2 พ่อลูกที่น่าพิศวง โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

เนื่องจากผู้เขียนได้สอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมาหลายปีและได้อ้างถึงบุคคลสำคัญทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาชื่อนายโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ (Oliver Wendell Holmes) เสมอเนื่องจากท่านเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงคือ เป็นทั้งอาจารย์สอนกฎหมายแล้วก็เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ท่านได้พูดได้เขียนเรื่องกฎหมายที่สำคัญเอาไว้มากขนาดที่ว่า ถ้าใครเรียนกฎหมายที่สหรัฐอเมริกาแล้วไม่รู้จักโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ แล้วก็แสดงว่าโกหกเหมือนกับเรียนกฎหมายเมืองไทยแล้วไม่รู้จักกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ฯ นั่นแหละครับ

โอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ เกิดเมื่อ พ.ศ.2384 (สมัย ร.3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เรียนจบสาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พอจบแล้วก็ไปสมัครเป็นทหารบในสงครามกลางเมือง ได้เข้าสมรภูมิที่สำคัญๆ หลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึง 3 ครั้ง จนสงครามเลิกก็ได้ยศเป็นพันโท หลังจากนั้นก็กลับมาเรียนกฎหมายที่ฮาร์วาร์ดอีก (การเรียนแพทย์และกฎหมายนี้พวกฝรั่งถือเอาวุฒิภาวะเป็นหลักสำคัญ เพราะฉะนั้นคนจะเรียน 2 สาขานี้ต้องไปเรียนปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ให้จบเสียก่อนจึงจะมาเรียนแพทย์ หรือกฎหมายได้ ไม่เหมือนประเทศไทยที่ใหเด็กที่จบมัธยมมาเข้าเรียนได้เลย) เมื่อเรียนจบแล้วเขาได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องกฎหมายมหาชนแล้วก็เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่เนืองๆ จนได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ฮาร์วาร์ดเขาสอนอยู่หลายปีจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่อยู่หลายปีจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานศาลฎีกา จนกระทั่ง พ.ศ.2445 ก็ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลท์ให้เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกา ก่อนอื่นต้องขออนุญาตอธิบายเรื่องการศาลของสหรัฐอเมริกาเสียก่อน เพราะไม่เหมือนของเมืองไทยเรา คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยมลรัฐ 50 มลรัฐหรือ 50 ประเทศ ซึ่งแต่ละมลรัฐก็จะมีรัฐธรรมนูญ มีผู้ว่าการรัฐ (ก็เหมือนกับประธานาธิบดีมีอำนาจเฉพาะในขอบเขตมลรัฐเท่านั้น) มีสภานิติบัญญัติของมลรัฐ (ก็เหมือนรัฐสภาของสหรัฐ สามารถออกกฎหมายมาใช้บังคับในขอบเขตของมลรัฐ) แล้วก็มีระบบศาลของมลรัฐเหมือนกับประเทศทั่วไป เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นคดีระดับประเทศ จึงต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลสหรัฐ สำหรับศาลฎีกานี่มีหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยศาลฎีกาของแต่ละมลรัฐก็มีหน้าที่ดูแลรัฐธรรมนูญของมลรัฐนั้นๆ ส่วนศาลฎีกาสหรัฐก็ทำหน้าที่ดูแลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา โดยตามศักดิ์ของกฎหมายแล้วรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาสูงกว่ารัฐธรรมนูญของมลรัฐ แต่ถ้าไม่มีอะไรขัดแย้งกันก็จะไม่มีการก้าวก่ายกันอย่างเด็ดขาด คดีความกว่า 80% นั้นเป็นเรื่องภายในของแต่ละมลรัฐเท่านั้น ถ้ามีการข้ามเขตแดนของมลรัฐแล้วรัฐบาลสหรัฐฯ จึงจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น มีโจรปล้นในรัฐอิลลินอยส์แล้วหนีข้ามไปฆ่าคนตายที่รัฐเคนตักกี อย่างนี้พวก เอฟ.บี.ไอ.จึงมีสิทธิตามจับได้ หากโจรคนนี้ยังวนเวียนอยู่แต่ในรัฐอิลลินอยส์แล้วรัฐบาลสหรัฐจะเข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้

เนื่องจากโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ เคยเป็นทหารที่ได้รบจริงๆ จึงได้พบเห็นและรับรู้ความโหดร้าย และสยดสยองของสงครามจึงต้องมองโลกในแง่ความจริง งานเขียน งานพูดของโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ จึงล้วนแล้วเรื่องหนักๆ ทั้งนั้น วิชาการลึกๆ แต่สไตล์การเขียนการพูดของโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์นั้นฟังง่าย งดงาม ท่านไปบรรยายเรื่องกฎหมายจารีตประเพณี (The Common Law) ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของบรรดาประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ พอบรรยายเสร็จเขาก็เอาไปรวมเล่มพิมพ์เป็นตำราเรียนของโรงเรียนกฎหมาย ปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นหนังสือคลาสสิกที่นักเรียนกฎหมายทุกคนต้องอ่านเลยทีเดียว

โอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐที่ได้รับฉายาว่า “นักค้านผู้ยิ่งใหญ่ – The Great Dissenter” เนื่องจากท่านมักจะค้านคำตัดสินของศาลฎีกาเสียงข้างมาก เพราะว่าท่านเป็นคนที่ล้ำสมัย ไม่ใช่ทันสมัยหรือสมสมัยนะครับ ท่านล้ำหน้าเขาไปเลย เช่น การค้าขายข้ามมลรัฐนั้นบางมลรัฐออกกฎหมายห้ามไม่ให้สินค้าที่ใช้แรงงานเด็กของมลรัฐเข้ามาขายในรัฐของตัวเองเพราะว่าการใช้แรงงานเด็กนั้นผิดกฎหมายรัฐบาลกลาง ซึ่งเสียงข้างมากตัดสินว่ากฎหมายอย่างนี้ละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่โอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ ค้านว่าทีสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รัฐสภาสหรัฐยังออกกฎหมายมาห้ามการขนส่ง หรือนำไปขายข้ามมลรัฐได้ แถมศาลฎีกาสหรัฐก็รับรองว่าใช้บังคับได้ มันค้านกันนี่นา

