บทนำ : ร่วมมือ-ไม่ร่วมมือ

บทนำ : ร่วมมือ-ไม่ร่วมมือ แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ยังคงตกเป็นประเด็นข่าว

บทนำ : ร่วมมือ-ไม่ร่วมมือ

แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ยังคงตกเป็นประเด็นข่าวอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนโหลดไปใช้ เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงในการติดเชื้อ และเกิดข้อสงสัยหวาดระแวงว่าการใช้แอพพ์ดังกล่าวจะละเมิดสิทธิล้วงเอาข้อมูลส่วนตัวไป ขณะที่กลุ่มผู้พัฒนาซึ่งเป็นทีมอาสาออกมายืนยันว่า วัตถุประสงค์ของการสร้างแอพพ์หมอชนะขึ้นมาก็เพื่อให้ภาคประชาชนมีเครื่องมือตรวจสอบความเป็นไปได้และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

หลังจากมีการประชาสัมพันธ์แอพพ์หมอชนะมาระยะหนึ่ง และมีผู้เข้ามาโหลดแอพพ์ไปใช้ก็ปรากฏข่าวจากกลุ่มผู้พัฒนาแอพพ์หมอชนะที่ออกมาเปิดเผยความเป็นมาว่า เดิมมีเจตนาที่จะสร้างแอพพ์เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยมีสีต่างๆ แทนความเสี่ยง เริ่มจากเขียวคือเสี่ยงต่ำมาก และสีแดงที่ติดเชื้อ แต่ภายหลังได้ปรากฏมีการทำแอพพ์ขึ้นมาหลอกลวงผู้คน ทำให้เกิดมาตรการป้องกัน โดยระบุว่าแอพพ์ที่ทำขึ้นต้องได้รับการรับรองจากภาครัฐ แอพพ์หมอชนะจึงโอนไปให้รัฐบาลดูแล แต่แล้วได้เกิดข้อสงสัยว่า วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ภาคประชาชนมีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากภาครัฐมีแนวโน้มที่อยากให้แต่ละคนอยู่ในกลุ่มสีเขียวหรือเสี่ยงต่ำ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวชี้แจงว่า แอพพ์ดังกล่าวมีการพัฒนามาเป็นลำดับ กลุ่มผู้พัฒนาตั้งใจตั้งแต่แรกที่จะส่งมอบแอพพ์หมอชนะให้รัฐบาล และเมื่อมีผู้โหลดใช้แอพพ์จำนวนมาก จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการระยะยาว มีบุคลากรที่ทำงานประจำเข้ามาเสริม ส่วนทีมพัฒนาอาสาเดิมได้ขยับไปเป็นที่ปรึกษาโครงการ

Advertisement

ประเด็นที่ทำให้กังวลคือการใช้แอพพ์ดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์เดิม คือเป็นกลไกของภาคประชาชนในการตรวจสอบความเสี่ยงการติดเชื้อได้หรือไม่ เพราะถ้าเป็นไปตามข้อห่วงใย คือการกรอกข้อมูลความเสี่ยง เน้นที่ “สีเขียว” คือเสี่ยงต่ำมากๆ ในขณะนี้มีกลุ่มสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง เกิดขึ้น ผลที่ติดตามมาย่อมกระทบต่อวัตถุประสงค์เดิมที่กลุ่มพัฒนาอาสาสมัครวางเอาไว้

การที่ภาครัฐนำเอาผลิตผลจากภาคประชาชนมาดำเนินการแล้วเกิดข้อครหาในเชิงคุณภาพ อาจจะกระทบต่อภาพรวมของนโยบาย “รวมไทย สร้างชาติ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้น กรณีแอพพ์หมอชนะที่กำลังดำเนินการอยู่ เมื่อทางการมีทีมและงบประมาณดำเนินการ ประสิทธิภาพต่างๆ จึงควรเกิดขึ้นและเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่าเมื่อภาคประชาชนคิด ภาครัฐรับช่วงต่อ จะก่อเกิดประสิทธิภาพต่อบ้านเมืองมากขึ้นกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image