คนตกสีที่อยู่ที่อีกฝั่งหนึ่ง : คุณค่าที่‘รองขาโต๊ะ’

เมื่อสำนักพิมพ์แสงดาวได้คัดเอานิยายชุด “สามเกลอ” พล นิกร กิมหงวน ในช่วงที่นักอ่านลงมติกันว่าสนุกที่สุด คือ “ชุดวัยหนุ่ม” มาจัดพิมพ์ใหม่ให้สวยงามและครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น นอกจากแฟนๆ เรื่องชุดสามเกลอรุ่นดั้งเดิมแล้ว ยังได้ผู้อ่านกลุ่มใหม่ที่อาจจะเคยๆ คุ้นๆ ชื่อนิยายชุดนี้ สนใจซื้อไปลองอ่านด้วย

ซึ่งผู้จัดทำเพจ “รองขาโต๊ะ” ซึ่งมีแนวทางในการรีวิวหนังสือที่แหวกแนวก็เป็นหนึ่งในนั้น และเป็นที่มาของดราม่าเบาๆ แต่มีนัยที่น่าคุยกัน

ดราม่านี้เริ่มต้นเมื่อเพจดังกล่าวรีวิวหนังสือสามเกลอฉบับพิมพ์ใหม่นี้ และวิพากษ์วิจารณ์สรุปว่า นี่คือหนังสือที่อ่านแล้วไม่ชอบ ถึงขนาดรู้สึกไม่โอเคเกือบทั้งเล่มเมื่อพบค่านิยมเหยียดเพศ ชายเป็นใหญ่ แบ่งชนชั้น และอำนาจนิยม แต่ถึงอย่างนั้น นี่ก็เป็นหนังสือที่มีคุณค่าน่าสนใจในฐานะการเป็นหลักฐานบันทึกประวัติศาสตร์ที่สาบสูญบางเรื่อง และให้คะแนนความควรรองขาตู้ประมาณ -3 ถึง -5 ซึ่งหมายถึงว่าเรื่องชุดสามเกลอนี้ เป็น “หนังสือดี” ที่ไม่คู่ควรกับขาโต๊ะ

การรีวิวด้วยประเด็นท้าทายและระบบคะแนนพิลึก ยิ่งติดลบแปลว่าดีแบบนั้น ย่อมทำให้แฟนๆ เรื่องชุดสามเกลอหัวร้อนเป็นรถจักรไอน้ำไปตามๆ กัน และโพสต์ดังกล่าวก็ได้รับการเยี่ยมเยือนจาก
“สี่สหายทัวร์” ลงกันไปหลายคันรถ จนผู้ดูแลเพจต้องตัดสินใจลบโพสต์นั้นไปอย่างน่าเสียดาย

Advertisement

ประเด็นหนึ่งที่ “คณะทัวร์” ผู้นิยมสามเกลอโจมตีผู้เขียนเพจ ก็คือข้อหาว่า ตัวเขานั้นอ่านหนังสือสามเกลอแค่สองสามเล่มหรือประมาณไม่ถึงสิบตอน ทำไมจึงมาตัดสินเรื่องชุดสามเกลอที่มีจำนวนนับเป็นพันๆ ตอนได้
ในฐานะที่ผมเองเป็นนักอ่านหนังสือสามเกลอคนหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับระดับหนึ่งในวงการ จึงอยากจะคุยเรื่องนี้สักหน่อย

“สามเกลอ” พล นิกร กิมหงวน นิยายชุดที่ใช้เวลาดำเนินเรื่องเกือบสามสิบปีเกือบตลอดอายุ
ผู้เขียน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 จนถึง พ.ศ.2511 โดยโครงเรื่องหลักๆ นั้นเป็นเรื่องของคณะมิตรสหาย
ที่มีตัวเอกหลักเป็นกระทาชายสามคน คือ พลพัชราภรณ์ นิกร การุณวงศ์ และ กิมหงวน
ไทยแท้ และภายหลังก็ได้รวม ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ พระยาปัจจนึกพินาศ และคนรับใช้ “อ้ายแห้ว”
นายแห้ว โหระพากุล เข้าไปด้วย

