ภาพเก่าเล่าตำนาน : มนุษย์ย่อมเก่งกว่า…เครื่องจับเท็จ… โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

มกราคม 2564 ปรากฏข่าวใหญ่…เปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างตูมตาม คือ ตำรวจ ใช้ “เครื่องจับเท็จ” ในการทำคดีฆาตกรรมเด็กหญิงคนหนึ่ง ซึ่งยืดเยื้อยาวนาน ประชาชนยังรอคำตอบ

พ่อ-แม่ ญาติของผู้เสียชีวิต กำลังรอคอยตำรวจที่จะกระชากหน้ากาก เอาฆาตกรมาลงโทษ

ไอ้เครื่องมือชนิดนี้น่าสนใจครับ … มันมีด้วยหรือ…ต้องใช้ ดอกไม้ ธูป เทียน มั้ย…?

เมื่อมนุษย์เกิดมาแล้ว ช่วงเป็นเด็ก อะไรๆ ก็สวยใสไปหมด ไอ้โน่นก็ดี ไอ้นี่ก็ใช่ ชีวิตเหมือนผ้าขาว ใครพูด ใครบอกอะไรก็เชื่อ แต่งแต้มได้…

Advertisement

เมื่อเติบโตขึ้นมา ได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่าน เข้าสู่สภาวะต้องแสวงหา อะไรจริง-ไม่จริง เริ่มต้องขบคิด ต้องดิ้นรนขวนขวาย แก่งแย่ง มนุษย์ด้วยกันน่ากลัวที่สุด กิเลสนำพา อยากได้ อยากมี อยากเป็น มนุษย์เป็นสัตว์สังคม

ทุกชีวิตต้องการให้เป็นไปตามประโยชน์สุขของตน โลกนี้มี ไอ้ขี้โกง มีคนซื่อ มีคนโง่ คนดี คนชั่ว มนุษย์ต้องการ “หลักประกัน” เพื่อยึดเหนี่ยว

สัจจะ สัญญา ข้อตกลง อาจจะใช้ได้กับคนบางพวก บางกลุ่ม บางสถานการณ์ เวลาเปลี่ยน ใจเปลี่ยน

Advertisement

ถ้าเป็น การเมือง ต้องใช้หลัก “ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร”

ใครบางคนเมื่ออยู่หน้ากล้องโทรทัศน์ ต้องแสดงออกว่า รักเด็ก ต้องอุ้ม กอดเด็ก จ๊ะจ๋าให้ สาธารณชนเห็น ในขณะที่หลังเวที เค้าคนนั้นคือคน “แย่งขนมเด็กมากิน” ทั้งชีวิต

“ตัวช่วย” เพื่อสร้างหลักประกัน (ในบางโอกาส) ว่า แกจะไม่ทรยศ ไม่คดโกง ไม่ขโมย คือ การสาบาน กับ เทวดา ฟ้า ดิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพื่อให้ท่านเข้ามาช่วยสร้างหลักประกัน

ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ เจ็บป่วย เจ้าป่า เจ้าเขา ต้นไม้ใหญ่ ความตาย ล้วนเป็นสิ่งน่ากลัว ถ้าไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ จึงกลายเป็น “อำนาจพิเศษ” ที่น่าจะมาจากผู้วิเศษ พระผู้เป็นเจ้า…

ในที่สุด…ก็บังเกิดเป็น “ศาสดา-ศาสนา” ที่มนุษย์ขอพึ่งพา ขอให้สุขกาย สบายใจ ขอโชคลาภ ขอให้พ้นจากทุกข์ โศก โรค ภัย ไม่ยากจน …ฯลฯ

การพิสูจน์ ตรวจสอบ “ความจริง” ของชาวยุโรปยุคโน้น คือ การต้องลุยไฟด้วยเท้าเปล่า คนที่มีแผลพุพองน้อย แสดงว่า เป็นคนดี-พระเจ้าคุ้มครอง

