บทนำ : แสงไฟบนดอย

บทนำ : แสงไฟบนดอย กรณียูทูบเบอร์ชื่อดัง น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์

บทนำ : แสงไฟบนดอย

กรณียูทูบเบอร์ชื่อดัง น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ พิมรี่พาย จัดกิจกรรม “สุขสันต์วันเด็ก บนดอยไร้แสงไฟ” นำแผงโซลาร์เซลล์ โรงเรือนปลูกผัก และโทรทัศน์ ขึ้นไปมอบให้กับหมู่บ้านแม่เกิบ อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยใช้เงินส่วนตัว สะท้อนภาพการขาดโอกาสของเยาวชนในหมู่บ้านห่างไกลมีความขาดแคลนในด้านต่างๆ อาทิ ไฟฟ้า เด็กๆ ไม่เคยกินไข่เจียว คลิปการทำกิจกรรมได้รับความชื่นชมจากประชาชน มีประชาชนจำนวนมากร่วมบริจาคสนับสนุน ส่วนปฏิกิริยาทางสังคม มีทั้งชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดของพิมรี่พายในทำนองว่าไม่เข้าใจสภาพชนบทอย่างแท้จริง ขณะที่บางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงการเมือง

ต่อมาได้มีนักวิชาการของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. ที่ดูแลพื้นที่ออกมาชี้แจงว่า กศน.และทางราชการได้ดูแลพื้นที่ดังกล่าว พิมรี่พายเข้าใจคลาดเคลื่อนหลายประเด็น เด็กๆ กินไข่เจียวที่เรียกในท้องถิ่นว่าทอดไข่ มีผักกิน มีไฟฟ้าใช้และเข้าถึงการศึกษา ในวันที่ 9 ม.ค. นางวิไลลักษณ์ สุขสาย ผู้อำนวยการ กศน.อำเภออมก๋อย ออกประกาศให้ครูและบุคลากรในหน่วยงานปฏิบัติดังนี้ เช่น ห้ามโพสต์เกี่ยวกับการรับบริจาคทุกช่องทาง ห้ามตอบโต้ผ่านสื่อโซเชียลงดรับบริจาคทุกประเภท ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และต่อมาได้ประกาศยกเลิกประกาศดังกล่าว โดยระบุว่า เนื่องจากมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน

ปัญหาดังกล่าว ได้มีอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาแสดงความเห็นว่า หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีความขาดแคลนจริง แต่ต้องเข้าใจวิถีชีวิตของคนที่อาศัยในสภาพเช่นนั้นด้วย ไม่ควรเอาทรรศนะของคนนอกไปตัดสินโดยเหยียดว่าไม่มีความเป็นอารยะตามความคิดของตนเอง ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดี สำหรับคนจากเมืองใหญ่ ที่นิยมขนข้าวของ อาหารการกินไปมอบให้คนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทำด้วยเจตนาดี เป็นน้ำใจไมตรีระหว่างเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม แต่ก็ควรจะศึกษาทำความเข้าใจไปพร้อมกันว่า ปัญหาที่แท้จริง ความขาดแคลนที่แท้จริงในท้องถิ่นนั้นคืออะไร ส่วนหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรร้อนตัวมองว่าการยื่นมือช่วยจากสังคมภายนอกจะทำให้ทางราชการเสียหน้าหรือเสียหาย แต่ควรสนับสนุนและให้ความรู้ที่ถูกต้อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image