้าที่มีราคาถูกลง ซึ่งจะเป็นการเร่งให้เกิดการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้มากขึ้น ทำให้สภาวะการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP มีแนวโน้มที่จะขาดดุลมากขึ้นหากไม่สามารถทำให้การส่งออกได้อานิสงส์จากการเข้าร่วม RCEP อย่างเต็มที่
นอกจาก RCEP จะส่งผลต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทยแล้ว การเคลื่อนย้ายแรงงานก็จะทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ตลาดแรงงานมีการไหลเข้าออกของแรงงานได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ต้องระวัง คือการไหลเข้าของแรงงานไร้ฝีมือ ในขณะที่มีการไหลออกของแรงงานมีคุณภาพ หากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยรวมถึงค่าแรงไม่เป็นที่ดึงดูดแรงงานที่มีทักษะและมีคุณภาพ
แม้จะเป็นความจริงอยู่บ้างว่า มูลค่าการค้าอาจจะเพิ่มขึ้นภายในกลุ่มสมาชิกหลังเปิดการค้าเสรี และจะทำให้ไทยได้ประโยชน์ทางการค้า แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าประเทศอื่นในด้านการผลิตสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าที่มีการซื้อขายเพิ่มขึ้นหรือไม่ และการจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันนั้น เรามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การดึงดูดแรงงานมีฝีมือหรือไม่ มีเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวทันการผลิตและความต้องการในยุคใหม่หรือไม่
รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์
ที่มาของข้อมูล
https://aric.adb.org/initiative/association-of-southeast-asian-nations-plus-three-cooperation-on-energy-transport-and-information-communications-technology
https://asean.org/storage/2016/01/APT-Overview-Paper-24-Apr-2020.pdf
https://asean.org/asean/external-relations/new-zealand/
https://www.asean2020.vn/xem-chi-tiet1/-/asset_publisher/ynfWm23dDfpd/content/asean-australia-look-toward-stronger-partnership
https://asean.org/storage/2020/09/Overview-ASEAN-New-Zealand-DR_as-of-4-Sept-2020.pdf
https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/InternationalCooperation/Pages/ASEAN3.aspx
https://www.dfat.gov.au/trade/agreements/in-force/aanzfta/Pages/asean-australia-new-zealand-free-trade-agreement