รำลึกเจ้าคุณนรฯ 50 ปี

รำลึกเจ้าคุณนรฯ 50 ปี

รำลึกเจ้าคุณนรฯ 50 ปี

“ธรรมจะทำให้ประเทศอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำให้ชนในชาติสามัคคีกลมเกลียวกัน มีความขยันหมั่นเพียรในทางที่ถูกต้อง ไม่แก่งแย่งชิงดี ไม่เอารัดเอาเปรียบ ขอให้ทุกคนอย่าลืมหน้าที่อันนี้ เพราะเป็นหน้าที่ที่จะทำให้ตนเองพ้นทุกข์ การทำให้ตนเองพ้นทุกข์เป็นหน้าที่ของทุกคน แต่ลืมกันจนหมดสิ้น ไปไขว่คว้าแต่หน้าที่อื่นกันเสียหมด ทำให้เสียแรงที่เกิดมาพบพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่สอนให้ทุกคนพ้นทุกข์ด้วยตนเอง”

คือโอวาทของ “ท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ” ที่ใช้ได้ทุกสถานการณ์อย่างเป็นนิรันดร์ โดยเฉพาะกับสถานการณ์ทางการเมืองที่สับสนวุ่นวายและมหันตภัยแห่งไวรัสโคโรนาในปัจจุบัน

ท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ เป็นพระภิกษุธรรมดาที่ไม่ธรรมดารูปหนึ่งในบวรพระพุทธศาสนาที่เคร่งครัดต่อศีลาจารวัตร เป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติชอบด้วยพระวินัยบัญญัติอย่างเคร่งครัด
เป็นเนื้อนาบุญอันไพศาล

Advertisement

ก่อนอุปสมบท ท่านมีพระราชทินนามคือพระยานรรัตนราชมานิต
แต่เรียกกันจนติดปากว่า “เจ้าคุณนรฯ”
ท่านบอกว่า พระยานรรัตนราชมานิต นั้นไม่มีแล้ว มีแต่ “ธมฺมวิตกฺโก” เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า การระลึกถึงธรรม หรือการตรึกถึงธรรม
วันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2564 เป็นวันครบรอบมรณภาพ 50 ปีของท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
ขอเริ่มต้นด้วยพื้นฐานการศึกษา ท่านเป็นบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชารัฐประศาสนศาสตร์รุ่นแรก เริ่มรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ล่าสุดเป็น องคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคต
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2468 เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต ได้อุปสมบทหน้าพระเพลิงอย่างที่สามัญชนเรียกว่า บวชหน้าไฟ ด้วยพิธีเรียบง่าย ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส และได้ครองสมณเพศจนถึงมรณภาพ รวม 46 พรรษา เป็นตัวอย่างแห่งความกตัญญูซึ่งหาที่เปรียบได้ยาก
เมื่อทูลเกล้าในรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ท่านมีทั้งฐานะ ทั้งทรัพย์สิน และโอกาสที่จะหาความเจริญในโลกต่อไปได้อย่างพร้อมมูล อีกทั้งมีคู่หมั้นอยู่แล้ว แต่ท่านก็ได้สละสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดแล้วออกอุปสมบท และอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิต เพื่อถวายพระราชกุศลแด่เจ้านาย

ท่านธมฺมวิตกฺโก เป็นพระที่สงบสงัดจากโลกแล้ว ไม่เคยโด่งดัง การปฏิบัติธรรมของท่านในภิกขุภาวะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นเครื่องชี้ให้เห็นธรรมอันดีที่ควรส่งเสริมอย่างยิ่ง

ธรรมโอวาทที่ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้แสดงไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ของพุทธศาสนาที่ประเสริฐและบริสุทธิ์ที่สุด แบ่งออกเป็น 9 บท เช่น “อานุภาพของไตรสิกขา” ซึ่งมีสาระสำคัญว่า “ด้วยอานุภาพของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แล จึงชนะข้าศึก คือ กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดได้ …เพราะฉะนั้น จึงควรสนใจ เอาใจใส่ ตั้งใจศึกษา และปฏิบัติตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ทุกเมื่อเทอญ”

