การจัดการประถมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร

การจัดการประถมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
ตารางที่ 1 การจัดการศึกษา (นักเรียนชั้น ป.6) ในเขตกรุงเทพมหานคร

การจัดการประถมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร

ในแต่ละปีมีเด็กนักเรียน 1.8 ล้านคนโดยประมาณ เข้ารับการทดสอบทางการศึกษาที่เรียกว่า “โอเน็ต” จำแนกตามระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 เฉพาะระดับประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนสูงสุด 7.8 แสนคน สังกัดในสถานศึกษา 30,805 แห่งทั่วประเทศ ในโอกาสนี้ขอนำผลวิเคราะห์การจัดการศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีลักษณะคุณพิเศษ นอกเขตกรุงเทพมหานครการจัดการศึกษาดำเนินการโดยสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (71%) แต่เขตกรุงเทพมหานคร ผู้จัดการศึกษารายใหญ่ดำเนินการโดย กทม. (49%) โรงเรียนเอกชน (44%) ส่วนนักเรียนในโรงเรียนสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเพียง 5% เท่านั้น นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่ง

งานวิจัยเล็กๆ ชิ้นนี้ต้องการจะเข้าใจ “ตลาดการศึกษา” ระดับประถมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร ตารางที่ 1 แสดงสถิตินักเรียนและสถานศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 พร้อมข้อสังเกต กล่าวคือ ก) กทม. มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด มีนักเรียน 3 หมื่นกว่าคนสังกัดใน 432 โรงเรียน ข) ภาคเอกชน มีนักเรียน 29,542 คนสังกัด 348 โรงเรียน ค) โรงเรียนสังกัด สพฐ 37 แห่งให้การอบรมนักเรียน 3,343 คน ง) ใน กทม. ยังมีโรงเรียนสาธิตในมหาวิทยาลัยที่สังกัดสำนักงานอุดมศึกษา 9 แห่งให้การอบรมเด็ก 1,154 คนในระดับ ป.6 (ดูตารางที่ 1)

คะแนนโอเน็ต เป็นดัชนีวัดผลทางการศึกษาที่อ้างอิงแพร่หลาย จึงนำสถิติเฉลี่ยของแต่ละสังกัดมาเปรียบเทียบ ดังรูปภาพที่ 1 ผลสอบ 4 วิชา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมกันเท่ากับ 400 คะแนน สรุปความได้ว่า คุณภาพการศึกษาเหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน ร.ร.สาธิตคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ตามด้วย ร.ร.เอกชน ร.ร.สังกัด สพฐ. และสังกัด กทม. ซึ่งเป็นหัวข้อวิจัยที่น่าสืบค้นต่อไป ในขั้นต้นเราสันนิษฐานว่า ก) การลงทุนในเด็กแตกต่างกันพ่อแม่ฐานะดีส่งเสียให้บุตรหลานเข้าเรียนใน ร.ร.สาธิตและ ร.ร.เอกชน ข) สำหรับครอบครัวรายได้ที่ฐานะเศรษฐกิจปานกลาง-หรือค่อนข้างต่ำ การเลือกให้เด็กเข้าเรียน ร.ร.สังกัดท้องถิ่นและ สพฐ อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับเศรษฐฐานะ (ดูรูปที่ 1)

