ภาพเก่าเล่าตำนาน : อย่ายอมให้อัตตาครองใจ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

สวัสดีปีใหม่ 2564 ครับ ขอบคุณ มติชน ที่ให้โอกาสผู้เขียนได้ถ่ายทอด สื่อสาร ข้อมูล เกร็ดประวัติศาสตร์ นานาสาระ มายังท่านผู้อ่านในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ขอบคุณท่านผู้อ่าน ที่กรุณาแวะเวียนเข้ามาอ่าน แลกเปลี่ยนความเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ … ไม่ว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีทางการสื่อสารจะก้าวหน้าไปไกลแค่ไหน ผู้เขียนเองเชื่อว่า หนังสือพิมพ์ก็ยังคงมีเสน่ห์ มีสัมผัส เฉพาะตัวที่หาสิ่งใดมาทดแทนไม่ได้

บางเรื่อง บางประเด็น ที่ไม่คิดว่าจะพบเจอ เมื่อกางหนังสือพิมพ์ออกอ่าน ก็จะได้พบเจอทั้ง ชอบและชิงชัง

หนังสือพิมพ์ ทำให้คนจำนวนหนึ่งยังคงมีอาชีพ ทำงานในโรงพิมพ์ ทำกราฟิก ขนส่ง ลำเลียง บรรจุ มีอาชีพคนส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้าน ที่ทำงาน ร้านค้า แผงลอย ยังทำมาค้าขายได้ต่อไป

Advertisement

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก ใครบางคนก็เปรยว่า วันเวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเสียนี่กระไร บ้างก็เห็นว่าทำไมโลกหมุนช้า… วันเวลา กลางวัน กลางคืนเนิ่นนานแสนทรมาน…

ย้อนไปนับพันปีที่ผ่านมา มนุษย์สังเกต เฝ้ามองการโคจร ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวฤกษ์ ดาวพระเคราะห์ และโลก …มนุษย์สมองอัจฉริยะกลุ่มหนึ่ง สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมากำหนดเป็นตาราง เป็นสถิติ

แต่ละชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่คนละซีกโลก นับถือศาสนาต่างกัน มีตารางกำหนด มีวันสำคัญ เป็นของกลุ่มตนเอง ดวงจันทร์บนท้องฟ้า มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุด

Advertisement

สถิติที่วนเวียน… ต่อมากลายเป็น “ปฏิทิน” ให้ชาวโลกยึดถือ

คำว่า ปฏิทิน ในภาษาอังกฤษ คือ “calendar” เป็นคำที่มาจากภาษาละติน ซึ่งนำมาจากคำพูดของชาวกรีกโบราณอีกทีว่า “Kalend” ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า “I cry”

สาเหตุที่ใช้คำนี้เพราะมีที่มาว่า ในสมัยโบราณ จะมีคนคอยตะโกนร้องบอกชาวเมือง ประกาศ วัน เดือน เพื่อให้ลูกหนี้จ่ายเงินที่คั่งค้าง ตามกำหนด …

สังคมมนุษย์ในเวลานั้น ยังไม่มีหลักยึด เรื่อง วัน เดือน ปี

“ปฏิทิน” จึงได้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแทนคนตะโกน บอก วัน เดือน

ปฏิทิน กลายเป็นสิ่งสำคัญ ต่อมามนุษย์จึงได้ริเริ่มบันทึก วัน เวลา เป็นลายลักษณ์อักษร …เริ่มมี “วันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่”

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ เชื่อกันว่าชนชาติแรกที่คิดค้น ระบบการนับวันแบบปฏิทินนั้นคือ ชาวบาบิโลเนียน พวกเขากำหนดวัน เดือน ปี โดยสังเกตลักษณะของดวงจันทร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้า ซึ่งก็คือการสังเกตข้างขึ้นข้างแรม

เมื่อเกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 1 รอบก็จะถือเป็น 1 เดือน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่าปฏิทิน “จันทรคติ” และพวกเขายังกำหนดให้ 1 ปีนั้นมี 12 เดือน

