วิกฤตโควิด-19 ระลอกสองบทพิสูจน์‘กองทุนบัตรทอง’ โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

จุดเริ่มต้นรายงานพบผู้ป่วยหญิงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 คงไม่มีใครคาดคิดว่า ช่วงเวลาเพียง 20 วัน โควิด-19 ที่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้แพร่กระจายเชื้อไปทั่วประเทศ ในช่วงเวลาเพียง 20 วันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 5,050 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมของประเทศไทยแตะที่หมื่นรายแล้ว

ตัวเลขดังกล่าวแม้ว่าจะส่งผลให้ทุกคนต่างวิตกกังวลต่อสถานการณ์อย่างมาก แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่คงจะเพิ่มทวีคูณกว่านี้หลายเท่า รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิต หากวันนี้ประเทศไทยไม่มีโครงสร้างของระบบบริการสุขภาพที่ดีและมีความพร้อม “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่คุ้มครองสิทธิสุขภาพคนไทยทุกคนให้ได้รับบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ร่วมถึงนโยบายด้านสุขภาพของรัฐที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง

ย้อนกลับไปในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก เราพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยรายแรกในเดือนมกราคมและเริ่มขยายจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “กองทุนบัตรทอง” มีบทบาทในการร่วมแก้ปัญหา โดยทำหน้าที่กลไกคุ้มครองสุขภาพคนไทยในช่วงสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด หนึ่งในเจตนารมณ์สำคัญของการจัดตั้งกองทุนบัตรทอง

การจัดสรรงบประมาณจำเพาะกรณีโควิด-19 ภายใต้กองทุนบัตรทองจำนวน 1,020 ล้านบาท ถูกรับการอนุมัติและตั้งขึ้นทันที เมื่อครั้งประชุมบอร์ด สปสช. ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 โดยท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ด้วยต่างตระหนักต่อสถานการณ์เร่งรีบ ก่อนได้รับเพิ่มเติมจากงบกลางอีกจำนวน 3,260 ล้านบาท งบประมาณดังกล่าวได้ครอบคลุมการสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณี
โควิด-19 ที่จำเป็นทั้งหมด

Advertisement

เริ่มจากการรักษาพยาบาลทั้งในกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ตั้งแต่การตรวจห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อที่รวมค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) สำหรับบุคลากรห้อง
ปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อและบุคลากรเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ค่าห้องควบคุมปลอดเชื้อหรือห้องดูแลการรักษารวมค่าอาหาร หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 ยารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 และค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ โดยความคุ้มครองนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ให้รวมถึงการดูแลที่โรงพยาบาลสนามซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะในการรับมือการแพร่ระบาด

การดูแลกรณีโควิด-19 นี้ ยังรวมถึงการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดครอบคลุมให้กับประชาชนทุกสิทธิและผู้ที่รับบริการในสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospital Quarantine) ตามหลักเกณฑ์ผู้สงสัยเฝ้าระวัง (Patient Under Investigation : PUI) ของกรมควบคุมโรค นอกจากนี้ได้เพิ่มบริการที่เป็นการลดความเสี่ยงติดเชื้อให้กับผู้ป่วย และช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้แก่ โครงการสนับสนุนการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การต่อยอดโครงการผู้ป่วยรับยาร้านยา ขย.1 ใกล้บ้าน และการให้บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine) เป็นต้น ขณะเดียวกันยังมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) ที่มี อปท.กว่า 5 พันแห่ง ที่นำกลไกนี้ไปร่วมแก้ไขปัญหาแพร่ระบาดในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยมีการจัดทำโครงการทั้งในปี 2563-2564 จำนวน 20,811 โครงการ รวมเป็นงบประมาณ 1,015.41 ล้านบาท

ผลที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2563 กองทุนบัตรทองได้ดูแลประชาชนเข้ารับบริการคัดกรองโควิด-19 แบ่งเป็นบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 จำนวน 589,996 คน คิดเป็น 817,935 ครั้ง และบริการรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก รวมเป็น 33,951 คน (ในจำนวนนี้มีทั้ง ผู้ป่วยนอก, ผู้ป่วยในที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (IP PUI) และผู้ป่วยในที่ต้องรับการรักษาโควิด-19) ซึ่งรวมทั้ง 2 บริการเป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชย 2,830.66 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนร่วมที่ได้ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดในรอบแรกได้อย่างมีประสิทธิผล กระทั่งปรากฏรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ 0 ราย

Advertisement

อย่างไรก็ตามการดำเนินการสนับสนุนหน่วยบริการเพื่อให้บริการกรณีโควิด-19 นี้ สปสช.ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2564 เพราะด้วยสถานการณ์ที่ยังมีความสุ่มเสี่ยง ต้องเฝ้าระวังและติดตาม สปสช. จึงได้เตรียมความพร้อมเม็ดเงินสนับสนุนหน่วยบริการ นอกจากงบประมาณที่คงเหลือจากกองทุนบัตรทองกรณีโควิด-19 จำนวน 471.42 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 2563 ที่ได้เบิกจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการแล้ว สปสช. ได้เสนอของบเพิ่มเติมตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563) ซึ่งได้รับจัดสรรเพิ่มเติมเบื้องต้นอีกจำนวน 2,999.69 ล้านบาท เป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 64) รวมเป็นเงินทั้งหมด 3,471.11 พันล้านบาท

นอกจากงบประมาณที่ลงสู่บริการกรณีโควิด-19 โดยตรง ในการคัดกรองและรักษาพยาบาลภายใต้งบประมาณ พ.ร.บ.เงินกู้ฯ นี้ สปสช.มีการจัดสรรงบเพื่อสนับสนุนบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เพิ่มเติม ได้แก่ บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 2,365,900 คน เงินช่วยเหลือผู้ให้บริการกรณีโควิด-19 ที่เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และค่าบริการตามสิทธิประโยชน์บัตรทองในกลุ่มคนว่างงานที่เข้าสู่ระบบ 137,000 คน

สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ จากการเตรียมความพร้อมรับมือในด้านงบประมาณกองทุนบัตรทองเพื่อสนับสนุนและความครอบคลุมสิทธิประโยชน์บริการโควิด-19 ที่รวมถึงรายการที่เกี่ยวข้อง ผนวกกับความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และความทุ่มเททำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และความจริงจังในมาตรการของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19

ผมเชื่อมั่นว่า…จะทำให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image