ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมียนมา…1 มิตรชิดใกล้

แรงงานจากเมียนมานับล้านในไทย…มิใช่ “ชาวพม่า” ทั้งหมด

คนไทยเรียนประวัติศาสตร์ไทย-พม่า พุ่งเป้าไปที่ ศึกสงคราม อยุธยาถูกทำลาย อยุธยากับพม่าเป็นคู่สงครามถาวร ท่องจำ เน้นเรื่องราวของกษัตริย์อยุธยา กษัตริย์พม่า แม่ทัพนายกอง เส้นทางเดินทัพ ฯลฯ…

ล้วนเป็นมิติทางสงคราม… ความขัดแย้ง…

ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย-พม่า ที่ได้เรียนเขียนอ่านกัน คือ… พ.ศ.2107 พระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพนับหมื่นมาทำศึก

Advertisement

กษัตริย์พม่า ทรงขอพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา ทรงใช้ชีวิต เติบใหญ่ เรียนรู้ แข็งแกร่ง ในรั้วในวังของกษัตริย์พม่า

ถือว่าเป็นวิถีแห่งการทำศึกสงครามแบบ “ไม่ทำลายล้าง” ยังคงมีมิตรไมตรีต่อกันเป็นบางช่วงบางตอน…

ทุกวันนี้ คนไทยรู้จัก “ภูมิสังคม” เพื่อนบ้านของเรา มากน้อยแค่ไหน

Advertisement

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขอเปิดเผยข้อมูลเพื่อนบ้านใกล้ชิด มีแรงงานนับล้านคนเข้ามาทำงาน…แต่เราไม่ค่อยจะรู้จักเค้ามากนัก…

เพ่งไปที่แผ่นดินจีนและดินแดน “ทางตอนใต้ของจีน”

เทือกเขาสูงเสียดฟ้า กว้างยาวสุดสายตา เมื่อนับหมื่น นับพันปีที่แล้ว เป็นถิ่นของ “กลุ่มชาติพันธุ์” นับไม่ถ้วนอาศัยอยู่เป็นกลุ่มๆ บนภูเขา

ในดินแดนของจีนเอง ก็มีราว 60 กลุ่มชาติพันธุ์ ชีวิตความเป็นอยู่ ภาษาพูด ภาษาเขียน วัฒนธรรม แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ไล่ลงมาทางใต้ของจีน แม่น้ำขนาดใหญ่มหึมา หลายสาย ที่เกิดจากการละลายของหิมะบนภูเขา มวลน้ำใสไหลลงสู่ทิศใต้เหลือเฟือ อู้ฟู่…

กลุ่มชาติพันธุ์อีกนับไม่ถ้วน ใช้ชีวิต ทำไร่ ทำนา อาศัยตามแนวลำน้ำ

ขอเจาะประเด็นก่อนจะเป็นประเทศเมียนมา…

หลายร้อยปีที่ผ่านมา ดินแดนตรงนี้ มีกลุ่มชาติพันธุ์หลัก คือ พม่า มอญ ฉาน กะเหรี่ยง คะฉิ่น ชิน คะยา ยะไข่ อาศัยอยู่

ยังมีอีกกลุ่มย่อยๆ นับร้อยกลุ่ม กระจายตัวกัน

ชนเผ่าต่างๆ พูดกันคนละภาษา แต่งกาย ประเพณีวัฒนธรรมหลากหลาย ต่างก็มีหัวหน้า-ผู้นำเป็นผู้ปกครองในแต่ละอาณาจักร ชนเผ่าทั้งหลาย บางช่วงเวลาก็เป็นมิตรสนิทกัน บางช่วงเวลาก็ทำศึกสงครามกัน ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปล้น แย่งบ้านชิงเมือง

ผู้นำของแต่ละกลุ่ม ขอตั้งตนจะเป็น “ผู้รวบรวม ชนเผ่า” ทั้งปวง ต้องการสถาปนา “ราชอาณาจักร” ให้เป็นปึกแผ่น