สาเหตุที่ชาวบาบิโลเนียนกำหนดให้ 1 ปี มี 12 เดือน ก็เพราะว่า เมื่อใดที่เกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 12 รอบ…ฤดูกาล ร้อน ฝน หนาว ใบไม้ร่วง ใบไม้ผลิ ก็จะเวียนกลับมาอีกครั้ง

การจดจำ คาดคะเนสภาพอากาศได้ จะส่งผลต่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การทำศึกสงคราม การใช้ชีวิตให้ปลอดภัย…

อาณาจักร ชนเผ่า ข้างเคียงชาวบาบิโลน ก็ได้ยอมรับเอาปฏิทินของชาวบาบิโลเนียนมาใช้ในอาณาจักรตนเอง เช่น ชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีก และชาวเซเมติก

เมื่อมีเครื่องมือ มีหลักการคำนวณที่ชัดเจน แม่นยำมากขึ้น ชนชาติที่นำเอาปฏิทินแบบบาบิโลเนียนไปใช้นั้น ทำการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวอียิปต์โบราณ ที่พัฒนาแนวคิดเรื่องปฏิทินได้อย่างรุดหน้ามากที่สุด

แต่เดิมชาวโรมันกำหนดให้ 1 ปี มี 355 วัน (ตามระบบจันทรคติ) และทุกๆ 4 ปี (ปีอธิกวาร) ต้องเพิ่มวันเข้าไปอีก 22 วัน เพื่อให้ตรงกับฤดูกาล (หรือการคำนวณแบบสุริยคติ)

จนกระทั่ง 46 ปีก่อนคริสต์ศักราช จูเลียส ซีซาร์ แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งได้เข้าครอบครองอียิปต์ ในรัชสมัยของพระนางคลีโอพัตรา ได้นำแนวคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โซซิเจเนส (Sosigenes) มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่า “ปฏิทินจูเลียน” ซึ่งใช้กันมายาวนานจนถึง พ.ศ.2125 จึงมีการแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

มนุษย์เมื่อราว 2 พันปีที่แล้ว ฉลาด สร้างสรรค์ ชาวโลกรู้จัก วันใหม่เดือนใหม่ และปีใหม่ …กลายเป็น “หมุดหมาย” สำหรับชีวิต

มนุษย์ต่างมีความคิดคล้ายๆ กันในปีใหม่ คือ การมีความหวังใหม่ ขอตั้งต้นการใช้ชีวิตใหม่ ประสงค์จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตดีขึ้น สมบูรณ์พูนผลด้วย แก้ว แหวน เงิน ทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ…

พระผู้เป็นเจ้า ผู้หลักผู้ใหญ่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ ที่พึ่ง ที่หวัง….

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2564 …ภาพเก่า..เล่าตำนาน ขอนำคำสอน ที่ดีงาม เข้าใจได้ง่าย ของพระไพศาล วิสาโล มาเป็นแนวทาง ข้อคิด เพื่อความเป็นสุข ลดทุกข์ เตือนใจตนเอง และสังคมไทยครับ…

“อย่ายอมให้อัตตาครองใจ” โดย พระไพศาล วิสาโล…

…“การทำความดี มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น มิใช่สิ่งที่ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ เพราะทุกคนล้วนมีมโนธรรมอยู่แล้วในจิตใจ จริงอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเห็นแก่ตัวหรืออัตตาเป็นธรรมชาติของมนุษย์ด้วย แต่มันก็เปรียบเสมือนเปลือกชั้นนอกของจิตใจ… ลึกลงไป… เรายังมีธรรมชาติอีกส่วนหนึ่งคือ “มโนธรรม” หรือ “ความใฝ่ดี”

มโนธรรม เป็นแรงผลักดันให้เราอยากทำความดี ในเวลาเดียวกันทุกครั้งที่เราทำความดี ก็ช่วยเสริมสร้างมโนธรรมภายในให้เข้มแข็งขึ้น และทำให้มีพลังในการทำความดีมากขึ้น

การทำความดีนั้นบ่อยครั้ง หมายถึงการเสียสละ เช่น เสียสละเงินทอง เวลา หรือแรงงาน แต่ก็ทำให้เกิดความอิ่มเอมใจเมื่อเห็นผู้ทุกข์ได้รับความสุข อีกทั้งยังช่วยให้อัตตาของเราเบาบางลง

