จิตวิวัฒน์ : สมองควอนตัมกับการระลึกชาติ โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

ลองจินตนาการว่าถ้าคุณพาลูกชายอายุสองขวบไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เครื่องบิน หลังจากนั้นสองเดือนถัดมา สิ่งที่ลูกชอบเล่นก็คือเอาเครื่องบินเด็กเล่นมาเล่นบนโต๊ะอาหาร แต่ทุกครั้ง เครื่องบินนั้นบินเอาหัวทิ่มโต๊ะ บางครั้งกระแทกโต๊ะจนเป็นรอย พร้อมกับน้ำเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กเล็ก

“เครื่องบินไฟไหม้ๆ”

และบางครั้งเมื่อภรรยาพาลูกไปส่งคุณที่สนามบิน เจ้าตัวเล็กจะไม่รีรอที่จะบอกอำลาคุณว่า “พ่อครับ เครื่องบินไฟไหม้หมดเลย” ซึ่งนั่นคงจะตามมาด้วยรอยยิ้มแห้งของคุณและเสียงภรรยาเอ็ดลูก

เหตุการณ์เป็นไปแบบนี้และคุณอาจจะคิดว่าเป็นเพียงจินตนาการของเด็ก แต่ต่อมาคุณต้องตื่นขึ้นมากลางดึกสัปดาห์ละอย่างน้อยสองวัน เจ้าลูกชายของคุณหลับฝันละเมอกรีดร้อง แรกๆ เป็นแค่การกรีดร้อง แต่หลังๆ มีการตะโกนว่า

Advertisement

“เครื่องบินชนไฟไหม้ คนตัวเล็กออกมาไม่ได้!”

ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นและเอาขาเล็กๆ ถีบอากาศอย่างน่าเวทนา นอกจากนั้นในเวลากลางวัน เวลาวาดรูป เขาจะวาดรูปเครื่องบินตกซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่าย

เหตุการณ์ดำเนินอยู่ครึ่งปี ทั้งๆ ที่ครอบครัวนี้ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการขับเครื่องบิน ไม่มีบรรพบุรุษคนไหนขับเครื่องบินหรือเป็นนายทหารแต่อย่างใด แต่อยู่มาวันหนึ่ง เด็กชายเจมส์ได้บอกกับพ่อแม่ของเขาว่า เขาเป็นนักบินขับเครื่องบินออกจากเรือลำใหญ่ เมื่อถูกถามว่าเรือชื่ออะไร เขาบอกว่า “นาโทมา” เมื่อยี่สิบปีที่แล้วอินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลาย แต่อย่าลืมว่าความเร็วของอินเตอร์เน็ตในขณะนั้นตามบ้านเรือนทั่วๆ ไปก็เพียงแค่ 56 Kbps ของโมเด็มเท่านั้น นั่นหมายถึงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่ครอบครัวนี้จะทราบว่า
นาโทมา คือชื่อของเรือรบ ยูเอสเอส นาโทมา เบย์ (USS Natoma Bay) และต้องประหลาดใจเมื่อเขาเริ่มเล่าว่า ตนเองเป็นกัปตันที่เสียชีวิตเพราะเครื่องบินถูกยิงตกในสงครามโลกครั้งที่สอง ในการรบกับญี่ปุ่น โดยสามารถบอกชื่อเพื่อน และรายละเอียดอื่นๆ ราวกับอยู่ในเหตุการณ์

เมื่อเรื่องนี้รู้ไปถึงสื่อก็มีการช่วยสืบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว และในที่สุดก็ได้ค้นพบนักบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งมีรายละเอียดเกือบทุกอย่างตรงกับที่เจมส์ได้บอกเอาไว้ และน่าประหลาดอย่างยิ่งที่เขาคนนี้มีชื่อว่า เจมส์ เอ็ม ฮัสตัน จูเนียร์ แต่เรื่องที่น่าตกใจก็คือ ลายเซ็นที่เจมส์เซ็นลงในภาพวาดเครื่องบินตกของเขา ใช้คำว่า เจมส์ 3 ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึง เขาคือเจมส์คนที่ 3 เพราะเจมส์ ฮัสตัน (James Huston) คือเจมส์คนที่สอง เพราะใช้คำว่าจูเนียร์ตามพ่อของตนเอง คำถามก็คือเขารู้เรื่องทั้งหมดนี้ได้อย่างไร? หรือนี่จะเป็นเคสของการกลับชาติมาเกิดอย่างที่คนไทยเรารู้จักกันดี