เรื่อง “ทำดี ดีกว่าขอพร” เป็นคติสอนใจประเสริฐสุด มีความตอนหนึ่ง “…..เมื่อทำกรรมดีแล้ว ไม่ให้พรก็ต้องดี เมื่อทำชั่วแล้วจะมาเสกสรรปั้นแต่งอวยพรก็หาดีได้ไม่ ทำชั่วเหมือนโยนหินลงน้ำจะต้องจมทันที ไม่มีผู้วิเศษใดๆ มาเสกเป่าอวยพร อ้อนวอน ขอร้องให้หินลอยขึ้นมาได้ ทำกรรมชั่วจะต้องล่มจมป่นปี้ เสียราศีเกียรติคุณชื่อเสียง เหมือนก้อนหินหนักจมลงไปอยู่กับโคลนใต้น้ำ ทำดีเหมือนน้ำมันเบา เมื่อเทลงน้ำย่อมลอยเป็นประกายมันปลาบอยู่เหนือน้ำ…..”

ระหว่างครองสมณเพศ 46 พรรษา ท่านธมฺมวิตกฺโก ออกนอกวัดประมาณ 6 พรรษา เพื่อรับบิณฑบาตเท่านั้น ส่วนอีก 40 ปีท่านไม่เคยออกนอกวัดเลยแม้แต่ครั้งเดียว

เหตุที่ท่านไม่ออกบิณฑบาต ก็เพื่อต้องการเสียสละให้พระภิกษุรูปอื่น ส่วนท่านให้ทางบ้านทำอาหารมาส่ง และใช้บาตรรับอาหารที่กุฏิแทน

ท่านฉันวันละมื้อเดียว อาหารประจำคือข้าวสุก มะพร้าว กล้วย เกลือ ถั่ว งา มะนาว และใบฝรั่ง สอดคล้องกับวลีที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำคือ “ช้างพี ฤๅษีผอม”

อันหมายถึงช้างที่ดีควรจะอ้วน ส่วนฤๅษีคือผู้ปฏิบัติธรรมควรจะผอม คนที่ปฏิบัติทางจิตต้องการสังขารเพียงเพื่อให้มีโอกาสปฏิบัติธรรมวินัยเท่านั้น ไม่ต้องการสังขารที่สุกใส เปล่งปลั่ง

ส่วนอาหารที่ฉันหาง่าย เพราะท่านไม่ประสงค์สร้างภาระแก่ทางบ้านมากเกินความจำเป็น

สี่สิบหกปี ท่านลงโบสถ์ทำวัตรทุกวันเช้าและเย็น มีขาดอยู่วันเดียวคือ อาพาธ

ท่านไม่ใช้ไฟฟ้าบนกุฏิ โดยให้เหตุผลว่าจะอ่าน หรือเขียนหนังสือก็ใช้เวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนเป็นเวลาที่ปฏิบัติธรรม ต้องการแสงสว่างในจิตใจ ไม่ต้องการแสงสว่างจากภายนอก

ไม่รับแขกที่กุฏิ เพราะใช้กุฏิเป็นที่ปฏิบัติธรรม คนที่จะมาพบต้องมาดักรอเวลาลงจากการทำวัตรตามควรแก่เวลา ทั้งนี้ ไม่คำนึงถึงผู้นั้นคือใคร

เย็นวันหนึ่ง พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ (ยศขณะนั้น) ได้มาหา และเรียนว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยากจะมากราบท่าน ขณะนี้ท่านจอมพลรออยู่ที่บริเวณสุสานหลวง ยินดีจะให้พบหรือไม่ ท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกขุตอบไปว่า อย่ามาพบเลย เพราะอยู่กันคนละโลกแล้ว ท่านเป็นคนพูดจาไม่ไพเราะ หากมาพบก็ต้องสอนกัน ถ้าดีก็ดีไป ถ้าไม่ดีจะพากันเสียหาย แต่ก็ให้พรไป

