เดินหน้าชน : วัคซีนอปท. โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

แฟ้มภาพ

ย้อนไปสัปดาห์ก่อนหน้านี้ กระแสข่าวเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 กำลังถูกนำเข้ามาในประเทศไทยล็อตแรกในเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงใน 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง
และเข้มงวดก่อน คือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด

ที่น่าสนใจ บรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. พร้อมจัดงบประมาณเพื่อฉีดวัคซีนให้กับลูกบ้านตัวเอง โดยผู้บริหาร อปท.ในระดับเทศบาลเมืองกับนครก็แสดงความปราถนาดีในการจัดหาวัคซีนมาให้ได้ โดยใช้จ่ายเงินสะสมของเทศบาลที่มีจำนวนมากมายมาจัดซื้อ

บางสภาเทศบาลก็ประชุมสมัยวิสามัญ ตั้งญัตติขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสมกันแล้ว

กรณีนี้เกิดประเด็นปัญหาว่า ในขณะที่ประชาชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับ อบต.และอีกหลายเทศบาลที่มิได้มีการจัดซื้อขึ้นมาจะทำอย่างไร

Advertisement

ในเมื่อเทศบาลใหญ่ๆ สามารถจัดซื้อวัคซีนโควิดได้เอง เสมือนเป็นทางเลือกของประชาชนที่จะรับฉีดวัคซีนของเทศบาลหรือรัฐบาลได้ทั้งนั้น

ส่วนการกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีในวันที่ 28 มีนาคม 2564 หลายคนอดคิดไม่ได้ว่าเป็นวิธีการหาเสียงที่ผู้บริหารท้องถิ่นคนปัจจุบันได้เปรียบขึ้นมาทันที เอาไปตีกินสบายๆ ใครมาท้าชิงไร้ผลงานแบบนี้ มีแต่นโยบายว่าจะทำลอยมาอย่างเดียว จะให้ประชาชนเชื่อและรอความหวังคงยาก

การยกผลงานเรื่องจัดฉีดวัคซีนโควิดให้ในระหว่างการหาเสียง กกต.เปิดช่องไว้แล้วว่า “หากเป็นนโยบายที่จะทำประโยชน์เพื่อท้องถิ่นก็สามารถจะทำได้ ไม่เข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้ หรือจูงใจให้เลือก ไม่เหมือนกับประกาศว่าจะยกเงินเดือนทั้งเดือนให้ อย่างนี้ถือว่าเป็นการสัญญาว่าจะให้ ไม่สามารถทำได้”

Advertisement

ดังนั้น กรณีมีผู้รับสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นรายไหนไปเที่ยวหาเสียงรับปากว่าจะมีวัคซีนให้ แล้วภายหลังได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาไม่สามารถทำได้ ประชาชนในพื้นที่ที่ปัดฉีดวัคซีนของรัฐบาลขึ้นมาจะสามารถร้องเรียนกับ กกต.ได้หรือไม่ ในเมื่อ กกต.บอกแล้วว่าไม่ถือว่าเป็นสัญญาว่าจะให้ ไม่ใช่การจูงใจ

ขณะที่ภาคการเมืองใหญ่ให้ความคิดเห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดรุนแรงเช่นนี้ ทำไมรัฐบาลเหมือนโยนให้ท้องถิ่นไปจัดการ เพื่อบอกว่าเป็นการกระจายอำนาจให้ ทั้งที่เงินงบประมาณก็ของท้องถิ่น มิใช่จากส่วนกลาง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เรื่องนี้น่าสนใจ กล่าวไปถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสนอแนะให้ใช้งบท้องถิ่นซื้อวัคซีนโควิด-19 ด้วยงบก้อนใหญ่ 8 พันล้าน สำหรับประชากรกรุงเทพฯ 8 ล้านคน

เพราะเหล่านี้ควรจะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาล

พิธาให้เหตุผลว่า “วัคซีนโควิดนั้นไม่ใช่ส่วนเสริมให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นแบบใครจะทำเพิ่มหรือไม่ทำก็ได้ เหมือนกับการสร้างหอชมเมืองที่แต่ละท้องถิ่นตัดสินใจเลือกเองว่าจะเอางบประมาณไปทำอะไร แต่นี่เป็น ‘ความจำเป็น’ ในสถานการณ์วิกฤต ที่ทุกคนจะต้องได้ฟรี เหมือนกับวัคซีนอื่นๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขฉีดให้ประชาชนฟรีอยู่แล้ว”

ก่อนที่พิธาจะมอง อปท.แทบทั้งประเทศไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะจัดซื้อวัคซีนให้ประชาชนในเขตตนเองหรือไม่ เพราะมีอีกหลายแห่งที่ขาดงบประมาณ กลายเป็นว่าจะมีบางแห่งที่ได้วัคซีน บางแห่งไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณ กลายเป็นระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

ดังนั้น จากสิ่งที่นักการเมืองพูดออกมา เรื่องแบบนี้ หากรัฐบาลกล้าที่จะรับข้อคิดเช่นนี้มาคิดหรืออาจจะคิดไว้แล้ว มาพิจารณาอย่างถ่องแท้ก็ควรรีบจัดการเคลียร์ เพราะการให้ อปท.จัดการเองทั้งหมดคงจะมีปัญหาตามมาอีกพอสมควร แน่ใจได้หรือไม่ว่า อปท.แต่ละแห่งจะได้วัคซีนที่มาจากบริษัทเดียวกันในราคาเดียวกันทั้งหมด จากที่มีข่าวก็เห็นแล้วว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งตั้งราคาวัคซีนไม่ตรงกัน

ส่วนที่ท้องถิ่นสามารถจัดซื้อเองได้ก็ต้องมีกติกาดูแลควบคุมอีกว่าประชาชนที่ตกเป็นกลุ่มเสี่ยงในท้องถิ่นจะได้วัคซีนครบกันทุกคน ฯลฯ

ยังเหลือเวลาที่รัฐบาลน่าจะสะสางให้เรียบร้อยก่อนวัคซีนเข็มแรกจะถูกฉีดให้ประชาชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image