ถ้าพิจารณาจากบริบทของยุคสมัยที่หัสนิยายชุดนี้ได้เขียนขึ้นแล้ว ก็ไม่แปลกใจอะไรที่จะเต็มไปด้วยค่านิยมที่ไม่ค่อยจะได้รับการยอมรับแล้วในปัจจุบันอย่างที่เพจนั้นว่าเอาไว้ ซึ่งเรื่องนี้เรา ที่หมายถึงแฟนๆ ของหนังสือเรื่องชุดสามเกลอ ควรยอมรับก่อนว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ควรปฏิเสธ หรือไล่ให้ผู้วิจารณ์ไปหาอ่านสามเกลออีกกี่สิบกี่ร้อยตอน เพราะต่อให้ตามไปอ่านจริงๆ ยิ่งอ่านมากยิ่งเจอมาก

Advertisement

ค่านิยมเหยียดเพศ ชายเป็นใหญ่ สะท้อนผ่านทัศนคติที่ว่า เมียและลูกสาว คือสมบัติของสามีและพ่อตามแต่บริบท เรื่องนี้ปรากฏชัดตั้งแต่ในเรื่องตอน “หวงลูกสาว” และอีกหลายตอน บางตอนชัดเจนว่าลูกสาวเป็นสมบบัติที่เอามาขายกินได้ – ขายแบบขายๆ จริงๆ เอาเงินมาซื้อก็จูงลูกสาวไปได้เลย อย่างในตอน “ลูกสาวแม่เอ๊ย” นั่นแหละครับ

ทัศนคติที่ไม่เสมอภาคทางเพศยังแสดงออกมาตั้งแต่ในตอนแรก ที่มองว่าการลวนลามขโมยจูบผู้หญิงนั้นเป็นลูกไม้ของชายที่ฉลาด หรือที่ “ซ่องเจ๊หนอม” นั้นเป็นฉากที่ปรากฏบ่อยในเรื่องเป็นรองก็แต่บ้านพัชราภรณ์ คณะพรรคสามเกลอนอกใจเมียไม่รู้จะกี่ครั้ง หรือหลายตอนก็แสดงค่านิยมของผู้ชายว่าไปเมืองไหนต้อง “ถึง” เมืองนั้น ฯลฯ

ส่วนเรื่องแบ่งชนชั้นนั้นก็ปรากฏชัดจากการย้ำหัวตะปูให้ “อ้ายแห้ว” เจียมกะลาหัวในความเป็นขี้ข้า อย่าทำตัวเสมอนาย สำหรับเรื่องความคลั่งชาติและอำนาจนิยมก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะเรื่องชุดวัยหนุ่มนั้นเขียนขึ้นในช่วงยุค “รัฐนิยม” ที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น “ท่านผู้นำ” หรือนายกรัฐมนตรี ซึ่งความรู้สึกชาตินิยมนั้นอบอวลในบรรยากาศสังคมไทยจนถึงกับเดินขบวนขอดินแดนคืนจากฝรั่งเศสก่อนแตกหักเป็นสงครามอินโดจีน

แต่ประเด็นจริงๆ ของเรื่องนี้คือ ทัศนคติเช่นนี้ถือว่ามีปัญหากับคุณค่าของหนังสือชุดนี้ หรือเป็นเรื่องที่ควรจะถือเป็นความผิดบาปของตัวผลงานและผู้เขียนหรือไม่