กลุ่มชาติพันธุ์ย่อยๆ เช่น ธนุ ต่องโย แต้ะ มรมาจี ดายนา อีงตา ระวาง ลีซู ลาหู่ กอ ขขุ ลาซี ขมี นาคะ แม้ว ว้า ปะหล่อง ปะเล ยีง ปะโอ ซะโหล่ง ซะเหย่ง ยีงบ่อ บะแระ ปะด่อง ยีงตะแล คำตี่ โย หล่ำ ขมุ ลุ และขึน

(จากการสำรวจภายหลัง…แผ่นดินเมียนมามีทั้งหมด 135 ชนเผ่า)

รูปร่าง อาณาเขตของแต่ละชนเผ่า ตรงไหน ก็ยังไม่มีใครกำหนด

ในศตวรรษที่ 19 มหาอำนาจอังกฤษที่เข้าปกครองอินเดียมองเห็นแผ่นดิน (พม่า) ตรงนี้แสนจะอุดมสมบูรณ์ที่สุด จึงยกกองทัพมาทำสงคราม เพื่อยึดดินแดน…

พ.ศ.2367 ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.2 อังกฤษรบกับพม่าเป็นครั้งแรก เมื่อพม่าต้องสู้รบกับทหารอังกฤษ กองทัพพม่าจึงเริ่มร้างรา หย่าศึกกับสยามได้แบบถาวร (ตรงกับช่วงสมัยในหลวง ร.3)

พ.ศ.2368 เมื่ออังกฤษมีชัยชนะต่อพม่าแล้ว ก็ส่งร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อหารือกันเกี่ยวกับแนวเขตแดนสยามทางด้านมลายูและด้านพม่า…นั่นคือ จุดเริ่มต้นการแบ่งเขตแดน

เส้นแบ่งเขตแดนแบบหยาบๆ ระหว่างสยาม-พม่า เกิดขึ้น

(ขอขยายความแบบย่อๆ นะครับ…อังกฤษไปนำชาวมุสลิมจากรัฐยะไข่ทางตะวันตกมาติดอาวุธ เข้าสู้รบ ทำสงครามเพื่อยึดครองแผ่นดินพม่า นี่เป็นความแค้นฝังหุ่นของชาวพม่าพุทธที่ฝังใจรังเกียจ มุสลิม …โรฮีนจา)

ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดที่อังกฤษนำใส่เรือไปขายในยุโรป คือ ไม้สักทอง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าในรัฐฉาน แค่นั้นยังไม่พอ…อังกฤษยังเข้ามาขอทำสัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือของสยาม

ปี พ.ศ.2428 อังกฤษทำสงครามกับพม่าครั้งที่ 3 เป็นสงครามครั้งสุดท้าย…เปลี่ยนแผ่นดินพม่าไปตลอดกาล

อังกฤษยึดเมืองมัณฑะเลย์ ปลดกษัตริย์ธิโบว์ (Thibaw) ของพม่า บังคับให้ลี้ภัยไปอยู่ในอินเดียที่อังกฤษปกครอง…

อังกฤษใช้นโยบาย “แบ่งแยกและปกครอง” คือการแยกส่วนพม่าส่วนกลางและชายแดนออกจากกัน ปรับใช้ระบบการปกครองเพื่อมิให้ชนเผ่าต่างๆ “รวมตัวกันได้”

กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มชาติพันธุ์พม่า (Bama หรือ Burmans) ซึ่งประกอบด้วย 68% ของประชากร นับถือศาสนาพุทธ

ชนเผ่าต่างๆ ที่ “มิใช่ชาวพม่า” ไม่สยบยอมต่อการรวมอาณาจักรเข้าเป็นประเทศพม่า เพราะต่างก็ร่ำรวยทรัพยากร มีผู้นำของตนเอง