Advertisement

นักวิจัยพยายามสืบค้นข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงลึก คือข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร ครู ห้องเรียน อุปกรณ์และงบประมาณ โดยเริ่มค้นคว้าข้อมูลของสำนักการศึกษา กทม. ซึ่งเป็นหน่วยให้บริการรายใหญ่ใน กทม. จำแนกออกเป็น 6 โซนเรียกว่า กทม. กลาง กทม. ใต้ กทม. เหนือ กทม. ตะวันออก ธนบุรี และ ธนบุรีใต้ รูปภาพที่ 2 ช่วยให้เข้าใจการจัดการศึกษารายเขตพื้นที่ (area-based provision) พบว่า ก) ในเขต กทม. กลาง นักเรียนในสังกัด กทม. น้อยที่สุด-อาจเป็นเพราะว่ามี ร.ร. เอกชน และ ร.ร.สาธิต ซึ่งมีชื่อเสียงหรือเก่าแก่อายุนับร้อยปี ครอบครัวฐานะดีจึงเลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ ข) “ลูกค้า” หรือตลาดการศึกษาของ กทม. กระจุกในเขต กทม.ตะวันออก (บางกะปิ มีนบุรี หนองจอก) และฝั่งตะวันตก หรือธนบุรี และธนบุรีใต้ ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครองที่รายได้ระดับปานกลางหรือค่อนข้างต่ำ และเชื่อว่าผู้ปกครองคงคำนึงถึงระยะการเดินทางเข้าไปโรงเรียนที่มีชื่อเสียง (ในใจกลาง กทม.) เด็กจะเหนื่อยเกินความจำเป็นและค่าใช้จ่ายเดินทางเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

นักวิจัยได้รับข้อคิดเห็นจากการพิจารณาข้อมูลเชิงพื้นและสัมภาษณ์ผู้บริหารการศึกษาของ กทม. ช่วยให้เข้าใจความเหลื่อมล้ำ ข้อคิดเห็นหลักๆ สรุปได้คือ หนึ่ง การรับรู้ว่าโรงเรียนและนักเรียนกระจายตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อย่างไร มีความสำคัญและไม่อาจละเลย สอง ร.ร.สาธิตหรือ ร.ร. เอกชน กระจุกตัวในพื้นที่ชั้นในและใช้ยุทธศาสตร์ “การเลือกตักครีม” (cream skimming) ซึ่งครอบครัวฐานะดี ซึ่งก็มีเหตุผลในเชิงธุรกิจ หากกระจายโรงเรียนออกไปยังพื้นที่รอบนอก อาจจะไม่คุ้มค่าไม่มีลูกค้า สาม การจัดบริการของ กทม. ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นช่วยให้โอกาสแก่นักเรียนที่ฐานะปานกลางหรือยากจน ซึ่งกระจายตามพื้นที่รอบนอก สี่ คะแนนโอเน็ตเป็นเครื่องวัดผลที่มีความจำเป็นแต่ไม่ควรจะนำไปสรุปทันทีว่า การจัดการของสถานศึกษาระดับดีเลิศ-ดี-ปานกลาง-ระดับล่าง เพราะสาเหตุที่แท้จริงของคะแนนสูง-ต่ำนั้นมาจากหลายปัจจัย จากครอบครัว-จากนักเรียน-ฐานะทางเศรษฐกิจ-การลงทุนในเด็ก-การลงทุนของสถานศึกษา ฯลฯ ห้า เป็นที่น่ายินดีที่ กทม. และหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาให้บริการด้านการศึกษา ซึ่งมีจุดแข็งที่มีงบประมาณสนับสนุนพอสมควร ใกล้บ้าน ช่วยให้เด็กในพื้นที่รอบนอกหรือห่างไกลได้รับโอกาสทางการศึกษา ความจริงมีกรณีตัวอย่างหลายพื้นที่ที่ท้องถิ่นจัดการศึกษาได้ดีมาก จนกลายเป็นโรงเรียนชั้นนำ เป็นเรื่องน่ายินดีและถ้าลงทุนพัฒนาต่อๆไปเราเชื่อว่า จะสามารถไล่กวด (catching-up hypothesis) เชิงคุณภาพกับ ร.ร.สาธิตและ ร.ร.เอกชนชั้นนำได้

ทั้งนี้จำเป็นต้องมีงานวิจัยเชิงประจักษ์เพื่อยืนยันตามหลักวิชาการ การลงทุนในเด็กและการวิจัยในเด็กไม่เพียงแต่ช่วยให้รู้ความจริงเท่านั้นยังเป็นเครื่องมือของนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้แน่นอน

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
พิชิต รัชตพิบุลภพ
สุวิมล เฮงพัฒนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image