โควิดกับมิติด้านการเคลื่อนที่

ไม่ว่าจะเรียกโควิดรอบนี้ว่าระลอกสอง หรือระลอกใหม่ สิ่งที่เราเห็นข้อถกเถียงและนวัตกรรมทางโครงการและนโยบายในรอบนี้ก็คือ การไม่ยอมล็อกดาวน์ แต่ใช้วิธีการแบ่งโซนการควบคุมพร้อมมาตรการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลกลางแม้จะแถลงว่าให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการออกกฎระเบียบได้ แต่รัฐบาลกลางก็ยังคงอำนาจแทรกแซงเอาไว้ และอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ เรื่องของการนำเสนอ application ไทยชนะ และหมอชนะ ซึ่งหมอชนะนั้นเป็นนวัตกรรมล่าสุดของแอพพลิเคชั่นที่ทำให้ข้อมูลของเรานั้นถูกส่งต่อไปให้กับศูนย์กลางโดยทันทีด้วยการใช้ระบบสมาร์ทโฟนและการติดตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าจะมีผลดีต่อการประเมินความเสี่ยงของประชาชนได้มากขึ้นว่า เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงใดบ้าง และทำให้การปกปิดข้อมูลทำได้ยากขึ้น

แม้จะมีข้อถกเถียงและข้อกังวลมากมายต่อความเป็นส่วนตัวของประชาชน และประสิทธิภาพของรัฐเอง แต่ต่อการบริหารจัดการในเรื่องเหล่านี้ ข้อถกเถียงสำคัญในรอบนี้นอกเหนือไปจาก

การตั้งคำถามถึงต้นตอของปัญหาที่มาจากความย่อหย่อนของการบริหารจัดการภาครัฐโดยเฉพาะนอกส่วนของการสาธารณสุข (การกำกับดูแลเขตแดน การจัดการการลักลอบเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย และการปล่อยให้มีบ่อนการพนัน) ก็คือเรื่องของประเด็นว่า จะต้องล็อกดาวน์ไหม และการเยียวยาจะเป็นเช่นไร เนื่องจากความผิดพลาดในการแถลงข่าวในหลายวันก่อนของ ศบค. เองที่ยอมรับกลายๆ ว่า หากมีการล็อกดาวน์ย่อมจะกระทบการใช้เงินภาษีในการดูแลประชาชน (เอาจริงๆ แล้วเรื่องแบบนี้คือ ความจริงที่ไม่มีใครอยากรับฟัง มากกว่าความไม่จริง และทำให้ทัวร์ลงหมอทวีศิลป์ยาวนานมากกว่าหนึ่งอาทิตย์) สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำในการพิจารณาประเด็นของการระบาดและการบริหารจัดการในรอบนี้ก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างโควิดกับมิติด้านการเคลื่อนที่ (mobility)

มีสองประเด็นหลักที่จะขอนำเสนอนั่นก็คือ เรื่องของการทำความเข้าใจเรื่องการเคลื่อนที่และการไม่เคลื่อนที่ในมิติของการระบาดและการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด และเรื่องของอนาคตของการเคลื่อนที่ในเมือง

Advertisement

1.การเคลื่อนที่และการไม่เคลื่อนที่ในมิติของการระบาดและการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด: การล็อกดาวน์นั้นสามารถทำความเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของการจำกัดการเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการห้ามออกจากเคหสถานด้วยกฎหมายฉุกเฉิน หรือการขอความร่วมมือให้ล็อกดาวน์อยู่บ้าน ที่เรียกว่าอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติในรอบที่แล้ว ขณะที่รอบใหม่นี้ไม่มีชื่อและการรณรงค์อะไร แต่เหมือนจะยอมรับกันกลายๆ ว่าการอยู่บ้านก็เป็นเรื่องของการ work from home หรือการเอางานกลับไปทำที่บ้าน หรือไม่ได้ให้อยู่บ้านเฉยๆ แต่ต้องทำงาน หรือเรียนที่บ้าน (ส่วนตกงานนั้นไม่เห็นและไม่นับ)