อังกฤษปล่อยให้แคว้นต่างๆ บริเวณชายแดน ยังคงการปกครองระบบดั้งเดิมของตนไว้ ภายใต้การควบคุมดูแลของข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษ

นี่คือ “เล่ห์กล” ที่ได้ผลชะงัดนักแล…

ประการสำคัญที่สุด คือ แต่ละกลุ่มหันไปจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ บ้างก็ต้องผลิต ค้า ยาเสพติด หาเงินมาดูแลชนเผ่าตนเองเพื่อซื้ออาวุธ

ชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มกล้าหาญ ต่อสู้ กระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชจากอังกฤษ รวมถึงความพยายามที่จะสร้างชาติ

บุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่ตรงนี้ คือ ออง ซาน ผู้นำนักศึกษาที่ผันตัวมาเป็น นักต่อสู้ เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ… กระทั่งเกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรก

4 มกราคม พ.ศ.2491 อังกฤษมอบเอกราชให้แก่ดินแดนแห่งนี้… ใช้ชื่อเป็นทางการว่า Union of Burma

ชาวพม่า กุมอำนาจ เป็นรัฐบาล พยายามถนอมรักษามิตรภาพระหว่างชนเผ่าต่างๆ เพื่อดำรงสถานะของประเทศ… “จุดสมดุล” หาได้ยากยิ่ง

พม่าหนีเสือปะจระเข้…

ปลายปี 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกพม่า อังกฤษ ถอนตัวออกไป พม่าต้องหันมาต่อสู้กับญี่ปุ่นที่เข้ามากอบโกย กดขี่ไม่น้อย…

สงครามจบ ญี่ปุ่นแพ้ สหภาพพม่าพยายามจะสร้างเอกภาพระหว่างชนในชาติที่หลากหลาย …ชนเผ่าหลักๆ มีกองกำลัง มีอาวุธ ตั้งเงื่อนไข ขอเดินตามสนธิสัญญาปางโหลง

พ.ศ.2505 นายพลเนวิน ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ทหารปกครองประเทศกว่า 50 ปี เปลี่ยนรูปแบบการปกครองหลายครั้ง

ความพยายามหลักของ ทหารผู้ปกครอง คือ การสร้างสันติภาพ ระหว่างเผ่าพันธุ์ ที่รวย-จน เหลื่อมล้ำ แตกต่างกันมาก

รูปแบบการปกครองที่ถือว่าเคารพ ให้ความเสมอภาคกัน คือ ประเทศพม่าแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 เขต (region) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พม่า และ 7 รัฐ (states) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย

พื้นที่ 7 รัฐ คือ 1.รัฐกะฉิ่น (Kachin) 2.รัฐกะยา (Kayah) 3.รัฐกะเหรี่ยง (Kayin) 4.รัฐฉาน หรือรัฐไทใหญ่ (Shan) 5.รัฐชิน (Chin)

6.รัฐมอญ (Mon) และ 7.รัฐยะไข่ (Rakhine)

พื้นที่ 7 เขต คือ 1.เขตอิรวดี (Ayeyarwady) มีเมืองเอกชื่อ เมืองพะสิม 2.เขตพะโค (Bago) มีเมืองเอกชื่อ เมืองพะโค 3.เขตมาเกว (Magway) มีเมืองเอกชื่อ เมืองมาเกว 4.เขตมัณฑะเลย์ (Mandalay) มีเมืองเอกชื่อ เมือง มัณฑะเลย์ 5.เขตสะกาย (Sagaing) มีเมืองเอกชื่อ เมืองสะกาย 6.เขตตะนาวศรี (Tanintharyi) มีเมืองเอกชื่อ เมืองทวาย 7.เขตย่างกุ้ง (Yangon) มีเมืองเอกชื่อ เมืองย่างกุ้ง