อัตตา ยิ่งเบาบางมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีความสุขได้ง่ายเท่านั้น เพราะเพียงแค่เห็นผู้อื่นเป็นสุข เราก็สุขแล้ว โดยไม่จำต้องไปดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่างๆ มาครอบครอง

การทำความดีจึงเป็นเสมือนกุญแจที่เปิดประตูให้ใจได้สัมผัสกับความสุขภายในซึ่งประเสริฐและประณีตกว่าความสุขจากวัตถุ

ได้กล่าวแล้วว่า “มโนธรรมภายใน” เข้มแข็งขึ้นทุกครั้งที่เราทำความดี แต่อันที่จริงแม้ยังไม่ได้ทำความดี เพียงแค่เปิดใจรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น รู้สึกร่วมทุกข์กับเขา ก็ช่วยกระตุ้นมโนธรรมของเราให้เข้มแข็งและฉับไวมากขึ้น ทำนองเดียวกับสมองที่ต้องมีงานทำอยู่เสมอจึงจะกระฉับกระเฉงและแคล่วคล่องว่องไว

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่มักขัดขวางไม่ให้เราเปิดใจรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น ได้แก่อัตตาหรือความเห็นแก่ตัว อัตตานั้น รู้ว่าหากไปรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นเมื่อใดเราจะรู้สึกเป็นทุกข์และอยู่เฉยไม่ได้ ต้องเข้าไปช่วยเหลือเขา ซึ่งหมายถึงการที่ต้องเสียเวลา เสียเงิน หรือเหนื่อยยาก นั่นเป็นเรื่องที่อัตตายอมไม่ได้ เพราะอัตตานั้นอยาก “เอา” แต่ไม่ต้องการ “ให้”

ดังนั้นอัตตาจึงมักหาอุบายขัดขวางเราไม่ให้ทำเช่นนั้น วิธีการที่มักใช้กันก็คือปิดหูปิดตา เบือนหน้าหนี หรือแกล้งเป็นมองไม่เห็น เช่น ถ้านั่งรถเมล์ก็หันหน้าไปทางหน้าต่าง หรือถ้านั่งรถไฟฟ้าก็แกล้งหลับหรือจดจ้องอยู่กับหนังสือ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปรับรู้ว่ามีเด็ก คนแก่ หรือผู้หญิงท้องกำลังยืนอยู่ใกล้ๆ ที่นั่งของตน

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบเห็นคนเป็นลมหรือฟุบอยู่บนทางเท้าท่ามกลางผู้คนนับร้อยๆ ที่เดินผ่านไปมาโดยไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือเลย

คนเหล่านี้ใช่ว่าจะมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ทันทีที่เห็นก็เบือนหน้าหนีทันที หรือไม่ก็อ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องหยุดช่วย เหตุผลที่มักอ้างกันก็คือ “ถึงฉันไม่ช่วย คนอื่นก็ช่วย” หรือไม่ก็ “ฉันกำลังรีบ มีธุระด่วน”

นักเขียนผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า คราวหนึ่งระหว่างที่เดินผ่านย่านธุรกิจที่จอแจคับคั่ง กลางเมือง ได้เห็นชายผู้หนึ่งนอนฟุบอยู่กลางทางเท้าใกล้สถานีรถใต้ดิน เนื้อตัวมอมแมมและผอมโทรมคล้ายคนจรจัด อาการเหมือนคนป่วย

ทั้งๆ ที่มีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมามากมาย แต่ไม่มีใครสนใจเลย เขาจึงหยุดและก้มลงถามชายผู้นั้นว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

ที่น่าสนใจก็คือพอเขาทำเช่นนั้น ก็เริ่มมีคนอื่นหยุดเข้าไปช่วยชายผู้นั้นด้วย จากหนึ่งคน เป็นสองคน สามคน สี่คน ทีนี้ต่างคนต่างก็กุลีกุจอไปหาซื้อน้ำและอาหารให้เขา บางคนก็ไปตามเจ้าหน้าที่สถานีมาช่วย จนกลายเป็น “ไทยมุง” ขึ้นมาทันที