น่าเสียดายที่พลโทเฉลิมชัย จารุวัสตร์ จากไปแล้ว มิฉะนั้นคงยืนยันให้ได้

ท่านธมฺมวิตกฺโก เห็นว่า โลกนี้มีแต่ความยุ่งเหยิงสับสนอยู่ด้วยกองกิเลส อันมี โลภะ โทสะ และโมหะครอบงำอยู่ มวลมนุษย์ในโลกล้วนแต่มัวเมาหลงใหลติดอยู่ในกองกิเลสว่าเป็นความสุข หาได้คำนึงถึงความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุขนั้นไม่

เมื่อท่านได้ศึกษาธรรมสำคัญ “อริยสัจสี่” ของพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้แล้ว จึงได้ค้นพบสัจธรรมในการนำทางให้มนุษย์พ้นจากกองกิเลสว่า ธรรมชาติของดอกบัว แม้จะเกิดมาแต่น้ำก็หาได้ติดน้ำได้ไม่ ธรรมชาติของเพชรนั้น แม้จะเกิดมาแต่ดินและหินก็หาได้ติดดินและหินนั้นไม่ เมื่อดอกบัวไม่ติดน้ำ เพชรซ้ำไม่ติดหินฉันใด มนุษย์ที่เกิดมาในโลกก็หาควรติดอยู่ข้องอยู่ในโลก คือ กองกิเลสนั้นไม่ ควรแสวงหาทางหลุดพ้นจากกองกิเลสไปสู่พระนิพพานอันเกษม

แม้ท่านธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุได้จากโลกนี้ถึง 50 ปีแล้ว แต่ชีวประวัติอันบริสุทธิ์และคุณงามความดีของท่านยังคงอยู่ในโลกนี้ไว้ให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติตาม ท่านเป็นตัวอย่างยืนยันถึงความสุขอันเกิดแต่ความสงบโดยแท้ คนที่ไม่ต้องอะไรเลยในชีวิต เป็นผู้ประสบความสุขอย่างแท้จริงยิ่งกว่าคนที่ต้องการทุกอย่างในชีวิต ท่านเป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่มีความอยากใดๆ ไม่ปรารถนาจะเป็นอาจารย์ของผู้ใด ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อพระวินัยโดยเคร่งครัด มีความกตัญญูเป็นเลิศ

ยากจะหาผู้ใดมามาทัดเทียม

ท่านธมฺมวิตกฺโกสอนให้ระลึกถึงธรรม เพราะธรรมมีคุณค่าต่อชีวิตยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ศีลและธรรมเป็นหลักของมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ได้สงบเยือกเย็นเป็นสุขก็โดยศีลและธรรม และเมื่อระลึกถึงธรรมและปฏิบัติธรรมกันแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งธรรมนั้น

จะช่วยคุ้มครองให้ถึงซึ่งความสุขอย่างแน่นอน

เรื่องที่บวชตลอดชีวิตนั้น ท่านไม่เคยคิดมาก่อนเลย ตอนแรกตั้งใจบวชเพียงหนึ่งพรรษาเพื่อถวายพระราชกุศลแด่เจ้านายเท่านั้น เมื่อบวชครบหนึ่งพรรษาแล้ว ไม่กลับลาสิขา ท่านบอกว่าได้กัลยาณมิตรทางธรรมคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส สมเด็จฯได้สอนเรื่องอริยสัจสี่ จนเห็นความทุกข์แทรกซ้อนอยู่ในความสุขตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

ดังนั้น เมื่อบวชได้ประมาณ 6 ปี ในขณะที่ท่านเกิดความเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียวและเห็นความอนิจจังของบ้านเมือง

จึงตัดสินใจอยู่ในเพศบรรพชิตตลอดชีวิต

แม้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ได้แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีของพระองค์ แต่ท่านก็ปฏิเสธ