อันที่จริงปัญหานี้ไม่ใช่จะเกิดแก่เรื่องชุดสามเกลอหรือในวรรณกรรมไทย แต่ในวรรณกรรมอมตะสากลหลายเรื่องแม้แต่เจ้าชายน้อยก็เคยถูกตั้งคำถามถึงข้อความตอนหนึ่งที่เหมือนจะแยกแบ่งว่า “ราชาแห่งคนผิวดำ” เป็นราชาอีกประเภทหนึ่งนอกเหนือจากราชาทั่วไป หรือในการ์ตูนญี่ปุ่นอมตะอย่างโดราเอมอน ก็มีการเข้าชื่อกันของผู้ปกครองและนักสิทธิสตรีขอให้ลบหรือตัดฉากต่างๆ ที่โนบิตะบุกเข้าไปในห้องน้ำในขณะที่ชิซูกะอาบน้ำอยู่โดยที่โนบิตะก็ไม่ได้รู้สึกผิด หรือไม่ได้สื่อว่าเป็นเรื่องไม่ดีไม่ควรทำ ซึ่งสิ่งนี้ไม่สอดคล้องแล้วกับบริบทของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันซึ่งมีปัญหาเรื่องการถ้ำมองและล่วงละเมิดทางเพศในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม เราควรจะให้ความเป็นธรรมและเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างบริบทของสังคม ณ ช่วงที่งานนั้นเกิดขึ้น ในปี พ.ศ.2482 ในยุคสมัยอันเป็นกำเนิดของเรื่องชุดสามเกลอนี้ ค่านิยมประเภทอำนาจนิยมชายเป็นใหญ่ที่กล่าวมานั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย ผู้ที่เขียนหนังสือในยุคนั้น ก็เขียนไปภายใต้บริบทที่ว่านั่นคือคุณค่าปกติของสังคม และได้ถ่ายทอดออกมาอย่างสมจริง (เสียจนทำให้เราหลายท่านที่อ่านใน พ.ศ. นี้ถึงกับรู้สึกแย่) กระนั้นก็ไม่ควรจะถือว่าเป็นความผิดอะไรของท่านผู้เขียน

เพราะ “คุณค่า” เกี่ยวกับความดีงามและความถูกต้องส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในโลกนี้เป็นพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามแต่ช่วงเวลาและสภาพสังคม ยากที่จะมีสิ่งใดที่จะถูกต้องเป็นนิรันดร์หรือผิดไปตลอดกาล

แม้แต่คุณค่าที่เรานับถือกันในตอนนี้ อย่างเช่นความเสมอภาค ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพ ที่เราคิดว่านี่คือคุณค่าพื้นฐานที่มนุษย์อารยะพึงมีต่อกัน ก็ไม่แน่หรอกว่าสักวันมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นของเลวของร้ายได้

สมมติว่าถ้าในที่สุด ไวรัส COVID19 กลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อร้ายแรงจนมนุษยชาติเกือบล่มสลาย ในตอนนั้นอาจจะมีการสรุปบทเรียนว่า ถ้าประเทศทั้งหลายเลือกเส้นทางเผด็จการอำนาจนิยมแทนที่จะยึดมั่นเคารพสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเสียจนไม่อาจทำอะไรเด็ดขาด แม้ว่าอาจจะต้องแลกกับการเสียอิสรภาพหรือชีวิตของมนุษย์ไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็สามารถสกัดกั้นหรือจำกัดการระบาดและกลายพันธุ์ของไวรัสได้ มนุษยชาติและวัฒนธรรมอาจจะไม่ต้องล่มสลาย

วรรณกรรมหรือข้อเขียนที่เชิดชูคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พวกนี้อาจจะเป็นเรื่องน่ารังเกียจเหยียดหยามในบริบทเช่นนั้นก็ใช้ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ดังนั้นเมื่อเรายอมรับข้อเท็จจริงแล้วว่าในนิยายชุดสามเกลอเต็มไปด้วยการแสดงถึงคุณค่าอันไม่เข้าสมัยนั้น และคุณค่านั้นก็ขัดต่อสิ่งที่โลกเราในปัจจุบันยอมรับและยึดถือ ก็ต้องยอมรับว่านั่นอาจจะเป็นจุดเสียหรือข้ออ่อนของนิยายชุดนี้ได้ ไม่ว่าเราจะรักเรื่องราวของคณะพรรคสี่สหายเท่าใดก็ตาม