คนนับร้อยที่เดินผ่านคนป่วยดูเผินๆ เหมือนเป็นคนไร้น้ำใจ แต่แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทันทีที่เห็นคนหนึ่งเข้าไปช่วยคนป่วย อีกหลายคนก็หยุดแล้วเข้าไปช่วยทันที

คำถามคือทำไมทีแรกคนเหล่านี้เดินผ่าน คำตอบก็คือเพราะเขาปล่อยให้อัตตาครองใจ จึงนึกถึงแต่ตัวเอง หากไม่เบือนหน้าหนีก็ต้องสรรหาเหตุผลเพื่อเป็นข้ออ้างในการนิ่งดูดาย เห็นได้ชัดว่าในใจของคนเหล่านี้มโนธรรมได้พ่ายแพ้แก่อัตตาไปแล้ว

คำถามต่อมาก็คืออะไรเป็นเหตุให้หลายคนตรงเข้าไปช่วยผู้ป่วยทันทีที่เห็นคนหนึ่งทำเช่นนั้น คำตอบก็คือความรู้สึกผิด หลายคนรู้สึกผิดหากเดินผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย ความรู้สึกผิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากมโนธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

ทีแรกนั้นมโนธรรมอ่อนแรงเพราะถูกอัตตาบดบัง แต่เมื่อเห็นผู้อื่นทำความดี มโนธรรมก็ถูกกระตุ้นให้กลับมามีพลังจนเอาชนะอัตตา อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำความดีตามผู้อื่นนั้นมีอัตตาเจือปนอยู่ด้วย เพราะยังมีความคิดในเชิงเปรียบเทียบอยู่ว่า “คนอื่นยังช่วย ทำไมฉันไม่ช่วย”

ในทำนองเดียวกันเวลาสามีตบตีภรรยาอยู่กลางถนน ผู้คนที่เห็นเหตุการณ์นับสิบกลับอยู่นิ่งเฉย ปล่อยให้ผู้หญิงร้องด้วยความเจ็บปวด แต่ทันทีที่มีใครสักคนเข้าไปห้าม อีกหลายคนที่เคยยืนดูอยู่ก็จะเข้าไปช่วยห้ามด้วย คนเหล่านั้นไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ต่อไปหากเห็นใครสักคนกล้าทำสิ่งที่สมควรทำ

อัตตาพยายามขัดขวางไม่ให้เราทำความดี มันฉลาดในการหาเหตุผลเพื่อสยบมโนธรรม เช่น อ้างว่าใครๆ เขาก็เมินเฉยกันทั้งนั้น หรืออ้างว่าเป็นกรรมของสัตว์ กรรมใครกรรมมัน ฯลฯ

บางครั้งอัตตาก็เพียงแต่กดมโนธรรมเอาไว้ไม่ให้ทำงาน เคยมีคนถามฆาตกรผู้หนึ่งว่า ทำไมเขาถึงฆ่าคนได้มากมาย ไม่สงสารเห็นใจเหยื่อบ้างหรือ เขาตอบว่า “ผมต้องปิดความรู้สึกส่วนนั้น (ความเห็นอกเห็นใจ) ไว้ก่อน ไม่งั้นผมฆ่าเขาไม่ได้หรอก”

ชีวิตจิตใจของเราเปรียบเสมือนกับสมรภูมิแห่งการต่อสู้ระหว่างอัตตากับมโนธรรม ธรรมชาติทั้งสองส่วนต่างขับเคี่ยวเพื่อครองใจเรา อะไรจะมีชัยชนะขึ้นอยู่กับว่าเราดำเนินชีวิตอย่างไร หากเราพยายามทำความดี นึกถึงสิ่งดีงาม มโนธรรมก็จะเข้มแข็ง แต่ถ้าเรานึกถึงแต่ตัวเอง ทำเพื่อตัวเองอยู่เสมอ อัตตาก็จะกล้าแกร่ง มิตรสหายหรือชุมชนแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญ

การมีชีวิตแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร ย่อมทำให้มโนธรรมเจริญงอกงาม แต่หากอยู่ท่ามกลางผู้คนที่เห็นแก่ตัว หรือหมกมุ่นอยู่กับสื่อที่กระตุ้นความโลภ อัตตาก็จะครอบงำใจได้ง่าย