ชาวสยาม ใช้หลักคิดใกล้เคียงกัน คือ คนดี สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองเสมอ …ถ้ามีคดีความระหว่าง 2 คน วิธีตรวจสอบ คือ จัดให้ไปดำน้ำแข่งกันต่อหน้าคณะกรรมการ ถ้าใครกลั้นหายใจไม่ไหว โผล่หัวขึ้นมาเหนือน้ำก่อน แสดงว่า แกเป็นคนชั่ว พระเจ้าไม่เข้าข้างคนผิด

คนดี คนไม่ผิด พระเจ้าจะช่วยเขาให้ดำน้ำอึดกว่า…

การยืนยัน สาบานที่เข้มข้นที่สุด คือ พิธีการสาบานของเหล่านักรบ เสนา อำมาตย์ ที่จะต้องเข้าพิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา พระสงฆ์สวดบริกรรมคาถา ดอกไม้ ธูป เทียนพร้อม… นำหอก ดาบ ศาสตราวุธ ลงคาถาอาคม มาแช่ในถังน้ำ ผู้เข้าร่วมพิธี จะต้องดื่มน้ำจากภาชนะนั้น

นี่เป็น เรื่องจริงนะครับ…

พัฒนาการต่อมา คือ เกิดหลักการ กติกา ระเบียบ กฎหมาย

กฎหมาย…ก็ถูกใช้โดยมนุษย์ด้วยกันนี่แหละ

เมื่อมี “กฎหมาย” บนโลกใบนี้ ก็ใช่ว่าโลกจะสงบ สังคมจะปราศจากคนเลว … ในหลายโอกาส คนที่รู้กฎหมายที่น่าจะพึ่งพาได้ ตัวบุคคล องค์กร ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้พึ่งพา กลับนำกฎหมายมารังแก มาเอาเปรียบผู้อื่นตลอดเวลา นักกฎหมายที่ก็เป็นมนุษย์ปุถุชน มีโลภ โกรธ หลง สามารถกลายเป็น “คนทรยศ-หักหลัง-เนรคุณ”

ลักษณะนิสัย ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับตัวตนของมนุษย์ คือ การโกหก ทุกชนเผ่า ทุกชาติพันธุ์ ผิวขาว ผิวเหลือง ผิวดำ ไม่ต่างกัน

ทุกศาสนา ที่อุบัติขึ้นมานับพันปีมาแล้ว มีข้อห้ามเหมือนๆ กัน คือ ไม่โกหก แสดงว่า การโกหก มีมาแสนนาน…

“เราจะไม่โกหก ไม่โกง ไม่ขโมย และจะไม่ยอมให้พวกเรากระทำเช่นนั้น” นี่เป็นคำปฏิญาณที่แสดงถึงการยึดมั่นในระบบเกียรติศักดิ์ (Honor System) ของโรงเรียนนายร้อยเวสท์พอยท์ ของสหรัฐ

นักรบญี่ปุ่นโบราณจำนวนมากจะกระทำ “ฮาราคีรี” คว้านท้อง ฆ่าตัวตาย ด้วยดาบเล็กที่พกติดตัวภายหลังความพ่ายแพ้ ด้วยหลักคิดที่ว่า “ตายเสียดีกว่า ที่จะอยู่อย่างไร้เกียรติ”

วิถีของนักรบโบราณ ส่งผลช่วยสร้างบุคลิกภาพของทหาร สร้างทัศนคติ สร้างความเป็นสุภาพบุรุษและกลายเป็นค่านิยมแห่งความดี มีข้อคิดที่ปลูกฝังจากสังคมทหารกล่าวไว้ว่า “เกียรติยศ เป็นแก่นแกนของการรักษาความดี”

ในวรรณกรรม “พระอภัยมณี” โดย สุนทรภู่ ประพันธ์คำกลอน ช่วงเหตุการณ์บนเกาะแก้วพิสดาร… อธิบายความอย่างแจ่มแจ้ง…

… “ แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์…มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด

ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด…ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน…”

