ปฏิรูปครู เหลวเพราะการเมือง โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

วันครูประจำปี 16 มกราคม ผ่านไปแล้วก็ตาม แต่คงไม่สายเกินไปที่จะพูดถึงเรื่องของครูอีกครั้ง ไม่ใช่ครูเป็นรายบุคคล แต่ว่าด้วยระบบการผลิตและพัฒนาครู รวมความก็คือ การปฏิรูปครู คานงัดสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปราศรัยในโอกาสวันครู โชว์คำขวัญ “ครูวิถีใหม่ ใส่ใจดิจิทัล สร้างสรรค์คุณธรรมประจำชาติ” สำนวนลีลาสมสมัยยุคไฮเทค แต่รวมความแล้วเป็นการเรียกร้องต่อครูรายบุคคล ให้เร่งปรับปรุงพัฒนาตัวเอง

ครูยุคใหม่ต้องเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงศาสตร์สาขาต่างๆ ครบถ้วน เป็นคนดี มีคุณธรรม และจริยธรรม รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีมาตรฐานวิชาชีพในระดับสากล

ประเด็นอยู่ที่ว่า นอกจากเรียกร้องกับครูรายบุคคล ซึ่งพูดอย่างไรก็ถูกทุกทีแล้ว จะพัฒนาครูอย่างไร โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงระบบ กับ บทบาทของฝ่ายนโยบาย ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร

Advertisement

ถ้าติดตามตั้งแต่แรก ยุครัฐบาล คสช. ก่อนคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กปศ.) จะครบวาระ 2 ปี เมื่อพฤษภาคม 2562 ได้เสนอต่อรัฐบาลให้ดำเนินการเรื่องสำคัญ 7 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของประเทศและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู

เส้นทางวิชาชีพครูมีความก้าวหน้า ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม ส่งเสริมองค์กรวิชาชีพครูและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีกองทุนผลิตและพัฒนาครู สุดท้าย คือ การผลิตครูระบบปิด

ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาชุดใหม่ได้เสนอเรื่องสำคัญเร่งด่วน (Big Rocks) ให้ดำเนินการ หนึ่งในนั้น ได้แก่ สร้างระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ

ก่อนหน้านั้น ในระดับปฏิบัติการมีโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (คุรุทายาท) ซึ่ง ครม.อนุมัติในหลักการ 10 ปี อนุมัติงบประมาณระยะเริ่มต้น 2 ปี คัดเลือกนักเรียน นักศึกษาเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 เข้าโครงการศึกษาระดับปริญญาตรีในสถานศึกษาอุดมศึกษา หลักสูตร 5 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต)

จัดตั้งศูนย์ TEPE Online ภาค จำนวน 9 ศูนย์ จัดหลักสูตรพัฒนาครู Online ให้เลือกเพื่อเสริมความรู้เพื่อขอมีและขอเลื่อนวิทยะฐานะ เมื่อเรียนครบ 9 หลักสูตร

โครงการที่ฮือฮาสุด เห็นจะได้แก่ การแจกคูปองครูหัวละหมื่นให้เลือกหลักสูตรที่ต้องการพัฒนาตัวเองตามถนัด ซึ่งดำเนินการได้ 2 ปีก่อนหยุดไป เพราะถูกวิจารณ์มากว่าเป็นไปเพื่อความก้าวหน้าของครูมากกว่านักเรียน

ถึงรัฐบาลล่าสุดหลังเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 กระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายและจุดเน้นปี 2564 พัฒนาครูให้มีทักษะ ความรู้ และความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์และภาษาอังกฤษ รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ต่อมาประกาศเพิ่มเติมเป็นการศึกษายกกำลังสอง นักเรียนยกกำลังสอง และครูยกกำลังสอง

ความเคลื่อนไหวที่ดำเนินต่อเนื่องมานี้ระดับหลักการแสดงว่า ยอมรับและเห็นความสำคัญของการปฏิรูปครู ทั้งการผลิต การพัฒนาและการใช้ครู

แต่ปัญหาอยู่ที่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ควรจะเป็น กลไก กระบวนการเพื่อรองรับนโยบายที่เคยทำไว้ สิ่งดีๆ โครงการดีๆ ถูกละเลย

กรณีตัวอย่าง นโยบาย การผลิตและพัฒนาครู เห็นชัด

ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประชุมร่วมกันมีมติเห็นชอบให้ตั้งกรรมการร่วมระดับรัฐบาลเพื่อการผลิตและพัฒนาครู ให้ทั้งฝ่ายผู้ผลิต และฝ่ายผู้ใช้ครู ทำงานร่วมกัน วางแผนการดำเนินงาน ประสานการจัดทำและบริหารงบประมาณให้สอดรับกัน รับประกันการมีงานทำ หลังเรียนจบ

ผลิตครูตามความต้องการที่แท้จริง ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างผลิตจนล้นเกิน จบมาแล้วตกงาน เพราะอุปสงค์กับอุปทานไม่สัมพันธ์กัน ผู้ผลิตไปทางหนึ่ง ฝ่ายผู้ใช้ครูก็ไปอีกทาง เป้าหมายสุดท้าย ก็คือ ผลิตครูระบบปิด นั่นเอง

ความเป็นจริงในการดำเนินนโยบายและปฏิบัติ ปรากฏว่า กลไก กระบวนการความร่วมมือดังกล่าว หายเงียบ ไม่มีการสานต่อ ต่างฝ่ายต่างกลับสู่ที่ตั้ง หลังความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น

ความไม่ต่อเนื่องทางนโยบายของฝ่ายการเมือง เป็นปัญหาทำให้แนวทาง นโยบาย มาตรการ กิจกรรม โครงการที่ควรจะเป็นสะดุดหยุดลง หรือหายสาบสูญไป แม้จะเป็นรัฐบาลเดียวกันก็เถอะ ซึ่งอาจไม่ใช่ว่ามองไม่เห็นความสำคัญ แต่ต้องการสร้างนโยบายและผลงานใหม่ๆ เป็นของตัวเอง

สภาพการเมืองทำนองนี้เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ขณะที่ฝ่ายประจำก็ไม่กล้าท้วงติง นำเสนอ ยืนหยัดและยืนยันในสิ่งที่ดีๆ ที่ควรดำเนินการต่อเนื่อง เพราะเกรงอนาคตตัวเองจะสั้น

ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปครู ปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปหลักสูตร เลยยังไปไม่ถึงฝั่ง กลายเป็นงานรูทีนระดับปกติ ไม่มีการเขย่า ยกเครื่องขนานใหญ่

การผลักดันขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การปรับเปลี่ยนเชิงระบบไม่เกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างแท้จริง สุดท้ายก็ต้องมาเรียกร้องเอากับ ครูรายบุคคล ดังคำขวัญวันครู ที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image