ก่อนที่ท่านธมฺมวิตกฺโก จะบวช ท่ามมีทรัพย์สินมากพอที่จะเป็นเศรษฐีในสมัยนั้นได้ เมื่อท่านบวชแล้วก็ได้บริจาคทรัพย์สินให้เป็นสมบัติแก่พระศาสนาอันได้แก่

1 ที่ดินที่จังหวัดนครปฐม 7 ไร่ ถวายแก่วัดเสนหา นครปฐม พ.ศ.2470
1 ที่ดินที่ตำบลพญาไท ดุสิต กรุงเทพฯ 5 ไร่เศษ ถวายแก่วัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ.2475
ว่ากันว่า ที่ดินทั้ง 2 แปลง หากขายในปีที่ท่านมรณภาพคือ พ.ศ.2514
น่าจะมีมูลค่านับสิบล้านบาท

ก่อนอุปสมบทท่านก็มีคู่หมั้นชื่อ คุณชุบ เมนะเศวต ถือว่าชีวิตของท่านในทางฆราวาสมีความสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง หากไม่บวชก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

แต่ท่านก็สละทรัพย์สมบัติและคู่รักจนหมดสิ้น

ส่วนคุณชุบ เมนะเศวต คือยอดหญิงที่หาได้ยากยิ่ง เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกตัดสินใจไม่ลาสิกขา คุณชุบก็ครองตนเป็นโสดตลอดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ระหว่างอยู่ในสมณเพศ ท่านพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างพระเครื่องพระบูชามาโดยตลอด ท่านสอนว่าการนับถือพระ คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม และก็ปฏิเสธเสมอมาว่ามิได้เป็นอาจารย์ของขลัง เพราะพระพุทธเจ้ามิได้สอนให้นับถือเช่นนั้น

แต่การสร้างพระเครื่องและพระบูชา นั้น ท่านมิได้เป็นผู้สร้าง หากเป็นการแผ่เมตตาและอธิษฐานจิตให้เท่านั้น เพราะเห็นเจตนาดีของเจ้าคุณอุดมสารโสภณ (เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสสมัยนั้น) จะสร้างอุโบสถวัดวังกระโจม และโรงเรียนนวมราชานุสรณ์ จังหวัดนครนายก แต่ขาดทุนทรัพย์ จึงจำเป็นต้องบอกบุญไปยังบรรดาสาธุชน ท่านจึงตัดสินใจแผ่เมตตาในการสร้างพระให้เป็นสังคหวัตถุ เพื่อตอบแทนน้ำใจแก่ผู้ที่ร่วมสร้างอุโบสถและโรงเรียนดังกล่าว

ท่านยังเน้นย้ำว่า สร้างเพื่อประโยชน์ที่จะเกื้อกูลชาติและศาสนา และยังให้คนไปเรียนเจ้าคุณอุดมสารโสภณสังวรถึงเจตนานี้ ก็เพราะท่านเกรงว่าเมื่อมีเจตนาเช่นนี้แล้ว หากผู้ใดทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นกรรมที่ไม่บริสุทธิ์ ก็อาจถึงแก่กาลวิบัติไป

ต่อมาประมาณหนึ่งทศวรรษหลังจากที่ท่านมรณภาพ มีเหตุการณ์ใหญ่โตเกิดขึ้นกับท่านเจ้าคุณอุดมสารโสภณ และเป็นข่าวเกรียวกราวในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาเล่า

เรื่องแผ่เมตตาสร้างพระเครื่องนั้น ท่านเคยกล่าวว่า ชั่วชีวิตทำได้ 4 ครั้ง และเป็นจริง

การแผ่เมตตาสร้างพระเครื่องและพระบูชาเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2513 คือครั้งที่ 4 ก่อนวันมรณภาพคือวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2514 เพียง 1 เดือนเศษเท่านั้น

เหตุการณ์อันรู้ล่วงหน้าของท่านนั้น มีอยู่มากหลาย

จึงมีข่าวลือว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกราบเรียนถามว่า เขาลือกันว่า ใต้เท้าสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วจริงหรือครับ ท่านดึงหูอาจารย์หม่อมเข้าไปใกล้ๆ แล้วกระซิบว่า “ไอ้บ้า” นั้น