คมบาดใจ…ไม่ต้องแปลนะครับ…

ชักแม่น้ำทั้ง 5 มาก็เพื่อขอคุยกันเรื่อง “เครื่องจับเท็จ” ครับ…

ฝรั่งช่างคิด ไม่ขอยอมจำนน ไม่เชื่อการสาบาน ต้องการพิสูจน์ในแนวทางของวิทยาศาสตร์ หาเครื่องมือ “จับเท็จ”

เครื่องโพลีกราฟ (Polygraph) ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ.2464 ในเมืองเบิร์กลีย์ แคลิฟอร์เนีย อเมริกา…

หัวหน้าตำรวจเมืองนี้ ชื่อ ออกัส วอลเมอร์ (August Vollmer) รับผิดชอบงานการปฏิรูปตำรวจ เขาเป็นมืออาชีพของตำรวจในสหรัฐอเมริกา

วอลเมอร์ ต้องการใช้วิทยาศาสตร์นำหน้าการทำงานของตำรวจที่ดักดานมานานโข ต้องการให้ตำรวจปฏิบัติตามกฎหมายและใช้การสอบสวนทางวิทยาศาสตร์

จอห์น ลาร์สัน เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเบิร์กลีย์ ได้สร้างเครื่องจักรเครื่องแรกโดยอาศัยการทดสอบความดันโลหิตซิสโตลิก ซึ่งบุกเบิกโดยนักจิตวิทยา ชื่อ วิลเลียม มาร์สตัน (William Marston)

มาร์สตัน เคยทำการทดลองมานาน เชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต” สามารถแสดงให้เห็นว่า…โกหกหรือไม่

เพราะเมื่อมนุษย์พูดโกหก ชีพจร การหายใจ ตลอดจนความดันโลหิตจะเปลี่ยนแปลง

ถึงแม้กรมตำรวจเมืองเบิร์กลีย์จะได้รับการสนับสนุนเต็มที่ ตำรวจหลงใหลในเครื่องจับเท็จมาก เพราะไม่เหนื่อย แต่ศาลของสหรัฐก็แทบไม่ให้น้ำหนักผลลัพธ์จากเครื่องจับเท็จ

เมื่อหลักการ และ เครื่องมือดังกล่าวถูกนำมาใช้งานกว้างขวาง สังคมอเมริกัน นักกฎหมายบางส่วน …ขอคัดค้านเครื่องมือดังกล่าว

พ.ศ.2473 การทำโพลีกราฟ ได้รับการสนับสนุนจาก นายคีลเลอร์ (Leonarde Keeler) ซึ่งได้ช่วยจัดตั้งห้องแล็บที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์แห่งแรกในสหรัฐ (เกิดขึ้น 1 ปีก่อนเกิด FBI)

เครื่องโพลีกราฟ ยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากชุมชนนักวิทยาศาสตร์นักกฎหมายในอเมริกา

ในปี 2546 แกรี่ ริดจ์เวย์ ยอมรับสารภาพว่าเขาเป็นฆาตกร ซึ่งสังหารผู้หญิงไป 49 คนในพื้นที่รัฐซีแอตเทิล ในขณะที่ฆาตกรบ้าคนนี้ผ่านการทดสอบเครื่องจับเท็จมาแบบฉลุยฉุยฉาย

เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าคนโรคจิตริดจ์เวย์ สามารถหลอกล่อเครื่องโพลีกราฟได้ เนื่องจากพวกเขามีระดับความวิตกกังวลต่ำกว่าคนปกติ

นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักกฎหมาย จำนวนมากยืนยันว่า เครื่องจับเท็จ ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์

มีการคัดค้านอย่างรุนแรงในสังคมอเมริกา…

แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ฝ่ายที่คัดค้าน กล่าวไว้น่าฟัง…