เหตุการณ์นี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดจนเกินไปนัก ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองไทย ซึ่งสังคมวัฒนธรรมทำให้เราคุ้นเคยกับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด แต่สำหรับเจมส์ซึ่งเกิดในครอบครัวชาวคริสต์โปรเตสแตนต์ อาศัยอยู่ที่หลุยเซียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่คนเชื่อตามขนบสังคม
ผมเป็นคนที่สนใจในการเชื่อมโยงเรื่องดังกล่าวกับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังไม่เจอคำอธิบายที่น่าพอใจนัก จนกระทั่งมิตรสหายได้แนะนำให้รู้จักกับงานของ เซอร์โรเจอร์ เพนโรส (Roger Penrose) กับ ดร.สจ๊วต แฮมเมอรอฟ (Stuart Hameroff) ที่อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างปรากฏ
การณ์ทางควอนตัมกับสมองไว้อย่างน่าสนใจ และยังอาจจะเปิดไปสู่คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องปรากฏการณ์ที่เรารู้สึกว่าอยู่นอกเหนือของเขตของวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่องของการระลึกชาติได้ด้วย

เราต่างก็ทราบดีว่าในปัจจุบัน มีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องจิตแยกเป็นสองแบบใหญ่ๆ ด้วยกัน โดยในสายวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเชื่อว่าจิตไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าปรากฏการณ์ทางไฟฟ้าในสมองเท่านั้น ส่วนสายจิตวิญญาณก็เชื่อว่าจิตไม่ได้อยู่ในสมอง แต่จิตเป็นสิ่งที่ไม่ใช่สสารและอยู่เหนือโลกทางกายภาพที่จะอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ในคำอธิบายที่สามของเซอร์เพนโรส กับแฮมเมอรอฟ อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเชื่อมโยงคำอธิบายทั้งสองแบบเข้าไว้ด้วยกัน

พวกเขาทั้งสองได้นำเสนอทฤษฎีที่อธิบายว่า ในเซลล์นิวรอนของสมองมีองค์ประกอบที่เรียกว่า ไมโครทูเบียล (Microtubule) ซึ่งถูกสร้างจากโปรตีนทูบูลิน (Tubulin) สองชนิดที่มีการจัดเรียงตัวและสลายตัวอยู่ตลอเวลา ทั้งคู่อธิบายว่าการจัดเรียงตัวแบบมีพลวัตของไมโครทูเบียล มีผลทำให้เกิดสภาวะทางควอนตัม เช่นเดียวกับคำอธิบายเรื่องแมวของชเรอดิงเงอร์ (Schrodinger’s cat) นั่นหมายถึงเราจะไม่สามารถบอกได้ว่า ขณะนั้นสภาวะภายในไมโครทูเบียลเป็นอย่างไร จนกว่าจะเกิดการเลือกหรือยุบคลื่นควอนตัม สภาวะย่อยๆ ของการเลือกที่เกิดขึ้นในไมโครทูเบียลนี่เอง สามารถถูกชักนำได้ที่บริเวณจุดประสานประสาท (ไซแนปส์) ใน
นิวรอน การชักนำดังกล่าวนี่เองที่เขาเรียกว่า Orchestrated objective reduction หรือ Orch OR (ผมขอเรียกมันว่า การลดทอนสภาวะแบบสสังขาริก ก็แล้วกัน) กระบวนการที่ว่านี้เองเป็นที่มาของสิ่งที่ทางตะวันตกเรียกว่าเป็น จิตสำนึก ส่วนทางศาสนาก็มักนิยามคำนี้ว่าเป็น “จิต” สิ่งที่น่าแปลกก็คือ ในคำอธิบายของพุทธศาสนา ได้อธิบายเรื่องจิตว่ามีลักษณะของการเกิดดับ “แสนโกฏิขณะในชั่วลัดมือเดียว” และในพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทกล่าวไว้ว่า ในหนึ่งวัน จิตจะเกิดดับถึง 6,480,000 ครั้ง หมายถึงหนึ่งครั้งจะกินเวลาประมาณ 13.3 ms ซึ่งคิดเป็นความเร็ว 70 Hz ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายของทั้งสองที่บอกว่าคลื่นสมอง เช่น ที่วัดได้จากเครื่อง EEG นั้น เบื้องลึกก็เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตของไมโครทูเบียลนั่นเอง

และเนื่องจากคำอธิบายนี้กำลังได้รับการตรวจสอบโดยการทดลอง แต่ก็มีหลักฐานเบื้องต้นยืนยันว่าในสภาวะควอนตัมมีอยู่ในไมโครทูเบียลจริง ถึงแม้ว่าจะมีผู้แย้งว่า สมองของเรามีอุณหภูมิสูงเกินไปที่จะก่อให้เกิดสภาวะเช่นนั้น แต่การทดลองยืนยันว่าเกิดขึ้นได้ และการทดลองเรื่องการใช้ยาชา ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่าเมื่อเกิดอาการชา ไมโครทูเบียลในสมองบางส่วนจะไม่ทำงาน จึงไม่สามารถรับรู้ความเจ็บปวดใดๆ ในขณะที่อวัยวะส่วนต่างๆ ยังคงทำงานไปตามปกติ คำอธิบายนี้ยังช่วยตอบคำถามที่ว่าเพราะเหตุใดสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างไฟซารัม จึงสามารถออกจากเขาวงกตหรือแก้ปัญหาได้ หรือพารามีเซียมสามารถว่ายน้ำ, หาอาหาร, หาคู่สืบพันธุ์, เรียนรู้, จดจำ และมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยปราศจากจุดประสานประสาทแม้แต่จุดเดียว เพราะในสัตว์เซลล์เดียวก็มีโครงข่ายของไมโครทูเบียลที่ซับซ้อนด้วย

สิ่งที่น่าสนใจต่อไปอีกก็คือ ถ้าในสมองของคนเรามีสภาวะควอนตัม หลักการที่เกี่ยวกับควอนตัมก็ต้องนำมาอธิบายปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดต่างๆ ได้ เช่น ปรากฏการณ์ของการพัวพันในทางควอนตัม ที่อนุภาคหนึ่งสามารถส่งผลถึงอีกอนุภาคหนึ่งได้โดยไม่คำนึงถึงระยะห่างระหว่างกัน จะเป็นไปได้ไหมที่เรื่องของหนูน้อยเจมส์ที่ระลึกชาติได้เกิดจากการพัวพันในทางควอนตัมในสมองในลักษณะที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังหาคำอธิบาย
ไม่ได้ หรือการที่บางคนมีสัมผัสที่ 6 รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะเกิดขึ้น ที่เรียกว่าลางสังหรณ์ หรือบางคนรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนบางคนได้แม้ว่าจะอยู่คนละสถานที่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผมมองว่าการค้นพบครั้งนี้ของเขาทั้งสอง น่าจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับเรา อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการวิภาษวิธีระหว่างวัตถุนิยมและจิตนิยม และมีทางเลือกที่สามเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการบอกกับเราว่า ยังไม่ควรที่จะปักใจเชื่อในด้านใดด้านหนึ่ง และ “เผื่อใจ” ไว้ว่าอาจจะมีคำอธิบายอื่นๆ ที่มีเหตุผลต่อเรื่องที่เราคิดว่าไม่มีเหตุผลก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image