สะพานแห่งกาลเวลา : ความน่าเชื่อถือของวิกิพีเดีย โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Wikipedia/CC BY-SA 4.0)
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมบอกเล่าถึงความเป็นมาและปัญหาที่เกิดขึ้นกับ วิกิพีเดีย สารานุกรมออนไลน์ที่ครอบคลุมมากที่สุดในเวลานี้ แล้วทิ้งท้ายเอาไว้ตรงที่ว่า ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี วิกิ ก็ยังถูกตั้งคำถามสำคัญอยู่อย่างต่อเนื่อง

นั่นคือ ข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์นี้ ถูกต้องแม่นยำแค่ไหน? และนำไปใช้อ้างอิงได้มากแค่ไหน?

ผมเองใช้งานวิกิพีเดียอยู่บ่อยๆ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า วิกิพีเดีย มีความทันสมัย ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า วิกิ จะถูกต้องเสมอไปครับ

Advertisement

ผู้ที่สนใจติดตามและตรวจสอบวิกิพีเดียอยู่เสมอ พบว่ามีไม่น้อยที่ข้อมูลในสารานุกรมออนไลน์แห่งนี้ สร้างความเข้าใจไขว้เขวขึ้นตามมา

แม้แต่ มาร์ติน รัลช์ บรรณาธิการอาสาของวิกิในภาคภาษาเยอรมันมานานกว่า 15 ปี ยังยอมรับถึง “คุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ” ของ วิกิพีเดีย

ข้อมูลของวิกิพีเดียในภาษาที่ต่างกันแม้จะเป็นหัวเรื่องเดียวกัน ก็มีความต่างของเนื้อหาให้เห็นอย่างเด่นชัด นั่นเพราะแต่ละภาษาเขียนขึ้นโดยบุคคลที่แตกต่างกัน ด้วยบริบทที่ไม่เหมือนกัน แยกออกจากกันเป็นเอกเทศครับ

บรรณาธิการอาสาสมัครของวิกิในแต่ละภาษา ก็มีศักยภาพแตกต่างกันอีกด้วย

การปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ แม้จะเป็นจุดแข็งของวิกิ แต่ก็ทำให้เกิดจุดอ่อนได้เช่นกัน เพราะทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอของเนื้อหาขึ้น มาตรฐานของผู้แก้ไขแต่ละครั้งแต่ละคน ย่อมแตกต่างกันอีกด้วย

ที่ผ่านมา วิกิ พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการทำลิงก์เชื่อมโยงไปยังแหล่งข้อมูลอ้างอิง เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ตรวจสอบได้ และตัดสินใจได้ว่า ควรเชื่อถือข้อมูลนั้นๆ มากแค่ไหนเมื่อพิจารณาจากแหล่งอ้างอิงนั้นๆ

นี่ยังไม่นับถึงการครอบงำเนื้อหาทางการเมืองโดยนักการเมืองหรืออื่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพและความถูกต้องของเนื้อหาไม่น้อย

ดังนั้น เราจะเห็นว่า เนื้อหาบางเรื่องบางประเด็น จะถูกจำกัดการเข้าไปแก้ไข หรือไม่ก็ห้ามแก้ไขเลยก็มี

มาร์ติน รัลช์ บอกว่า โดยหลักการแล้ว วิกิ พยายามให้เนื้อหาของตนมีความเป็นกลางให้มากที่สุด หากไม่สามารถทำได้ ก็จะแสดงทรรศนะที่มีต่อเรื่องนั้น ประเด็นนั้นให้หลากหลายมากที่สุด สำหรับให้ผู้ใช้ได้พิเคราะห์ตัดสินใจ

เนนยา วอลเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแหล่งข้อมูลออนไลน์ ของ มูลนิธิเพื่อโอกาสทางดิจิทัล (Digital Opportunities Foundation) ในประเทศเยอรมนี ให้คำแนะนำเรื่องการใช้งานวิกิไว้น่าสนใจมากทีเดียวครับ

เธอบอกว่า ผู้ใช้ ควร “ใส่ใจ” ในความเป็นกลางของข้อมูลและความเห็นในเนื้อหาที่แสดงออกไว้ให้มาก ดูด้วยว่าเนื้อหาในแต่ละชิ้นของวิกินั้น ให้ภาพโดยรวมเอาไว้ และให้ทรรศนะในแง่มุมที่แตกต่างกันเอาไว้
หรือไม่

เมื่อพบว่าเนื้อหามีการแสดงออกถึงความเห็นในด้านหนึ่ง ผู้ใช้ก็ควรมองหาความเห็นในเรื่องเดียวกันในอีกด้านหนึ่งของเรื่องเดียวกันนั้นด้วย

ที่สำคัญก็คือ อย่าลืมตรวจสอบด้วยว่า แหล่งอ้างอิงที่วิกิพีเดียนำมาใช้เพื่อสรุปไปสู่ความเห็นนั้นๆ เชื่อถือได้หรือไม่

ที่สำคัญก็คือ ผู้ใช้ต้องไม่ลืมตลอดเวลาว่า เนื้อหาของวิกินั้นเขียนโดยผู้เขียนหลายคน บางครั้งอาจต่างกรรมต่างวาระกัน แล้วต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ข้อมูลและเนื้อหาเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมาก

นักวิชาการหลายคน เมื่อจำเป็นต้องอ้างอิงข้อมูลในวิกิพีเดีย มักใส่ข้อมูลประกอบเอาไว้ด้วยเสมอว่า ได้จากการสืบค้นเมื่อวันเวลาไหน เพราะข้อมูลในวิกิมีการแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอนั่นเอง

วอลเบอร์ส ระบุว่า วิธีที่ดีที่สุดในการใช้วิกิก็คือ ต้องไม่ถือว่าข้อมูลในวิกิเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง “ถึงที่สุด” แล้ว แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการค้นหาจากแหล่งอื่นๆ มาเปรียบเทียบด้วยเท่านั้นเอง

เธอบอกว่า สำหรับเธอแล้ววิกิให้ภาพรวมของเรื่องทั้งหมดในหัวเรื่องนั้นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอจะได้ “คำตอบสุดท้าย” ของเรื่องนั้นๆ แล้วนั่นเอง

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า วิกิพีเดียเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่แสนอัศจรรย์ก็จริง มีการตรวจสอบคุณภาพอยู่ก็จริง ปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอก็จริง

แต่ยังไม่ใช่เอ็นไซโคลพีเดียที่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แน่นอน

ผู้ใช้จำเป็นต้องใส่ใจเรื่องนี้ และเฝ้าตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ไปพร้อมๆ กับคณะผู้จัดทำด้วยเป็นดีที่สุดครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image