“คุณสามารถเอาชนะการทดสอบโพลีกราฟได้ง่ายๆ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นสายลับที่ได้รับการฝึกฝนหรือนักสังคมวิทยา คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจวิธีจดจำคำถาม ควบคุมและเพิ่มปฏิกิริยาตอบสนองต่อพวกเขาด้วยเทคนิคต่างๆ เช่นการกัดที่ด้านข้างของลิ้นของคุณ หรือการแก้สมการคณิตศาสตร์ในหัวของคุณ” นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการทดสอบ พัฒนาเครื่องจับเท็จแบบอื่นๆ เช่นใช้ซอฟต์แวร์ “วิเคราะห์ความเครียดด้วยเสียง” ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐบางแห่งใช้เพื่อตรวจสอบ

ในอเมริกา มีบางบริษัทเอกชนใช้เครื่องจับเท็จกับบุคคลผู้มาสมัครงานประกอบการสัมภาษณ์ …ที่กลายเป็นประเด็นร้อน มีการร้องต่อศาล

แน่นอนที่สุด เครื่องจับเท็จมิได้เป็น “ตัวชี้ขาด-ตัดสิน” มันเป็นเครื่องมือประกอบการทำงาน หากแต่บางหน่วยงาน ก็พึ่งพาเครื่องมือนี้ ให้น้ำหนักสูงกับผลของเครื่องมือนี้…

เมื่อเป็นประเด็นที่ขัดขวาง ลิดรอนสิทธิ จึงมีคำอธิบายต่อสังคม…

… เมื่อสมัครงานด้านการบังคับใช้กฎหมายอาจต้องมีการทดสอบโพลีกราฟ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่คุณสมัครและงานที่คุณสมัคร ไม่ใช่ทุกงานและไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่ต้องการการทดสอบโพลีกราฟซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจ้างงาน หากจำเป็นต้องใช้โพลีกราฟมักจะระบุไว้ในประกาศงาน

ในการทดสอบหนึ่งครั้งกับผู้ถูกคุมขัง 20 คนในศาลเทศบาลเมืองบอสตัน Marston อ้างว่ามีอัตราความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ในการตรวจจับการโกหก แต่อัตราความสำเร็จที่สูงของเขาทำให้หัวหน้างานของเขาสงสัย และนักวิจารณ์ของเขาแย้งว่าการตีความผลลัพธ์ของโพลีกราฟเป็นศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์

แพทย์ยืนยันว่า…อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตจะสูงขึ้นเมื่อรู้สึกกังวลหรือเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อปฏิกิริยาของพวกเขาต่อการทดสอบเครื่องจับเท็จ บางทีพวกเขาอาจจะโกหก แต่บางทีพวกเขาก็ไม่ชอบถูกซักถาม

นายมาร์สตันที่เป็นตัวตั้งตัวตีการใช้เครื่องจับเท็จ…งานเข้า ทัวร์ลง

เขาถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ เพราะเป็นชาวอัฟริกันอเมริกัน (คนผิวสี) ผลงานของเขาอาจจะมีอคติแฝงอยู่

จนถึงทุกวันนี้ ผลการทำโพลีกราฟยังไม่เป็นที่ยอมรับได้ในศาล

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อการสืบสวนคดีอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกา กองทัพสหรัฐ รัฐบาลกลางและหน่วยงานอื่นๆ ก็ยังขอใช้ประโยชน์จากโพลีกราฟเพื่อตรวจสอบ พิจารณาความเหมาะสมของบุคคลในการจ้างงานและการรักษาความปลอดภัย

ตัวอย่างของคำถาม…เป็นอย่างไร..

หลักการ คือ เจ้าหน้าที่ จะใช้คำถามที่เรียกว่า คำถามควบคุม (Control Question) คือ คำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี แต่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่อาจจะเคยทำในอดีต ใช้ในการกระตุ้นความกลัวความผิดในอดีต และคำถามที่สัมพันธ์กับคดี (Relevant Question)

คำถามควบคุม เช่น คุณเคยขโมยของหรือไม่ ?

คำถามที่สัมพันธ์กับคดี เช่น คุณเคยขโมยของในที่ทำงานคุณหรือไม่ ?

