ปีใหม่นี้ : สิ่งที่ขาดหายไป การศึกษาไทยต้องทบทวน

ปีใหม่นี้ : สิ่งที่ขาดหายไป การศึกษาไทยต้องทบทวน เพราะการศึกษาเป็นผลผลิต

ปีใหม่นี้ : สิ่งที่ขาดหายไป การศึกษาไทยต้องทบทวน

เพราะการศึกษาเป็นผลผลิตทางสังคมประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งจะนำความเจริญงอกงามหรือความหายนะมาให้กับสังคมได้ บุคคลที่ได้รับการศึกษาดีมิได้หมายความว่าจะประสบผลสำเร็จในการใช้ชีวิตในทุกด้าน แต่ทั้งนี้หากพิจารณาอย่างละเอียดจะเห็นได้ว่า การศึกษาจะช่วยนำพาชีวิตให้มีความปกติสุขได้ แต่บ่อยครั้งที่สังคมพบว่าคนที่ได้การศึกษาในระบบโรงเรียนมีการเอาเปรียบทางสังคมมากกว่าบุคคลอื่น สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงอำนาจของการศึกษาที่ถูกสร้างและนำมาใช้ในทางที่ไม่เป็นมรรคผลต่อการพัฒนา ในทางกลับกันอาจกลายเป็นเส้นทางที่นำมาซึ่งความเสื่อมของรัฐชาติได้ในที่สุด

การศึกษาพลังสร้างสรรค์ของแผ่นดิน
ถือได้ว่าการศึกษาได้สร้างพลังสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่รัฐชาติได้มีการประดิษฐ์อักษรไทยเพื่อให้คนไทยได้ใช้และเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ รัฐชาติไทยได้มีการเรียนรู้ระบบการศึกษาของสังคมโลกมากขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ มีการก่อรูปการเรียนรู้จากชาวต่างชาติซึ่งถือว่าเป็นอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมและได้มีการพัฒนาเป็นรูปร่างที่ชัดเจนขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการศึกษาของรัฐชาติให้ไปสู่สภาวะที่ทันสมัยตลอดจนส่งความยั่งยืนจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ พลังสร้างสรรค์ทางการศึกษาของรัฐชาติยังถูกส่งผ่านสถาบันทางศาสนาที่กล่อมเกลาผู้คนให้ความศรัทธาจนทำให้สังคมมีความงดงามทางด้านศีลธรรมจริยธรรม ในทางตรงกันสถาบันชาติเองได้มีการปลูกฝังความเป็นรัฐไทยที่มีความยิ่งใหญ่ในขนบวัฒนธรรมที่ดีงามจนเป็นที่ชื่นชมของชาวต่างชาติและถือว่าเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทำรายได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ขนบวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้เป็นผลรวมแห่งการกระทำของคนไทยทุกคน ฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนทางด้านวัฒนธรรมคือ ความกลมเกลียว ความสมานฉันท์ ความเอื้ออาทรและการแบ่งปันความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อกัน รวมทั้งมีการส่งเสริมวัฒนธรรมที่ถูกต้อง มีความรักและภาคภูมิใจในความเป็นวัฒนธรรมไทยเพื่อให้เกิดความคงทนต่อไป

สิ่งที่การศึกษาไทยต้องทบทวน
ตามหลักฐานด้านประวัติศาสตร์การศึกษาของรัฐชาตินั้น จะเห็นได้ว่าการสร้างพลังพัฒนาเพื่อความยิ่งใหญ่นั้นเกิดขึ้นหลายครั้งซึ่งสามารถศึกษาจากการปฏิรูปการศึกษาในแต่ละยุคในแต่ละสมัย บางครั้งถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ บางครั้งเป็นวาระเร่งด่วน บางครั้งเป็น “วาระของตนเอง” ซึ่งหมายความถึงว่าเป็นการสร้างงานขึ้นหรือการผลิตซ้ำขึ้นมาใหม่ในขณะที่มีความรับผิดชอบอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ในปีใหม่นี้การศึกษาของประเทศจะต้องมีการทบทวนอย่างจริงจังในประเด็นดังนี้

