จังหวะ การเมือง ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทักษิณ ชินวัตร

จังหวะ การเมือง ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทักษิณ ชินวัตร

จังหวะ การเมือง
ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ทักษิณ ชินวัตร

หลังจากฟังบทสัมภาษณ์จากมหานครดูไบของ นายทักษิณ ชินวัตร แล้วติดตามการไลฟ์สดของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากคณะก้าวหน้า

ก็จะเห็นลักษณะ “ร่วม” ของ 2 คนนี้

หากตัดรายละเอียดอันเกี่ยวกับบทสรุปต่อการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทั้งของ นายทักษิณ ชินวัตร และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกไป

Advertisement

ก็จะเห็นท่าทีของ 2 คนนี้ต่อ “เทคโนโลยี” และ “การเปลี่ยนแปลง”

บทสรุปและความเห็นของทั้ง นายทักษิณ ชินวัตร และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มองเห็นกรณีโควิดเป็น “วิกฤต”อย่างแน่นอน

แต่ภายใน “วิกฤต” ก็สามารถเป็น “โอกาส” ได้

Advertisement

ในเมื่อผลสะเทือนจากการรุกเข้ามาของโควิดได้มีส่วนอย่างสำคัญในการ “ป่วน” โครงสร้างเดิมของสังคมคำถามก็คือ เหตุใดไม่ช่วงชิงเงื่อนไขนี้ในการก่อให้เกิดโครงสร้าง”ใหม่”

เป็นโครงสร้างแห่งยุค “ดิจิทัล” เพื่อทะยานไปกับยอดคลื่นแห่ง “ศตวรรษที่ 21”

ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดคิดเพราะ นายทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนคิดนอกกรอบและมีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันแนวทาง “คิดใหม่ ทำใหม่”

นี่ย่อมเป็นท่วงทำนองเดียวกันกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ในห้วงแห่งการเดินทางหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ความฝันหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คือนวัตกรรมใหม่ในทางอุตสาหกรรม

เขาคิดเรื่องสร้าง “รถไฟฟ้า” ของไทยขึ้นมาเอง

ไม่เพียงแต่เป็นอุตสาหกรรมที่จะปักธงและนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากแต่ยังเป็นนวัตกรรมที่จะทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง

ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร มองไกลไปถึง “รถยนต์ไฟฟ้า”

แน่นอน เมื่อเป็นความคิดอันงอกมาจากสมองก้อนโตระดับ นายทักษิณ ชินวัตร และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงมองทะลุไปถึงการปฏิรูปและวางโครงสร้าง “อาชีวศึกษา” ใหม่

เป็นการสร้าง “นักศึกษา” ให้สอดรับกับ “เศรษฐกิจ ดิจิทัล”

หากแนวคิดในเรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัล” หลุดออกจากปากของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนฟังแล้วก็ไม่เชื่อ

เพราะ 2 คนนี้ไม่มี “ร่องรอย” ของ “ภาพลักษณ์” แบบนี้

คนหนึ่ง เรียนมาทางรัฐศาสตร์และเป็นนักเลือกตั้งอาชีพ คนหนึ่ง เรียนมาทางด้านทหาร ถนัดอย่างยิ่งในการทำรัฐประหาร

เป็นคนในยุค “อะนาล็อก” มากกว่าจะเสพรับกลิ่นอายแห่ง “ดิจิทัล”

ตรงกันข้าม เมื่อเป็นการเสนอจากปาก นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อเป็นการวาดพรรณนาโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ความน่าเชื่อถือจึงมีมากกว่า

น่าเสียดายก็แต่ ณ วันนี้ พวกเขาแทบไม่มีโอกาส

เพราะคนหนึ่งก็หลุดไปจากวงจรนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เพราะคนหนึ่งก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองนับแต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ความสูญเสียนี้จึงเป็นความสูญเสียของประชาชาติไทย

กระนั้น หากมองจากสภาพความเป็นจริงที่ นายทักษิณ ชินวัตร เดินขึ้นสู่สะพานพระราม 7 ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังอยู่ในหัวสะพานพระราม 4

โอกาสที่ทั้ง 2 จะได้รับใช้สังคมก็ยังมีอยู่

โดยความคิด ความริเริ่มของ นายทักษิณ ชินวัตร กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็สามารถผสมให้กลมกลืนต่อกันได้หากเงื่อนไขทางการเมืองอำนวยให้

โอกาสย่อมมีเสมอสำหรับผู้ไม่ยอมแพ้ แม้ถูกหยัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image