ตามปกติแล้วถ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ จะมีปฏิกิริยาต่อคำถาม “คำถามควบคุม” มากกว่า เพราะเขารู้ว่าตัวเองโกหก แต่ว่าพอมาถึง “คำถามที่สัมพันธ์กับคดี” ปฏิกิริยาจะต่ำลง เพราะว่าเขาพูดความจริง …แต่ถ้าเป็นคนร้ายตัวจริงจะมีปฏิกิริยาตรงกันข้าม

ดังนั้นถ้าผู้เข้าทดสอบมีปฏิกิริยากับคำถามแบบแรกมากกว่า “เขาผ่าน” แต่ถ้ามีปฏิกิริยากับคำถามแบบหลังมากกว่า “เขาตก”

ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า ถ้าคุณเจอคำถามควบคุม การคิดถึงเรื่องน่ากลัว ตื่นเต้น หรือการพยายามแก้โจทย์เลขยากๆ ในหัว หรือแม้แต่การกัดลิ้น จะทำให้เครื่องจับเท็จตีความว่าเป็นการ “โกหก” และนั่นจะถูกตีความว่าคุณเป็นผู้บริสุทธิ์ได้

ความรู้สึกกระวนกระวายใจถือเป็นเรื่องปกติ นอกจากนั้นมันยังช่วยให้คุณสามารถผ่านการทดสอบได้อีกด้วย จากสถิติพบว่า ผู้คนที่รู้สึกกังวลใจในการตอบแต่ละคำถามสามารถผ่านการทดสอบได้ไม่ต่างกัน

ในบางกรณี ผลการทดสอบอาจผิดเพี้ยนไปด้วยเหตุปัจจัยบางอย่าง เช่น อาการป่วยทางด้านจิตเวชแล้วผู้ที่ไม่ควรเข้าเครื่องจับเท็จ ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ คนที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคลมบ้าหมู หรือแม้แต่ผู้ที่ถูกบังคับขืนใจให้เข้าร่วมการทดสอบอีกด้วย

ตำรวจและหน่วยงานสอบสวนคดีในสหรัฐอเมริกานิยมใช้เครื่องโพลีกราฟในการ “สอบสวนชั้นต้น” แต่มีเพียงไม่กี่รัฐเท่านั้นที่อนุญาตให้ใช้เครื่องโพลีกราฟประกอบการพิจารณาคดี

ว่ากันตามทฤษฎี… เมื่อคนเราพูดโกหกร่างกายของเราจะแสดงอาการพิรุธตื่นเต้นโดยไม่รู้ตัวและควบคุมไม่ได้ หากใช้เครื่องโพลีกราฟวัดสัญญาณของผู้ต้องสงสัยขณะสอบสวน ตำรวจก็จะสามารถแยกแยะได้ว่าผู้ต้องสงสัยพูดความจริงหรือพูดโกหกตรงไหนบ้าง

1.หัวใจ… ชีพจรและความดันโลหิตของคนโกหกจะสูงขึ้น

2.ปอด… คนโกหกจะหายใจหอบถี่ๆ สั้นๆ

3.ผิวหนัง อาการตื่นเต้นจากการโกหกจะทำให้เหงื่อซึมออกมาที่ฝ่ามือและปลายนิ้ว

4.ขา เมื่อเราโกหก แขนขาของเราจะสั่นนิดๆ อย่างมีพิรุธเนื่องจากความกังวล การสั่นนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจ

ผู้เขียนแปลและเรียบเรียงมานี้ เพื่อเป็นข้อมูล คุยกันนะครับ

ส่วนตัวก็ยังนึกขำๆ ว่า ถ้าเครื่องมือนี้ต้องมาใช้ตรวจสอบ นักโกหกมืออาชีพ คนที่โกหกเป็นสรณะ คนโกหกหน้านิ่ง หรือคนที่โกหกยาวนานจนกระทั่งลืมไปว่าโกหกอะไรไว้

สุดท้ายคือ คนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังโกหก… เครื่องมือนี้จะกลายเป็นอุปกรณ์ที่กินไฟ ไร้ค่า เกะกะ …

ข้อมูลบางส่วนจาก The curious story of how the lie detector came to be – BBC News 21 May 2013

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image