เดินหน้าชน : ระวังครหา โดย นายด่าน

ลองไล่เช็กรายชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ออกมาประกาศทุ่มงบประมาณ จัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 นำมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของตนเอง มียอดเกิน 20 กว่าแห่งแล้ว จากข้อมูลถึงวันที่ 16 มกราคม

ส่วนใหญ่เป็นระดับเทศบาลนคร เทศบาลเมือง ที่มีรายได้ค่อนข้างมาก จึงมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะทุ่มจัดซื้อวัคซีน

รวมตัวเลขที่ อปท. 20 กว่าแห่งประกาศจัดซื้อยอดเกิน 1,000 กว่าล้านบาท

มากที่สุดเป็นเทศบาลนครนนทบุรี 260 ล้านบาท ตามด้วยเทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี 240 ล้านบาท และเทศบาลเมืองชลบุรี 200 ล้านบาท

Advertisement

จากนี้น่าจะมี อปท.ที่มีความพร้อมทยอยประกาศการจัดซื้อวัคซีนออกมาอีก

หลังได้ไฟเขียวจาก รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ อปท.จัดซื้อมาฉีดให้ประชาชนได้ เพียงแต่วัคซีนต้องผ่านมาตรฐาน อย.

การทุ่มงบจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของ อปท. หากมองเรื่องการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีน เป็นการป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

Advertisement

แต่นอกเหนือจากความพร้อมเรื่องงบประมาณที่จะจัดซื้อแล้ว

อปท.แต่ละแห่งต้องประเมินความพร้อม บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล สถานพยาบาลที่จะต้องมารับผิดชอบดูแล การฉีด การติดตามผลหลังจากฉีดไปแล้ว

โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นแก่คนที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว

รวมทั้งจะต้องวางระบบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากการฉีด

เพราะจากการประชุมนัดแรกของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้ออกมาย้ำว่าจะต้องมีการเยียวยา เช่น ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีค่าทดแทนผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีน

อีกสิ่งที่จะต้องเคลียร์ให้ชัดจะไม่มีปัญหาภายหลัง คือ ประเด็นเรื่องของระเบียบ กฎหมาย ที่จะมารองรับ อปท.สามารถใช้งบประมาณจัดซื้อได้หรือไม่

เพราะต้องยอมรับว่าโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบันครอบคลุมไหม

ส่วนข้อครหาเรื่องการหวังผลทางการเมืองท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ราวปลายเดือนมีนาคมนี้ คงหลีกเลี่ยงได้ยาก

แต่หากมีเจตนาดีที่จะช่วยประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนโควิด น่าจะเป็นที่ยอมรับได้

การจัดซื้อวัคซีนค่อนข้างมีความคาบเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น

แต่หากมีการนำเรื่องการจัดซื้อวัคซีนโควิดไปเป็นนโยบายหาเสียงได้ ตามที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 15 มกราคมว่า

หากเป็นนโยบายที่จะทำประโยชน์เพื่อท้องถิ่นก็สามารถจะทำได้ ไม่เข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจูงใจให้เลือก ไม่เหมือนกับประกาศว่าจะยกเงินเดือนทั้งเดือนให้

ท้ายที่สุดแล้ว หาก กกต.ยังยืนยันตามนี้ การจัดซื้อวัคซีนโควิดแจกประชาชน คงไม่พ้นข้อครหา ทำให้เกิดความได้เปรียบ

โดยเฉพาะผู้ที่ยังอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันและเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งต่ออีกสมัย

ที่สำคัญจะทำให้เจตนาการซื้อวัคซีนของ อปท.อาจถูกมองว่า กลายเป็นเรื่องของการหวังผลการรักษาเก้าอี้

มากกว่าการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนก็เป็นได้

จากนี้คงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีแนวทาง หลักเกณฑ์อะไรออกมา

เพื่อให้การจัดซื้อวัคซีนของท้องถิ่นเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นที่ยอมรับ ไร้ข้อครหาต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image