เศรษฐกิจจังหวัดที่อิงฐานการเกษตรสูง โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ภคพร วัฒนดำรงค์ เมรดี อินอ่อน

เป็นที่ทราบดีว่าการผลิตสาขาเกษตรลดความสำคัญลงไปมากใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่าเพิ่มการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 8 ในภาพรวม (ณ ปี 2561) แต่เมื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกเป็นรายจังหวัดจะพบความจริงที่ว่า หลายจังหวัดที่ยังคงรักษาฐานการผลิตการเกษตรไว้อย่างเหนียวแน่น อย่างน้อยที่สุดมี 8 จังหวัดที่สัดส่วนมูลค่าการเกษตรสูงกว่า 40% ในผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP=gross provincial products) ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอนำผลวิจัยเล็กๆ ว่าด้วยการวิเคราะห์โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย นำเสนอ 8 จังหวัดที่ยังคงรักษาฐานการเกษตรสูง พร้อมกับข้อสังเกตบางบางประการ

สนง.สภาพัฒน์ ได้จัดทำบัญชีประชาชาติตั้งแต่เริ่มต้น แต่ละปีรายงานสถิติเศรษฐกิจจังหวัดพร้อมแสดงโครงสร้างการผลิตของแต่ละจังหวัด ช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (economic transformation) ของแต่ละจังหวัด นักวิจัยตั้งคำถามว่า มีกี่จังหวัดในประเทศไทยที่ยังมีมีสัดส่วนการเกษตรสูงกว่า 35% ของ GPP ในปี 2561 นำมาแสดงด้วยรูปภาพที่ 1 พร้อมข้อสังเกต คือ มี 5 จังหวัดที่มีสัดส่วนเกษตรสูงกว่า 40% ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร ตราด ระนอง และพิจิตร อีก 3 จังหวัดสัดส่วนการเกษตรในช่วงพิสัย 35-40% ของ GPP (ดูรูปภาพที่ 1)

เพื่อเข้าใจโครงสร้างการผลิตใน 8 จังหวัด เราใช้รูปภาพสามเหลี่ยมแสดงสัดส่วนการเกษตร-อุตสาหกรรม-และการบริการ ใน 8 จังหวัดนี้สัดส่วนของอุตสาหกรรมค่อนข้างต่ำ (น้อยกว่า 10%) ส่วนที่เหลือเป็นสัดส่วนของภาคการบริการ หมายรวมถึงพาณิชยกรรม การขนส่ง การเงิน การบริหาร การศึกษาและสุขภาพ บริการของภาครัฐ เป็นต้น (รูปภาพที่ 2)

Advertisement

เหตุใดยังมีจังหวัดที่รักษาฐานการเกษตรสูงไว้เหนียวแน่น? นักวิจัยสันนิษฐานว่า ก) แต่ละจังหวัดกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมและบริบททางสังคมของตนเอง เช่น ที่ดินและภูมิอากาศเหมาะสมกับการทำการเกษตร ข) การรักษาฐานการเกษตร–มิได้หมายความว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ความจริงมีนวัตกรรมและการพัฒนาการในการเกษตรเกิดขึ้นมากมาย อาทิ การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร การผลิตแบบประณีตโดยไม่ใช้สารเคมี การค้าออนไลน์ส่งผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภครวมทั้งการส่งออก (เช่น ทุเรียน มังคุด) การย้ายฐานการผลิตเช่น ยางพารา ผลไม้ ทุเรียน ฯลฯ ซึ่งในอดีตกระจุกตัวในภาคใต้ และตะวันออก ปัจจุบันกระจายออกไปในหลายจังหวัดภาคเหนือ และอีสาน ค) การที่มีกลุ่มจังหวัดที่รักษาฐานการเกษตรเหนียวแน่น น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม มีคุณลักษณะที่พึงปรารถนาจากการเกษตร อาทิ การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การกระจายรายได้เนื่องจาก
ผู้ประกอบการเกษตรส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก หรือขนาดกลาง การจ้างแรงงานที่ไม่เป็นทางการ คุณลักษณะเช่นนี้อาจจะไม่ได้สะท้อนใน “ผลิตภัณฑ์จังหวัด” นักเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจึงสนับสนุนให้จัดทำ Green GDP เพื่อวัดคุณค่าของดีที่เกิดขึ้นจริง (แต่ว่าไม่ผ่านกระบวนการตลาด) อาทิ การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การเติบโตของทุนในต้นไม้ในคุณภาพที่ดินและอื่นๆ จ) ในยามเศรษฐกิจขยายตัว–ผู้คนจำนวนมากย้ายออกไปทำกิจการ หรือรับจ้างในภาคการท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรรม แต่ในทางตรงกันข้ามยามภาวะเศรษฐกิจท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมซบเซา คนไทยจำนวนนับล้านคนหันกลับมาทำการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานดั้งเดิม ใช้ทักษะการทำเกษตรที่สืบทอดมาจากบรรพบุรษทำมาหากิน ในมุมมองเช่นนี้การเกษตรเป็นทางเลือก หรือเป็นออปชั่นให้สังคมไทยในยามยาก/เศรษฐกิจผันผวน และให้ “ความมั่นคงด้านอาหาร” ต่อสังคมไทย เป็นครัวโลก

8 จังหวัดที่รักษาฐานการเกษตรเหนียวแน่น อาจจะ ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่จังหวัดที่ยากจน (วัดด้วย GPP per capita) จังหวัดจันทบุรีอยู่ในลำดับที่ 15 ของประเทศ ชุมพรลำดับที่ 21 พะเยาลำดับที่ 47 และพิจิตร ลำดับที่ 50 (ดูตารางที่ 1)

Advertisement

งานวิจัยเล็กๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานให้ทุน คือ สกสว. และสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ผู้เขียนขอแสดงความขอบคุณหน่วยงาน/องค์กรที่พัฒนาฐานข้อมูลพื้นฐานจังหวัด หรือประมวลข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) จากครัวเรือน/สถานประกอบการ ช่วยสนับสนุนการวิจัยเพื่อขยายพรมแดนความรู้เศรษฐกิจจังหวัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image