สะพานแห่งกาลเวลา : 20 ปี วิกิพีเดีย โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Wikipedea)

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งเว็บไซต์ที่หลายคนรู้จักกันดีมากๆ เว็บหนึ่งนั่นคือ วิกิพีเดีย

วิกิ เริ่มต้นเมื่อ 15 มกราคม 2001 โดยสองผู้ก่อตั้ง จิมมี เวลส์ กับ แลร์รี แซงเกอร์ เป้าหมายก็เพื่อให้เว็บแห่งนี้เป็น สารานุกรม หรือเอนไซโคลพีเดีย ออนไลน์ ที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

เริ่มต้นด้วยภาษาอังกฤษก่อนในตอนแรก หลังจากนั้นก็ขยายออกไปครอบคลุมกว่า 300 ภาษาทั่วโลกรวมทั้งภาษาไทย

ปัจจุบัน วิกิ ดำเนินการและบริหารจัดการโดย วิกิมีเดีย ฟาวเดชั่น มูลนิธิไม่แสวงกำไรอเมริกัน รายได้หลักที่นำมาใช้จุนเจือการดำเนินงานมาจากการบริจาคเกือบทั้งหมดครับ

Advertisement

ข้อมูลล่าสุดที่วิกิเผยแพร่ออกมาเองก็คือ ทุกวันนี้วิกิมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 55 ล้านเรื่อง อยู่ในรูปของภาษาอังกฤษมากที่สุดคือ 6.2 ล้านเรื่อง ที่เหลือลดหลั่นกันไปตามความนิยมและการบรรณาธิกรของบรรดาบรรณาธิการในภาษาต่างๆ เป็นสำคัญ

แต่ละเดือนมีผู้แวะเวียนเข้าไปค้นหาข้อมูลความรู้ในวิกิพีเดียมากถึง 1,700 ล้านคน นี่นับจากยูนีคไอพี คือไม่มีซ้ำไอพีกันนะครับ ถ้าหากนับทราฟฟิกทั้งหมดคงเยอะมากกว่านี้หลายเท่าตัว

ความทันสมัยอาจเป็นเหตุสำคัญให้วิกิยังคงได้รับความนิยมอยู่ตลอดเวลา เมื่อต้นปีนี้ อเล็กซา ของอเมซอน เว็บไซต์พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดัง จัดอันดับให้ วิกิ เป็น 1 ใน 15 เว็บไซต์ยอดนิยมของโลก ในขณะที่ ดิ อีโคโนมิสต์ นิตยสารการเมืองเศรษฐกิจระดับโลกจากอังกฤษ ยกย่องให้ วิกิ เป็นสถานที่บนเว็บที่มีคนแวะเวียนเข้าไปมากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 13 เลยทีเดียว

Advertisement

โดยหลักการแล้ว วิกิ เป็นสารานุกรมที่ใครเขียนก็ได้ เป็นการเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถร่วมกันจัดทำเนื้อหาในส่วนที่ตนเองรู้เรื่องดี มีแหล่งอ้างอิงที่ดีและศึกษาเรื่องดังกล่าวมาเป็นอย่างดี เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้อื่น ซึ่งก็มีโอกาสเข้ามาช่วย “เติมเต็ม” ในส่วนที่อาจขาดตกบกพร่องหรือคลุมเครือให้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น

การเป็นสารานุกรมที่ทุกคนช่วยกันจัดทำ เป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของวิกิพีเดีย

ข้อดีก็คือ ช่วยให้วิกิมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นที่น่าสนใจได้กว้างขวาง มีคุณภาพมากขึ้นจากความแม่นยำและการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล และทำให้เกิดจุดเด่นที่สุดเหนือสารานุกรมอื่นใดก็คือมีความทันสมัยอยู่ในตัวเองสูงมาก

เมื่อปี 2005 มีการทำวิจัยอย่างเป็นวิชาการเกี่ยวกับเนื้อหาในวิกิ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการเนเจอร์ ผู้ทำวิจัยได้ข้อสรุปว่า วิกิ มีเนื้อหาที่มีคุณภาพเทียบได้กับสารานุกรมชื่อดังระดับโลกอย่าง บริเทนนิกา เลยทีเดียว

ในปี 2006 ไทม์ แม็กกาซีน ตีพิมพ์บทความยกย่อง วิกิ เอาไว้ว่า เป็นเอนไซโคลพีเดียที่ “ใหญ่” ที่สุดในโลก และ “อาจดีที่สุด” ของโลกเลยก็เป็นได้

แต่การช่วยกันจัดทำก็ก่อให้เกิดจุดอ่อนได้เหมือนกัน เช่น ทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอด้านคุณภาพ และปริมาณ กรณีนี้จะยิ่งเห็นได้ชัดหากเปรียบเทียบเนื้อหาในหัวเรื่องเดียวกันของวิกิต่างภาษากัน อย่างเช่น วิกิภาษาอังกฤษ กับวิกิภาษาไทย เป็นต้น

การเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าไปแก้ไขปรับปรุงเนื้อหา อาจก่อให้เกิดข้อมูลที่บิดเบือน หรือเป็นเท็จขึ้น จากความลำเอียงส่วนตัวของผู้เขียน ตัวอย่างเช่น การเปิดให้นักการเมืองเข้าไปเขียนในหัวเรื่องทางการเมือง จะส่อให้เห็นความลำเอียงนี้ได้ชัดเจน หรือทำให้ วิกิพีเดีย ในหัวเรื่องเดียวกัน มีเนื้อหาแตกต่างกัน (บางครั้งถึงขนาดขัดแย้งกัน) ในแต่ละภาษา เพราะความลำเอียงเชิงชาตินิยมเป็นต้น

เพื่อแก้ปัญหานี้ วิกิ พยายามปรับปรุงเชิงคุณภาพของเนื้อหาในปี 2010 เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของเนื้อหาในวิกิพีเดียมากยิ่งขึ้น

เมื่อเกิดปัญหา เฟคนิวส์ ขึ้น หลายฝ่ายก็พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในวิกิ

เมื่อปี 2018 เฟซบุ๊ก กับ ยูทูบ ถึงกับประกาศเลยว่า ผู้จะใช้บริการของตนสามารถตรวจสอบเฟคนิวส์ ได้ด้วยการคลิกลิงก์ในหัวเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะโยงไปถึงหัวเรื่องเดียวกันใน วิกิพีเดีย

อย่างไรก็ตาม ข้อกังขาเรื่องความน่าเชื่อถือก็ยังคงเกิดขึ้นกับวิกิพีเดียในปีนี้มากพอๆ กับเมื่อครั้งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน

ทั้งๆ ที่นี่คือแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ยอดเยี่ยมที่สุดแหล่งหนึ่งเท่าที่มีบนอินเตอร์เน็ตครับ

สัปดาห์หน้าผมขออนุญาตหยิบปัญหานี้มาบอกเล่ากันต่ออีกสักครั้ง พร้อมทั้งข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญว่า ใช้งานวิกิพีเดียอย่างไรถึงจะดีที่สุด?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image