ขอกล่าวถึง ชนเผ่า ที่มีถิ่นฐานติดกับชายแดนไทย

มอญ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยยิ่งใหญ่ แข็งแกร่ง รุ่งเรือง มีอารยธรรม อ่าน เขียน เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด

พงศาวดารพม่ากล่าวว่า “มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล” คาดว่าน่าจะอพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย

นักภูมิศาสตร์อาหรับ เรียก มอญ ว่า รามัญประเทศ (Ramannadesa) ซึ่งหมายถึง “ประเทศมอญ” คำนี้เพี้ยนมาจากคำศัพท์โบราณของ มอญ คือ “รามัญ” (Rmen) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกตัวเองของมอญ

พม่าเรียกมอญว่า “ตะเลง” (Talaing) ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า Telangana อันเป็นแคว้นหนึ่งทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย

พ.ศ.2300 พระเจ้าอลองพญา โจมตี ขับไล่กลุ่มชาวมอญ ทำลายอาณาจักรชาวมอญแบบราบคาบ

กษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญคือ พระเจ้าพญามองธิราช

ชาวมอญ ที่มีถิ่นที่อยู่ทางใต้ของพม่าติดกับชายแดนไทย พ่ายแพ้แก่พม่าอย่างราบคาบ ชาวมอญส่วนหนึ่งจึงอพยพโยกย้ายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเมืองไทย

ชาวมอญ… คือ ญาติสนิทที่ไปมาหาสู่กับไทยเรามานานแล้ว…

พ.ศ.2310 คราวกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย พระเจ้าตากฯ ตั้งราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงธนบุรี

ในขณะนั้นพลเมืองมีน้อย เราต้องการแรงงานเกษตร ต้องการกำลังสร้างบ้านเมือง ในอยุธยามีกลุ่มชาวมอญอาศัยอยู่นับพันคน

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงโปรดให้พญาเจ่ง (หัวหน้าผู้ปกครองชาวมอญ ด้วยกัน) ยกไพร่พลชาวมอญไปตั้งบ้านเรือนที่ปากเกร็ด คอยสกัดทัพพม่าที่อาจยกเข้าทางด้านทิศเหนือ รวมทั้งดูแล “ด่านขนอน” ที่แขวงเมืองนนท์

ต่อมาเมื่อสยามต้องเผชิญกับเรือรบฝรั่ง ชาติตะวันตก ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีแสนยานุภาพมาก จึงได้มีการสร้างเมืองและป้อมขึ้นที่ปากแม่น้ำ คือ “นครเขื่อนขันธ์” และโปรดให้ชาวมอญของพญาเจ่ง อพยพมาอยู่ดูแลเมืองนครเขื่อนขันธ์

ซึ่งต่อมา คือ มอญพระประแดง

ชาวมอญ เป็นกลุ่มชนจิตใจดี รับคำสอนพุทธศาสนามาจากอินเดีย แล้วมาเผยแพร่ให้กับกลุ่มชนอื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งสยาม

ชาวมอญได้รับการดูแลให้เข้ามาตั้งหลักในสยาม กลมกลืนหายไปกับคนพื้นถิ่น ทั้งด้านเชื้อชาติ และวัฒนธรรม กลายเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ…

พ.ศ.2357 ในรัชสมัยในหลวง ร.2 เกิดเหตุชาวมอญไม่พอใจที่ถูกพม่าเกณฑ์แรงงานไปก่อสร้างเจดีย์ ชาวมอญก่อกบฏที่เมืองเมาะตะมะ ถูกพม่าล้อมปราบเสียชีวิตจำนวนมาก…ที่เหลือหนีตาย

ในหลวง ร.2 โปรดเกล้าฯ ให้ไปรับตัวชาวมอญระลอกใหญ่ราว 40,000 คนเศษ มาตั้งรกรากที่สามโคก (ปทุมธานี) ปากเกร็ด และพระประแดง มอญที่อพยพเข้ามาครั้งนี้เรียกกันว่า “มอญใหม่”

