สะพานแห่งกาลเวลา : ชีวิตดิจิทัล โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-jude-beck-unsplash)

ช่วงเวลาวันหยุดต่อเนื่องกันยาวๆ ในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เหมาะเหลือเกินครับ สำหรับการใช้เวลาครุ่นคิดถึงหลายอย่างที่ผ่านมา และอีกหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รื้อฟื้นความทรงจำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์ถึงคุณค่า ความหมาย และผลกระทบของสิ่งเหล่านั้น ทั้งทางบวก และลบ แล้วสรุปเป็นบทเรียนไว้เตือนตัวเองในอนาคตด้วยถึงจะดี

ผมเชื่อว่า หลายคนคงหวนคิดถึงการใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เมื่อต้นปี การเปลี่ยนแปลงกะทันหันที่กินเวลานานสองเดือนเศษ เริ่มตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้ว

สถานการณ์ใหม่ในช่วงเวลานี้ คลัสเตอร์ที่มหาชัย คลัสเตอร์ที่ระยอง จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มพรวด จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ชวนให้เป็นไปอย่างนั้น

Advertisement

ชวนให้คิดถึงความกระวนกระวายที่เกิดจากความกลัว ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาด อาการอึดอัด คับข้องใจจากการถูกควบคุมด้วยมาตรการต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนหนังสือ การทำงาน แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หน้ากากและการรักษาระยะห่าง เป็นต้น

หลายคนรู้สึกว่า ชีวิตเปลี่ยนไปมากมายเหลือเกินในช่วงระยะเวลาเพียงไม่ช้าไม่นานที่ว่านั้น

หลายสิ่งหลายอย่างแทรกเข้ามาอยู่ในชีวิตของเรา ชนิดที่เราจำเป็นต้องยอมรับ ยอมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา และของสังคมโดยรวมไป เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้

Advertisement

สติ๊กเกอร์สี สำหรับติดเสื้อเพื่อบ่งบอกว่าผ่านการตรวจสอบแล้วก็เป็นอีกอย่างที่แทรกเข้ามาแล้ว เราต้องยอมรับมันอย่างช่วยไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ บางอย่างสักวันหนึ่งก็คงผ่านเลยไป แต่อีกบางอย่างส่งสัญญาณให้เห็นว่า เมื่อมันแวบเข้ามาอยู่ในชีวิตเราแล้ว ก็อาจคงอยู่อย่างนั้น

โควิด-19 บีบบังคับให้เราใช้ชีวิตล่วงลึกเข้าไปในโลกออนไลน์มากขึ้น ชนิดที่หลายคนไม่เคยคิดฝันมาก่อน

ไลฟ์สไตล์ของเราเปลี่ยนเป็นออนไลน์ไลฟ์สไตล์มากขึ้นทุกที

คนไทยเราพึ่งพาพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมหาศาลเมื่อปีที่ผ่านมา เราซื้อหาทั้งของจำเป็นและไม่จำเป็นผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นกันมากมาย จนกลายเป็นสิ่งคุ้นเคย

แม้ช่วงวิกฤตระลอกแรกจะผ่านพ้นไป เราก็ยังอาศัยการสั่งอาหารผ่านแอพพ์มากินกันต่อเนื่องมา ในอัตราสัปดาห์ละ 4-5 วัน

เราเริ่มต้นจากการคิดถึงความสะดวกสบาย แล้วก็กลายเป็นการใช้งาน เพราะ “ความปลอดภัย” แล้วมันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เพราะความคุ้มประโยชน์ ประหยัดเวลา ในที่สุด

โควิด-19 บีบบังคับ กดดัน เร่งรัด ให้วิถีการดำรงชีวิตกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้นอย่างมาก และรวดเร็วอย่างมากด้วย

ใครจะคาดคิดว่า ในเวลาไม่ช้าไม่นาน บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะคุ้นเคยกับการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อการซื้อขายได้เร็วขนาดนี้

นี่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่กับร้านรวง ห้างสรรพสินค้าเท่านั้นนะครับ เมื่อถึงปลายปี แม่ค้าหมูปิ้ง หรือแม้แต่ร้านข้าวแกง ก็ยังใช้แอพพ์ผ่านโทรศัพท์มือถือในโครงการ “คนละครึ่ง” กันอย่างคล่องแคล่ว

กลายเป็นพื้นฐาน เป็นรากฐานให้กิจการเทคโนโลยีของไทยสามารถเกิดและเติบใหญ่ได้ต่อไปในอนาตต

ฟารีด ซาคารี นักคิดนักเขียนอเมริกัน ตั้งข้อสังเกตไว้กับสังคมอเมริกันในท่ามกลางโควิด-19 ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ได้ทำให้สังคมอเมริกันเปลี่ยนทิศทาง เปลี่ยนเป้าหมายไป

สังคมทั้งสังคมยังคงมุ่งไปในทิศทางที่กำหนดไว้แต่เดิม แต่โควิด-19 คือตัวเร่ง ที่บังคับให้การมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นเร็วขึ้น เร่งสปีดขึ้นมากมายมหาศาล

ผมว่า ในบางแง่บางมุม สังคมไทยก็ถูกโควิด-19 เร่งเร้าให้พุ่งไปข้างหน้าเร็วขึ้นมากเช่นเดียวกันครับ

สถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนคิดถึงคำกล่าวของ วลาดิมีร์ อิลยิช เลนิน ที่เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า

“มีบ้างบางทศวรรษที่ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นเลย แล้วก็มีบางสัปดาห์ หลายสัปดาห์ ที่มีเหตุทั้งทศวรรษเกิดขึ้น”

ความรู้สึกผมเมื่อหวนนึกถึงปีที่ผ่านมา ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนั้นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image