แต่สิ่งที่เราพอจะต่อสู้อยู่ได้ คือข้ออ่อนเหล่านั้นเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ก็ไม่อาจทำลายคุณค่าความเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนถึง “ประวัติศาสตร์เชิงความรู้สึก” ของผู้คนในยุคสมัยที่น่าสนใจที่สุดในห้วงประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง การปกครองระบอบกึ่งประชาธิปไตยในระบอบทหาร ไปจนถึงการรุกรานของคอมมิวนิสต์และสงครามเย็น อันเป็นยุคสมัยที่อาจจะถือได้ว่าส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันมากที่สุด ทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรม และแม้กระทั่งรูปแบบการเมือง รายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์ อาจหาอ่านได้ในหนังสือวิชาการด้านนี้ ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ก็อย่าง “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง

แต่ถ้าอยากรู้ว่า ในตอนนั้น ประชาชนรู้สึกอย่างไรกับการปกครองผู้คนแบบรัฐตำรวจและนักเลงอันธพาลช่วงปลายยุค 2490 ของจอมพล ป. และทำไมผู้คนในสังคมสมัยนั้นจึงเคารพยกย่องและชื่นชม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งทำให้การสถาปนาอำนาจต่างๆ อย่างที่เขียนไว้ในหนังสือวิชาการนั้นบรรลุผลได้อย่างง่ายดาย ก็ต้องหาอ่านในเรื่องชุดสามเกลอนี้

เพราะมันคือประวัติศาสตร์ความรู้สึกที่บันทึกไว้โดย ป. – ปรีชา อินทรปาลิต ผู้มีบิดาเป็นคุณพระ และเคยผ่านการศึกษาในโรงเรียนนายร้อย ฐานะความเป็นอยู่ของท่านก็ถือเป็นคนชั้นกลางที่ค่อนไปทางสบาย
ในสมัยนั้น และมีการศึกษาดีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยระดับเขียนหนังสือขายได้ มุมมองของท่านจึงสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของสังคมออกมาได้อย่างสมจริงและตรงไปตรงมา คนในยุคของท่านคิดอย่างไรรู้สึกอย่างไร ท่านก็บรรยายบอกเล่ามันออกมาด้วยทัศนะของท่านผ่านพฤติกรรมและบทสนทนาของตัวละครสามเกลอ

เราจึงสามารถที่จะรักในตัวละครและเรื่องราวของสามเกลอ และยืนยันคุณค่าและความดีงามของหนังสือชุดนี้อยู่ได้ พร้อมกับการยอมรับข้อร้ายหรือจุดควรต้องระวังที่เกี่ยวกับทัศนคติอันไม่เหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันของหนังสือชุดนี้ได้

วิวาทะระหว่างนักอ่านรุ่นใหม่กับแฟนหนังสือชุดสามเกลอรุ่นเก่านี้หากจะมีประโยชน์ก็เพราะว่านี่เป็นเหมือนแบบฝึกหัดของการอยู่ร่วมกันในโลกยุคต่อไป ในโลกที่ “คุณค่า” ทุกอย่างที่คนรุ่นก่อนเคยยึดถือ
หรือเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดานั้นถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งการปะทะกันระหว่างค่านิยมและความคิดนี้น่าจะแหลมคมขึ้นไปอีกในปีหน้า

จึงขอสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่าน กับขอให้คุณความดีและคุณค่าต่างๆ ที่ท่านนับถือช่วยนำทางให้ผ่านปีนี้ไปตั้งรับและโต้กลับไปในปีหน้าได้อย่างฉลาดและงดงาม

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image