น่าสนใจ น่าสนใจที่ผู้สำเร็จจริงจะไม่บอกแก่ผู้ใดเป็นแน่แท้

แม้ไม่มีคุณธรรมเพียงพอที่จะหยั่งทราบได้ว่า ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์หรือไม่

แต่อย่างน้อยก็สามารถกล่าวได้ว่า ท่านคือพระอริยบุคคล

และอย่างน้อยก็มีเหตุผลสนับสนุนชวนให้พินิจ ในสมัยพุทธกาลพระที่ใกล้จะสำเร็จอรหันต์ มักจะได้รับเคราะห์กรรมแปลกๆ ในขณะที่ท่านถูกคางคกไฟกัดจนเท้าบวม ระหว่างที่เดินจากกุฏิไปทำวัตร ซึ่งเป็นเพียงระยะทางสั้นๆ เท่านั้นเอง ซึ่งถือเป็นกรรมที่แปลก เพราะคางคกไฟจะมีเฉพาะภาคใต้ของประเทศเท่านั้น ไม่เคยปรากฏว่ามีคางคกไฟในกรุงเทพฯ มาก่อนเลย

เพราะว่ากันว่าใกล้จะสำเร็จพระอรหันต์จึงต้องได้รับกรรมให้หมดไปเรียกว่า “สิ้นกรรม” กัน

ท่านเคยสั่งไว้ว่า วันใดที่ประตูกุฏิมิได้ลงกลอน ก็หมายถึงละโลกแล้ว

และแล้วก็ถึงวาระที่ว่า คือ “วันที่ 8 มกราคม 2514”

ตอนเช้าท่านสั่งคนให้บอกหลานที่มาถวายอาหารว่า วันนี้ไม่ฉันอาหารเพล และให้บอกพระข้างกุฏิว่าวันนี้ไม่ลงโบสถ์ทำวัตร และประตูก็มิได้ลงกลอนจริงตามที่สั่งไว้

ซึ่งถือเป็นการรู้ “วันปรินิพพาน”

ที่เล่ามาเป็นเพียงกระสายเท่านั้น แต่ความจริงมีเรื่องราวมากมายที่ท่านธมฺมวิตกฺโก สามารถหยั่งทราบได้ทั้งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แต่สามารถพูดได้อย่างถูกต้อง แต่เนื่องจากกาลผ่านไปนานแล้ว เหตุการณ์ก็เปลี่ยนตามกาล แม้เป็นเรื่องจริง แต่ไม่อาจพิสูจน์ได้ จึงไม่นำมาเล่า

ท่านเป็นพระภิกษุที่เจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน

อันเป็นผู้อดทน มีความเพียร เมื่อทำสิ่งใดก็ทำสม่ำเสมอ อย่างการทำวัตรเป็นต้น ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องถึง 40 กว่าปี เป็นเรื่องน่าสรรเสริญเพราะยากนักจะทำได้

และใช่ว่าท่านจะแข็งแรง มีสุขภาพดีมาโดยตลอดหาไม่ ท่านก็ป่วยเจ็บเช่นคนทั้งหลาย แต่ด้วยความอดทน ก็พยายามไม่ยอมขาดปฏิบัติธรรม

คำให้พรของท่านคือทำแต่กรรมดี มีอยู่ข้อหนึ่งคือรู้จักเอาความทุกข์ยากมาเป็นประโยชน์สร้างความก้าวหน้าให้ชีวิต ถ้าเป็นคำพูดสมัยนี้ก็คือ แปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส

ดังนั้น คนเราถ้าจะหาความก้าวหน้าในชีวิตก็ต้องเว้นจากกรรมชั่ว เลือกทำแต่กรรมดี

ศีลและธรรมเป็นหลักของมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ได้สงบเยือกเย็นเป็นสุข

ก็โดยศีลและธรรมนั้นแล

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image