เท่าที่มีการจดบันทึกเอาไว้…ชนชาติมอญอพยพเข้ามาสยาม 9 ครั้ง…ชาวมอญที่โดนชาวพม่าคุกคามมีสยามเป็นที่พึ่ง

ปัจจุบัน ถือว่า อาณาจักรมอญสูญหายไปจากแผนที่โลก

ผ่านมานับร้อยปีต่อมา คนไทยเชื้อสายมอญ เป็นข้าราชการระดับสูง เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นพ่อค้าวานิชมั่งคั่งในแผ่นดินไทยไทยมิใช่น้อย…

ผู้เขียนขอชื่นชมในวิสัยทัศน์ของ กษัตริย์ แม่ทัพ นายกอง ของไทยในอดีตนับร้อยปีที่ผ่านมา …“คน” คือ ทรัพยากรอันมีค่า ที่ต้องนำมาสร้างชาติ

ลองมาทำความรู้จักอีก 1 ชนเผ่า..คือ “ไทใหญ่” ในรัฐฉาน ที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนไทยตอนเหนือ….(ดูแผนที่)

“รัฐฉาน” (Shan State) ในพม่า ที่ติดกับไทยตอนเหนือเป็นเมืองแห่งภูเขาสูงและผืนป่า เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า สมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ อัญมณีและไม้มีค่าชนิดต่างๆ บ้างก็เรียกว่า เมืองไต

มีประชากรหลายชนเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกัน เผ่าหลัก คือ “ไทใหญ่” อาศัยอยู่มากที่สุด… เมืองไต เคยปกครองตนเองมาก่อนที่อังกฤษจะเข้ามาถึง มีเมืองย่อยๆ รวมทั้งหมด 33 เมือง ปกครองด้วยระบบ “เจ้าฟ้า”

เมืองไตกับชาวพม่า เคยมีการติดต่อค้าขาย และให้ความเคารพซึ่งกันและกันอย่างสันติสุข

มาถึงสมัยกษัตริย์บุเรงนอง เกิดศึกสงครามสู้รบกับเจ้าฟ้าเมืองไต โดยฝ่ายเจ้าฟ้าเมืองไตเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

พ.ศ.2305 ในสมัยพระเจ้าอลองพญา รัฐฉานตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า กษัตริย์พม่าได้ทำการปราบปรามราชวงศ์ ล้มล้างเจ้าฟ้าไทใหญ่จนหมดสิ้น

พ.ศ.2433 อังกฤษยึดเอาเมืองไต สมบูรณ์แบบ

ในรัฐฉาน มีชาวพม่า ชาวจีน ชาวกะชีน ชาวดะนุ ชาวอินทา ชาวปะหล่อง ชาวปะโอ ชาวพม่าเชื้อสายอินเดีย ชาวกะเหรี่ยง ชาวไทลื้อ ชาวคำตี่ ชาวไทดอย ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือพุทธ

รัฐฉาน…มีแม่น้ำสาละวินแสนจะกว้างใหญ่ สามารถปลูกพืชไร่ ผลไม้เมืองหนาวตรงเขตปริมณฑลรอบเมืองตองจี

รัฐฉาน ยังมั่งคั่งด้วยถ่านหินและเหมืองแร่ในเขตขุนเขา ทองคำ ทองแดง ถ่านหิน หยก และอัญมณีระดับโลก

ที่ย่อความ กระชับเรื่องมาทั้งหมดนี้ จะประจักษ์ชัดว่า ในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่า เมียนมานั้น เป็นดินแดนพหุสังคม พหุวัฒนธรรม ที่มี “เจ้าถิ่น” ทั่วทั้งดินแดน มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำท่วมท้น…