น่าเป็นห่วงก็ตรงที่โลกปัจจุบันนั้นล้วนแต่โน้มเอียงไปในทางกระตุ้นอัตตาและทำให้มโนธรรมสงบงัน วัฒนธรรมบริโภคนิยม เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เสริมพลังให้แก่อัตตาอย่างเต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลมากหากพูดถึงกันน้อย ก็คือชีวิตที่เร่งรีบ ยิ่งเร่งรีบมากเท่าไร เราก็สนใจคนอื่นน้อยลงเท่านั้น แม้คนนั้นจะทุกข์อยู่ต่อหน้าก็ตาม

เคยมีการทดลองกับนักศึกษากลุ่มหนึ่ง โดยมีการมอบหมายให้นักศึกษาไปพูดหน้าชั้นเรียนซึ่งอยู่อีกตึกหนึ่ง ระหว่างที่ทุกคนเดินไปยังตึกนั้น ก็จะเจอชายผู้หนึ่งนั่งทรุดอยู่ริมถนน ไอหอบและร้องครวญ สิ่งที่ผู้ทดลองอยากรู้ก็คือ จะมีใครบ้างที่หยุดเดินและเข้าไปช่วยชายผู้นั้น

ในการทดลองดังกล่าว ก่อนที่นักศึกษาจะเดินไปที่ตึกนั้น ทุกคนได้รับคำสั่งหรือเงื่อนไขต่างกัน เช่น บางคนก็ได้รับการบอกว่า “คุณมีเวลาเหลืออีกไม่กี่นาที ต้องรีบไปแล้วล่ะ” แต่บางคนก็ได้รับการบอกว่ายังมีเวลาเหลืออยู่อีกมาก “แต่ถ้าคุณไปตอนนี้เลยก็ดีเหมือนกัน”

ผลการทดลองก็คือ ในบรรดานักศึกษาที่เดินจ้ำเพราะอาจารย์บอกว่าสายแล้วนั้น มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เข้าไปช่วย “ผู้ป่วย” ขณะที่นักศึกษาที่ยังพอมีเวลาอยู่นั้น ร้อยละ 63 หยุดเดินและเข้าไปช่วย

การทดลองดังกล่าวพบว่าปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่านักศึกษาคนใดจะช่วยผู้ป่วยหรือไม่ อยู่ที่ว่าเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเร่งรีบหรือไม่ คนที่ต้องเร่งรีบส่วนใหญ่เดินผ่าน ขณะที่คนซึ่งไม่เร่งรีบกลับเข้าไปช่วย

ในโลกที่เร่งรีบผู้คนจึงมีน้ำใจกันน้อยลง อย่างไรก็ตามถึงรอบตัวจะเร่งรีบ แต่เราสามารถใช้ชีวิตให้ช้าลงได้ ด้วยการลดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นลงเสียบ้าง หรือทำให้น้อยลง (เช่น เที่ยวห้าง หรือดูโทรทัศน์)

ชีวิตที่ช้าลงนอกจากจะทำให้เราเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้น รวมทั้งมีเวลาให้แก่ตนเองมากขึ้น ไม่แปลกแยกหรือขัดแย้งกับตัวเองดังที่มักเกิดขึ้นกับผู้คนเวลานี้…”

ขอย้ำว่า…ผมคัดลอกบทความนี้มาเผยแพร่ ด้วยเห็นว่า เข้าใจได้ง่าย สัมผัสได้ แทบทุกคนประสบพบเจอกันในชีวิตทั้งนั้น

ในสังคมไทย มีหลายชีวิตที่โชกชุ่ม สมบูรณ์ ท่วมท้นไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ แก้ว แหวน เงิน ทอง อำนาจ บารมี

คนกลุ่มนั้น….สามารถแบ่งปัน เจียดจ่าย บรรเทาความทุกข์ยากให้ผู้ตกยากได้ ที่สำคัญที่สุด คือ มโนธรรม มโนสำนึก ที่จะไม่เบียดเบียน ไม่รังแก ไม่เอาเปรียบสังคม…

ทุกข์ โศก โรคภัย ที่เบียดเบียนสังคมเราอยู่ทุกวันนี้ จะบรรเทาลง

สวัสดีปีใหม่ 2564 ครับ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image