Advertisement

ซึ่งข้อค้านของโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ ซึ่งมีอยู่นับร้อยคดีนั้น ส่วนใหญ่ได้รับความสนใจและแก้ไขไปตามความเห็นของท่านแทบทั้งหมดแล้วในปัจจุบัน จะว่าท่านไม่แน่ได้ยังไง

โอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ ตายที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ พ.ศ.2478 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

คราวนี้ก็มาแปลกใจที่มีนายโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นพ่อของผู้พิพากษาโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนเพิ่งทราบเรื่องนี้เมื่อ 10 กว่าปีมานี้เองและดูเหมือนจะดังกว่าลูกชายเสียอีกในสมัยของเขาคือนายแพทย์โอลิเวอร์นั้นเกิดเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2352 ซึ่งตรงกับปีที่ 2 ของรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Advertisement

คุณหมอโอลิเวอร์นี่ท่านประสบความสำเร็จทั้งงานอาชีพคือ การเป็นหมอและงานอดิเรกคือ การเป็นนักเขียน กล่าวคือ การเป็นหมอท่านก็คือ ในช่วงท่านไปเป็นอาจารย์หมอที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด (บรรดาคณะวิชาที่เป็นวิชาชีพนี่ฝรั่งเขาเรียกเป็นโรงเรียนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนวิศวกร ส่วนที่เป็นวิชาการเขาเรียกว่า วิทยาลัย-College)

หมอโอลิเวอร์เขียนบทความเรื่อง The Contiguousness of Puerperal Fever-การติดต่อของการเป็นไข้หลังคลอด ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยทางการแพทย์ของท่าน ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อที่มีสาเหตุจากแบคทีเรียส่งผลให้โลหิตเป็นพิษ เขาได้แนะนำให้บุคลากรในโรงพยาบาลล้างมือในสารละลายที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบก่อนดูแลหญิงที่เพิ่งคลอดลูกแต่เชื่อไหมครับ ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้เลยจนกระทั่งหลุยส์ ปาสเตอร์ได้พัฒนาเป็นการฆ่าเชื้อวิธีปาสเตอร์ (Pasteurization) ขึ้นมาในภายหลัง ทำให้ทางวงการแพทย์ของอเมริกาถือว่าเป็นงานวิจัยทางการแพทย์ของหมอโอลิเวอร์เป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญชิ้นแรกของโลกใหม่เลยทีเดียว

นอกจากนี้ คุณหมอโอลิเวอร์ยังเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จมากในสมัยนั้น มีผู้ติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก หมอโอลิเวอร์ท่านเขียนบทความเชิงวิชาการแบบทีเล่นทีจริงประสบความสำเร็จมากทีเดียว ท่านเขียนบทความเป็นชุดๆ ที่ดังมากเป็นเรื่องแรกคือ The Autocrat of Breakfast Table แค่ชื่อเรื่องก็มันส์แล้ว เรื่องนี้พิมพ์รวมเล่มเมื่อหมอโอลิเวอร์อายุได้ 41 ขวบก็กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับทันที หมอโอลิเวอร์เขียนเรื่องอย่างนี้จนตายนะแหละครับเรื่อง Over the Teacups ตีพิมพ์เมื่อหมอโอลิเวอร์อายุ 80 ปีเข้าไปแล้วก็ยังแสดงว่าหมอโอลิเวอร์ยังมีไฟแรงอยู่

หมอโอลิเวอร์ก็พยายามเขียนนวนิยายเหมือนกันนะครับ แต่ไม่ค่อยดังเท่ากับการเขียนบทความทางวิชาการเบาๆ แต่ก็พอขายได้ ไม่ถึงกับขายดีแบบรวมบทความเลยเสียทีเดียว

หมอโอลิเวอร์ เขียนหนังสือเยอะครับ รวมทั้งพวกโคลงกลอนต่างๆ ด้วยที่ดังมากๆ คือ Old Ironsides และ The Chambered Nautilus หมอโอลิเวอร์ ตายเมื่อ พ.ศ.2437 ก็ราวๆ กลางสมัยรัชกาลที่ 5 สิริอายุได้ 85 ปี จัดว่าอายุยืนทีเดียว

สาเหตุที่ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะว่าได้รับมอบหมายให้เขียนศัพท์สารานุกรมประวัติศาสตร์อเมริกาเรื่องโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ นี่แหละ จึงพบว่าโอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ นั้น มี 2 คน เป็นพ่อลูกกัน แถมเล่นพิเรนทร์ตั้งชื่อเหมือนกันเลยทุกตัวอักษร ไม่มีคำว่า Junior ต่อท้ายคนลูกเสียด้วย (ฝรั่งมักจะใช้คำว่า จูเนียร์ ที่แปลว่าน้อยตั้งชื่อลูกชายคนโตเหมือนนักมวยไทยสมัยก่อนอาทิ วิชาญน้อย อภิเดชน้อย ฯลฯ แบบว่าเรียกชื่อกันครั้งเดียว ต้องขานรับกันทั้งพ่อทั้งลูก ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลกดี และน่าสนใจ จึงขอแชร์กับท่านผู้อ่านที่เคารพด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image