นักวิชาการกล่าวว่า…ประเทศพม่าอยู่ภายใต้การต่อสู้ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่รุนแรง กลุ่มชาติพันธุ์มากมายของพม่า มีกองกำลังติดอาวุธ เคยทำสงครามกลางเมืองที่ดำเนินอยู่ยาวที่สุดสงครามหนึ่งของโลก

ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสทำงานเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการของ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ตั้งแต่ท่านเป็นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. 2 ปี มีโอกาสได้ติดตาม จดบันทึกการสนทนาระหว่างผู้นำทางทหารไทย-เมียนมา แบบเจาะลึกแก่นแท้ของปัญหา…

ผู้นำทางทหารของเมียนมา ในเวลานั้นคือ พล.อ.อาวุโส หม่อง เอ พล.อ.ขิ่น ยุนต์ รวมทั้งผู้นำท่านอื่นๆ ทหารและพลเรือน จะบอกเล่าประเด็นปัญหาอย่างตรงไป ตรงมา…เหตุใดจึงยังคงมีการสู้รบในประเทศ และแผนการ (Road Map) ที่จะทำให้เกิดสันติภาพ ความสงบสุข กินดี อยู่ดีของทุกชนเผ่า ผลประโยชน์เท่าเทียมกัน

การสู้รบ การเจรจาพูดคุยเพื่อสันติภาพ ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2563) เพราะทุกพื้นที่ ทุกเผ่าพันธุ์ต้องการบริหารจัดการผลประโยชน์อันมั่งคั่งในดินแดนของตัวเอง

กลุ่มชาติพันธุ์ “ที่ไม่มีงานทำ” นับล้านคน ที่มีชายขอบติดกับประเทศไทย จึงเข้ามาทำงานในไทย

ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้พูดคุย สอบถามแรงงาน จากเมียนมาบางคน ที่เข้ามาทำงานสารพัดชนิดทั่วประเทศไทย ที่มีอยู่นับล้านคน…

ได้รับคำตอบว่า หนูเป็นชาวมอญ ผมเป็นกะเหรี่ยง หนูเป็นพวกไทใหญ่ แต่ทุกคนมาจากเมียนมา

บ้างก็พูดภาษาอังกฤษได้ เพราะเป็น “เผ่ากะเหรี่ยง” ที่เคยอยู่ในการดูแลของฝรั่งอังกฤษ นับถือคริสต์

ตอนที่อังกฤษปกครองแผ่นดินพม่า มีการคัดเลือกชาวกะเหรี่ยง และชนเผ่าอื่นๆ ไปเรียนหนังสือในอังกฤษ เพื่อกลับมาวางรากฐาน สร้างชาติ

Hkakabo Razi ในรัฐกะฉิ่นตอนเหนือ เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในพม่า ติดกับจีน เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหิมะหนาปกคลุมในช่วงฤดูหนาว

28 เม.ย. 2563 อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า สถิติแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน คงเหลือทั่วราชอาณาจักร สัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ขณะนี้มีจำนวนรวม 2,814,481 คน

ตัวเลขที่ “เป็นจริง” ก็ลองค้นหา พูดคุยกันเองนะครับ

ตั้งแต่ปี 2533 ชาวมอญ ที่เข้ามาทำงานในมหาชัยนั้นมีร้อยละ 70-80 ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นคนเชื้อสายอื่น เช่น กะเหรี่ยง คะฉิ่น คะยา ไทยใหญ่ ปะหล่อง และพม่า ทุกคนจะมี “สัญชาติพม่า”

มีแรงงานจากเพื่อนบ้าน เข้ามาทำงานหลายล้านคนในประเทศไทย บ้างก็มีครอบครัว…ทำงานหนัก เป็นคุณ ต่อเศรษฐกิจของไทยมากโข

ลองคิดเล่นๆ ว่า..ถ้าวันนี้ ประเทศไทยไม่มี “แรงงานต่างด้าว” นับล้านคนมาทำงานในประเทศจะเกิดอะไรขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image