การ “ล็อกดาวน์จำแลง” คือ ล็อกดาวน์แบบไม่ล็อกดาวน์ คือส่งเสริมให้ทำงานและเรียนที่บ้าน ลดการเดินทาง และเริ่มมีการพิจารณาปิดสถานที่และจำกัดกิจกรรม/กิจการบางอย่าง กลายเป็นประเด็นที่เกิดการตั้งคำถามกันมาโดยตลอดทั้งในประเด็นว่ามันเป็นสิ่งที่จะประสบความสำเร็จไหม และต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง โดยเฉพาะในประเด็นที่เราเชื่อกันว่าการบริหารจัดการโควิดที่ดีจะต้องหาสมดุลให้เจอ/ให้ได้ระหว่างเรื่องของตัวเลขผู้ติดเชื้อและสถานการณ์การระบาด กับตัวเลขและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เพราะนับจากรอบแรกมานั้นประเทศของเราเหมือนให้ความสำคัญในการกดตัวเลขให้เป็นศูนย์ ทั้งที่ต้องแลกมาด้วยความเปราะบางและความถดถอยทางเศรษฐกิจ

ในรอบนี้สังคมก็ยังตั้งข้อสงสัยว่า การงดกิจกรรมและใช้พื้นที่ในหลายพื้นที่ขณะที่ปล่อยให้อีกหลายกิจกรรมนั้นดำเนินต่อไปได้มันเป็นเรื่องแค่การต้องเลือกระหว่างตัวเลขผู้ป่วยกับตัวเลขเศรษฐกิจเท่านั้นหรือเปล่า เช่น ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่เปิดได้ตลอด แต่ตลาดนัดและร้านรายย่อยอาจถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด

Advertisement

มีประเด็นที่น่าจะพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ก็คือ ความสำคัญที่เป็นที่ยอมรับกันมาตลอดก็คือ เรื่องของการรักษาระยะห่างทางสังคม มากกว่าเรื่องการห้ามเคลื่อนที่ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมรัฐบาลไทยถึงถูกด่าบ่อยๆ เวลาที่มีการแถลงข่าวทำนองการเชื่อมโยงระหว่างเรื่องของที่มาหรือความเสี่ยงจากโควิดกับสถานที่แหล่งมั่วสุม หรือสถานที่ที่มีมิติของการผิด หรือสุ่มเสี่ยงต่อการผิดศีลธรรม ทั้งที่เรื่องที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เรื่องของความหนาแน่นในพื้นที่เหล่านั้นมากกว่าเรื่องของสติและการบกพร่องทางศีลธรรม และความรับผิดชอบของผู้ที่เปิดสถานที่เหล่านั้น

อย่าลืมว่าในต่างประเทศนั้นสถานที่ที่ติดกันบ่อยคือ ร้านอาหาร และสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (ในแง่นี้ถ้ากรณีนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย ก็คงจะอธิบายได้ยากที่จะต้องบอกว่ายิ่งประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกันก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น)

ในสหรัฐอเมริกานั้น งานวิจัยจากความร่วมมือกันของหลายมหาวิทยาลัยที่นำโดยมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด (S.Chang. et al. Mobility network models of COVID-19 explain inequalities and inform reopening. Nature. 598: 7 January 2021) พบประเด็นที่ลึกไปกว่าความเข้าใจทั่วไปที่ว่าการลดการเดินทางลงนั้นมีผลทำให้การติดเชื้อลดลง โดยการศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสร้างแบบจำลองในการวิเคราะห์ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาสิบเมือง โดยดูข้อมูลการเดินทางของผู้คน และสถานที่ที่พวกเขาเดินทางไป

ข้อค้นพบที่สำคัญในงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือว่า การติดเชื้อหรือระบาดนั้นไม่ได้เกิดทุกหนทุกแห่ง แต่เป็นเรื่องของการที่มีพื้นที่ไม่กี่จุดเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวาง ดังนั้นความสำคัญในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด จึงไม่ใช่เรื่องของการลดการเดินทางลูกเดียวโดยไม่ต้องพิจารณามิติ หรือปัจจัยอย่างอื่น แต่ต้องเป็นเรื่องของการกำหนดจำนวนของผู้คนในแต่ละสถานที่อย่างเข้มงวดถึงจะทำให้การบริหารจัดการสถานการณ์โควิดนั้นมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ความสำคัญต่อมาในเรื่องของการทำความเข้าใจเรื่องเครือข่ายการเชื่อมต่อการเดินทาง และการแพร่ระบาดของโควิดนั้นก็คือ ข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ว่าการติดเชื่อนั้นมีอยู่สูงในหมู่คนที่เสียเปรียบทางสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผิวสี และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เนื่องมากจากความแตกต่างกันของการเคลื่อนที่เดินทาง เงื่อนไขสำคัญในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าคนที่เสียเปรียบ และเปราะบางทางสังคมนั้นไม่มีความรู้ และไม่ให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐ

แต่มันเป็นเรื่องของการที่กลุ่มคนที่เสียเปรียบและเปราะบางทางสังคมนั้นไม่สามารถลดการเคลื่อนที่เดินทางได้อย่างที่รัฐต้องการ หรือในปริมาณที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น พวกเขายังต้องออกไปทำงาน เพราะงานของเขาเป็นการที่ทำที่บ้านไม่ได้ หรือแม้กระทั่งในเรื่องเศรษฐกิจก็ต้องคิดว่า คนยากคนจนที่เสียเปรียบเหล่านี้เขามีปัญญาพอที่จะสะสมเสบียงได้มากอย่างที่คนพอมีอันจะกินทำได้ไหม

ยิ่งไปกว่านั้นสถานที่ที่คนเปราะบาง และเสียเปรียบจำต้องไปนั้น มักจะเป็นพื้นที่ที่มีความแออัด และย่อมจะต้องมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ดังนั้นการทำความเข้าใจความละเอียดอ่อนของการตอบสนองต่อนโยบาย และมาตรการของรัฐเช่นนี้ทำให้เราไม่ด่วนสรุปง่ายๆ ว่าประชาชนนั้นเป็นพวกที่ดื้อด้านโง่เง่า ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ แต่ต้องมาให้ความสำคัญในการพิจารณาความจำเป็น โอกาสและการด้อยโอกาสในชีวิตของคนที่เสียเปรียบและเปราะบาง (ในทีมวิจัยนั้นนอกจากจะมีนักวิจัยด้านสาธารณสุข ยังมีนักวิจัยด้านคอมพิวเตอร์และนักสังคมวิทยาด้วย)

อีกบทเรียนที่เราได้จากการศึกษาเรื่องการแพร่ระบาดกับแบบแผนเครือข่ายการเคลื่อนที่นี้ก็คือ เราไม่ด่วนสรุปกับข้อมูลการค้นพบเบื้องต้นว่า ยิ่งมีการลดการเคลื่อนที่ย่อมมีการลดการแพร่กระจายของโรค มาสู่การทำความเข้าใจว่า ในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการลดการเคลื่อนที่ กับการระบาดของโรคนั้น ต้องพิจารณาในปัจจัยและมิติต่างๆ ว่าแต่ละกลุ่มคนนั้นเขาเผชิญเรื่องนี้ต่างกันอย่างไร หรือพูดง่ายๆ ว่าคนที่ออกมาโวยวายหวาดกลัวที่สุดนั้น อาจไม่ใช่พวกที่เปราะบาง และเสี่ยงที่สุด หรือในอีกหลายอย่างเช่นว่า เรามองว่าแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายนั้นทำให้เกิดการแพร่ระบาดหนัก

ทั้งที่เราไม่ได้มองว่า การบริหารจัดการแรงงานและเมือง รวมทั้งสถานประกอบการอย่างไร ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการระบาดเหล่านี้

ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงมุมมอง และมาตรการในการรับมือกับโควิดระลอกใหม่ในบ้านเรา ส่วนที่น่าจะพิจารณาก็คือ การเว้นระยะห่างทางสังคมควรจะนำมาปรับใช้อย่างจริงจังตามรูปแบบกิจการที่มีความเสี่ยงต่างกัน ในความหมายของการทำความเข้าใจกับความจุ และความหนาแน่นแออัดของประชากรต่อพื้นที่ แทนที่จะเป็นเรื่องของการห้ามไปทั้งหมด หรือการมองว่าคนบางกลุ่มนั้นไม่เชื่อฟังรัฐบาล ทั้งที่เขามีเหตุผลความจำเป็นมากมาย

เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ความหละหลวมของรัฐ แต่เป็นเรื่องความเข้าอกเข้าใจของรัฐ และภาคส่วนของสังคมอื่นๆ ต่อเงื่อนไขความจำเป็นของคนที่เปราะบาง และเสียโอกาสในสังคม และความเชื่อมโยงของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน

2.อนาคตของการเคลื่อนที่ในยุควิถีใหม่ : เราจะพบว่าในช่วงของการล็อกดาวน์ หรือกึ่งล็อกดาวน์ หรือล็อกดาวน์จำแลงนั้น ความถี่ของการเคลื่อนที่นั้นอาจจะลดลง แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละภาคส่วน เราย่อมจะเห็นว่า คนที่เปราะบางน้อยอาจจะลดการเคลื่อนที่ลงได้มากกว่า เพราะพวกเขาอาจจะทำงานที่บ้านได้ เรียนที่บ้านได้ หรือตุนอาหารและปัจจัยพื้นฐานได้มากกว่า รวมทั้งมีความสะดวกสบายในเรื่องของการมีช่องทางการสื่อสารที่มากกว่ากลุ่มคนที่เปราะบางเสียเปรียบ เช่น การท่องโลกออนไลน์ หรือโทรศัพท์ติดต่อกันได้ (หรือได้ในเวลาที่ยาวนานกว่า) แต่สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมก็คืออนาคตของการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งมวลชนนั้นจะเป็นอย่างไร อย่าลืมว่าคนที่ยากจนกว่าก็ต้องออกไปทำงานหากิน

นอกจากนี้ เราก็จะต้องมาพิจารณาอีกว่า แบบแผนการเดินทางนั้นเกี่ยวพันกับที่พักอาศัย เช่น คนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำอาจจะมีแบบแผนหลักสองแบบคือ อยู่ในพื้นที่ห่างไกลแล้วเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนเป็นเวลาที่นานกว่าคนพอมีพอกิน อันนี้ในกรณีที่พวกเขาต้องการความมั่นคงในการเป็นเจ้าของที่ดิน หรือบ้าน ขณะที่สำหรับคนที่กลุ่มหนึ่งอาจเลือกที่จะพักในพื้นที่ใกล้แหล่งงาน แต่ต้องแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนการเดินทาง และรักษาความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์การครองพื้นที่ เช่น อยู่ในห้องเช่าใกล้ที่ทำงาน แต่ก็แออัด และไม่ถูกสุขลักษณะ การทำความเข้าใจเรื่องราวเช่นนี้ ทำให้เราไม่คิดแต่ว่า เรื่องของการเดินทางเป็นแค่เรื่องของการถกเถียงเรื่องรถเมล์ รถไฟฟ้า รถยนต์ และการจัดพื้นที่โล่ง มีระยะห่างทางสังคมให้กับคนในเมือง ทั้งที่ยังมีแรงงานนอกระบบอีกจำนวนหนึ่งที่ทำงานหนักเพื่อให้ระบบนั้นดำเนินต่อไปได้

ในรอบนี้ของบ้านเรากลับไม่พบการถกเถียง และจัดเตรียมความปลอดภัย และการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งการจำกัดความหนาแน่นของระบบขนส่งสาธารณะอย่างชัดเจน เว้นแต่เรื่องของหน้ากากและอุณหภูมิ ซึ่งทำให้เราคิดไปได้ว่าเรื่องของการขนส่งมวลชนนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวพันกับคนที่มีอำนาจในสังคมนี้มากนัก ทั้งที่เป็นความปลอดภัยของประชาชนจำนวนมากในเมืองใหญ่

แม้ว่าตัวเลขของการติดเชื้อในระลอกนี้อาจจะลดลงและกลายเป็นศูนย์เข้าสักวัน แต่การตั้งคำถามถึงการบริหารสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาวะในรอบนี้ทำให้เราต้องตระหนักถึงการสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ความยั่งยืนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มิติของความหลากหลายทางสังคม และความเข้าอกเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนและเชื่อมต่อกันและกันของผู้คน รวมทั้งมิติของความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม และความเป็นธรรมในสังคมของเราด้วยครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image