Advertisement

1.หลักสูตรมีความหลากหลาย (Variety of Curriculum) ความหลากหลายของหลักสูตรส่วนมากยังไม่ได้ตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของผู้เรียนเท่าที่ควรการสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ของสถานศึกษาโดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษานั้นส่วนมากเอื้อต่อการสอนให้กับผู้สอนมากกว่า หลักสูตรมีความทันสมัยแต่ขาดความสอดคล้องกับลักษณะของผู้เรียน กล่าวคือ ข้อความรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากหลักสูตรยังมีความคลุมเครือ ยังมีหลายหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาบางที่ยังไม่ได้รับการรับรอง จึงเปรียบเสมือนหลักสูตรขายฝันให้กับผู้เรียน ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่รับผิดชอบของหลักสูตรบางแห่งไม่มีความเชี่ยวชาญและลุ่มลึกในศาสตร์นั้น กลายเป็นว่า หลักสูตรที่สร้างขึ้นเป็นการตอบสนอง “กิเลส” ของผู้สอนต่างหาก เพราะฉะนั้นหลักสูตรที่ดีต้องคำนึงถึงการใช้ความรู้ของผู้เรียนนั้นมีสภาพที่เรียกว่า “ความรู้คงทน” หรือไม่ อนึ่งหลักสูตรที่ดีต้องสามารถตอบโจทย์ชีวิตของผู้เรียนหลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้ว แค่สองสิ่งนี้สามารถเอ่ยอ้างได้ว่าหลักสูตรที่สร้างขึ้นจะมีคุณภาพอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ความนิยมของผู้เรียนไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐและสถานการณ์ของสังคมโลก ตัวอย่างเช่น หลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิตที่เปิดสอนในสถานศึกษาบางแห่งปรากฏว่ามีผู้สนใจเรียนมีจำนวนน้อยมาก ถึงแม้ว่าหลักสูตรสามารถตอบโจทย์ทางการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี แต่ผู้เรียนไม่ได้ให้ความสำคัญที่เรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาตนเองในอนาคต จึงสมควรอย่างยิ่งรัฐและผู้ที่มีความรับผิดชอบทางการศึกษาจะต้องเร่งให้ความสำคัญ มิฉะนั้นสังคมไทยอาจจะมีลักษณะ “สังคมตาบอด (Sightless Society)” ได้ในอนาคตอันนี้

2.กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นระบบและไม่เป็นระบบจะต้องมีลักษณะเป็นการเชื่อมโยงการศึกษากับผลิตผลและการพัฒนารัฐชาติ (Linking Education with Productivity and National Development) กล่าวคือ ความยิ่งใหญ่ของการเรียนรู้นั้นต้องสามารถพัฒนาผู้ให้เป็นคนที่ลักษณะผลิตภาพทางจิตใจเชิงสร้างสรรค์ (Innovatively productive Mind) กระบวนการศึกษาต้องสามารถสร้างผู้เรียนให้เกิดการไตร่ตรองที่รอบคอบได้และที่สร้างคุณค่าทางการเรียนรู้ของตนเองเพื่อสังคมที่สร้างสรรค์ต่อไปได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับอนุบาลศึกษาจนระดับอุดมศึกษาห้ามมีสภาวะที่ถูกครอบงำจากครูผู้สอนเป็นเด็ดขาด การศึกษาของรัฐชาติที่ดีงามต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างฐานะทางสติปัญญาและความสามารถในการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี

3.การศึกษาของรัฐชาติต้องเร่งให้การศึกษามีความทันต่อการเปลี่ยนผ่านทางสังคม (Social Transformation) ทั้งสังคมไทยและสังคมโลกด้วย การชำเลืองมองดูการศึกษาของสังคมอื่นแล้วนำมาปรับปรุงให้เหมาะกับมิติทางสังคมของตนเองจะถือว่าเป็นความชาญฉลาดและปราดเปรื่องของผู้ที่มีความรับผิดชอบ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาการศึกษาไทยมีลักษณะ “ก้าวกระโดด” เกินกำลังของตนเอง ในขณะที่รู้ว่ากำลังขาไม่สามารถทำได้จึงทำให้เกิดลักษณะเตี้ยอุ้มค่อมตามมา การศึกษาของรัฐชาติในปีใหม่ต้องมีการทบทวนอย่างจริงจังว่า มีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ผ่านมา มีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ผู้เรียนต้องการอะไร ครูผู้สอนต้องการอะไร จุดมุ่งหมายของการศึกษาชาติทันต่อเหตุการณ์ทางสังคมหรือไม่ การศึกษาของรัฐชาติต้องสร้างความรับผิดชอบให้กับผู้เรียนเป็นปฐมบท มีความตระหนักต่อสถานการณ์ทั้งทางด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชุมชนโลกด้วย และที่สำคัญอย่าให้การศึกษาไทยมีลักษณะดำเนินการแบบอุบัติการณ์ (by accidental) เป็นพอ

4.การศึกษาของรัฐชาติต้องให้ความสำคัญในมาตรฐานของการศึกษา (Standard of Education) ซึ่งหมายความว่า การศึกษายังผูกกับมาตรการศึกษาของสังคมโลก การศึกษาไทยที่ดีต้องสร้างมาตรฐานของตนเองได้ เช่น มาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานทางวิชาชีพ “ถ้าหากการศึกษาไทยเอามาตรฐานการศึกษาโลกมาเป็นบรรทัดฐานแล้ว นักศึกษาไทยที่สำเร็จจากสถานศึกษามีจำนวนที่ออกไปประกอบอาชีพในต่างประเทศมากน้อยเพียงใด” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องหวนกลับมาทบทวนและคิดคำนึงให้ถี่ถ้วน นอกจากนี้ มาตรฐานการศึกษาไทยที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วคือ มาตรการที่ส่งเสริมทักษะแรงงานฝีมือเพื่อการประกอบอาชีพที่หลากหลายและสามารถนำความรู้ที่เป็นพลังสร้างสรรค์ไปสู่ความเป็นมืออาชีพ (Profession) ได้เป็นอย่างดี

บทส่งท้าย
ถึงแม้ว่าการศึกษาไทยได้ทำหน้าที่ของตนเองมาเป็นเวลานาน บางครั้งอาจจะเกิด “การสะดุด” บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วการศึกษาของรัฐชาติก็ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นที่ดีงาม การที่การศึกษาจะเป็นมรรคผลและเป็นหนทางที่จะนำความผาสุกมาสู่ผู้เรียนและสามารถช่วยนำพาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น คงอาศัยหลักการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ต้องศึกษาถึงบริบทของสังคมไทยเป็นหลัก และที่ขาดไม่ได้คือ อย่าให้คนที่ไม่เข้าใจมานั่งแท่นว่าความหรือชักใยการศึกษาเป็นเด็ดขาด และสุดท้ายสังคมจะดีงามตามลำดับเอง

..สังคมจะดีงาม           จะต้องถามความเป็นไป
สังคมจะยิ่งใหญ่          เพราะคนไทยสามัคคี
..สังคมอุดมสุข           ไม่สร้างทุกข์ให้หมองศรี
ทุกคนสร้างสิ่งดี          เพื่อน้องพี่ของชนไทย
..สังคมจะยั่งยืน          จะสดชื่นและยิ่งใหญ่
ทั้งเมืองและถิ่นไกล     ดำรงไว้ด้วยพอเพียง
..สังคมต้องสร้างรู้      ให้พรั่งพรูมีชื่อเสียง
สังคมต้องร้อยเรียง     ด้วยรัฐสถาบัน
..หนึ่งแท้คือ เป็นชาติ   ศาสนาพาจิตสันต์
กษัตริย์พระองค์นั้น     คือเป็นไทยในสากล
..ปีใหม่จะมาถึง          รักตราตรึงให้ทุกคน
มีสุขทุกวันล้น             กายกมลแข็งแรงเอย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image