การจัดการศึกษาในภาวะวิกฤต

การจัดการศึกษาในภาวะวิกฤต

การจัดการศึกษาในภาวะวิกฤต

ปีการศึกษา 2563 เป็นปีแห่งวิกฤตของโลกรวมทั้งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไม่ใช่น้อย เป็นครั้งแรกที่โลกต้องถูกล็อกดาวน์ การเดินทางระหว่างประเทศหยุดลงอย่างสิ้นเชิง ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการโรงแรมหยุดชะงัก อาชีพที่เป็นที่ใฝ่ฝันของหลายๆ คน อย่างนักบิน พนักงานบริการบนเครื่องบิน ได้รับผลกระทบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจประเมินค่าไม่ได้ สำหรับประเทศไทยมีปัญหาซ้ำเติมมากกว่านั้น คือ

วิกฤตร่วมทั่วโลก คือวิกฤตการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัส COVID-19 ที่เมื่อเริ่มต้นแพร่ระบาดราวเดือนธันวาคม 2562 ดูเหมือนประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆ ของโลกที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งปลายปี 2563 ก็เกิดระบาดรอบ 2 ที่รุนแรง รวดเร็วกว่ารอบแรกประกอบกับการกลายพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ของไวรัสดูเหมือนจะไล่ล่ากันไปกับวัคซีน ผลกระทบกับการศึกษาในระบบคือการปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เปิดเรียนได้ก็วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ล่าช้าจากเดิมถึง 1 เดือนครึ่ง แต่ก็ยืดระยะเวลาปิดเทอมยาวไปถึงเดือนเมษายน พอเปิดภาคเรียนที่ 2 ได้ไม่ถึงเดือนก็ต้องปิดเรียนในบางพื้นที่อีกครั้ง และล่าสุดต้องปิดเรียนตลอดเดือนมกราคม 2564 อีก 28 จังหวัด นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ตลอดทั้งเดือน

วิกฤตเฉพาะประเทศไทย คือการชุมนุมทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ ที่มีเรื่องที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วย แม้จะได้รับผลกระทบเป็นบางพื้นที่ แต่ก็ถือเป็นที่ความเห็นต่างทางการเมืองมีการแสดงออกของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความปลอดภัยในสถานศึกษา รวมทั้งการแก้ไข กฎ ระเบียบ แนวปฏิบัติให้ทันสมัยมากขึ้น โรงเรียนจึงต้องปรับการบริหารจัดการศึกษาที่เคยปฏิบัติมา การยึดระเบียบข้อบังคับที่เคยปฏิบัติมาแต่ยังไม่ได้แก้ไขต้องยืดหยุ่น

Advertisement

วิกฤตเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เป็นอีกวิกฤตหนึ่งที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2559-2562 แล้ว และยังเป็นสถานการณ์อันตรายต่อเนื่องที่น่าจับตา สำนักงานพัฒนา

ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ซึ่งรวบรวมสถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปี ย้อนหลังรายเขตสุขภาพระหว่างปี 2553-2562 พบว่าแนวโน้มอัตราการตายจากโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกภาค แต่ภาคเหนือมีอัตราการตายสูงกว่าภาคอื่น เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า จาก 20.3 คนต่อแสนประชากรในปี 2553 เป็น 30.7 คนในปี 2562 รองลงมากรุงเทพมหานคร นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครต้องปิดเรียน ทำให้การจัดการศึกษาในระบบได้รับผลกระทบ

ความจริงแล้วระบบการศึกษาของประเทศไทย ถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่ให้โอกาสกับประชากร วัยเรียนในการเข้าถึงการศึกษาได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ รัฐได้ออกแบบการศึกษาไว้ 3 ระบบ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือ 1.การศึกษาในระบบ (Formal) 2.การศึกษานอกระบบ (Non-Formal) 3.การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal) แสดงได้ดังนี้

Advertisement

“โรงเรียน” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาในระบบ นอกจากจะกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร เวลาเรียน การวัด ประเมินผล การจบหลักสูตร ที่ชัดเจนแล้วยังมีรายเอียด มีกฎ ระเบียบ แนวปฏิบัติกับนักเรียนที่เข้ารับการศึกษาอีกหลายอย่าง โดยเริ่มตั้งแต่ออกจากบ้าน จนกลับถึงบ้าน เช่น การมาเรียน ออกจากบ้านต้องแต่งกายตามที่สถานศึกษากำหนด ตั้งแต่ ผม เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า สีอะไร เนื้อผ้าอย่างไร นอกจากนั้น นักเรียนต้องมาทันตามเวลาที่โรงเรียนกำหนดเพื่อทำกิจกรรมหน้าเสาธง เคารพธงชาติ สวดมนต์ ปฏิญาณตน หรืออื่นๆ ตามที่สถานศึกษากำหนดภายใต้ระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมีวินัย ความตรงต่อเวลา สร้างความตระหนักความรัก ความเคารพในความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมทั้งความภาคภูมิใจในสถาบันที่ตนเองศึกษาอยู่ นักเรียนต้องเข้าเรียนให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน (เข้าเรียนไม่ครบจะไม่มีสิทธิสอบ (มส.)) ผ่านการวัดผลให้ผ่านตามหลักสูตรสถานศึกษา (ไม่ผ่านก็จะมีผลการเรียน ร. หรือ ๐) และจะจบหลักสูตรได้จะต้อง 1) ไม่มีผลการเรียน ๐, ร, มส., มผ. ทุกรายวิชาที่เรียนทั้งรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติม เพื่อสร้างศักยภาพคนไทยในการแข่งขันกับอารยประเทศ 2)ต้องผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรสถานศึกษาและมีผลการประเมินต้องร้อยละ 60 ขึ้นไป ซึ่งมีอย่างน้อย 8 ประการ (บางโรงเรียนอาจเพิ่มเติมได้) คือ 1.รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2.ซื่อสัตย์ 3.มีวินัย 4.ใฝ่เรียนรู้ 5.อยู่อย่างพอเพียง 6.มุ่งมั่นในการทำงาน 7.รักความเป็นไทย 8.มีจิตสาธารณะ เพื่อพัฒนาคนไทยในอนาคตด้านความมีวินัย ความภาคภูมิใจในชาติและความเป็นไทย รวมทั้งการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีไทย 3) ต้องผ่านการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น และพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างมีวิจารณญาณ 4) ต้องมีเวลาทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 30-45-60 ชั่วโมง/3 ปีแล้วแต่ช่วงชั้น เพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยในอนาคตเป็นผู้รู้จักเสียสละเพื่อสังคม มีจิตสาธารณะ หากผลการประเมินข้อหนึ่งข้อใดไม่ผ่าน ก็ถือว่าไม่จบหลักสูตร จะเห็นได้ว่าการศึกษาในระบบไม่ใช่เพียงการเรียนเพื่อให้ได้ความรู้ตามหลักสูตรเท่านั้น แต่ยังพัฒนาผู้เรียนด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมไทย ความมุ่งมั่น อดทน จิตสาธารณะ ฯลฯ ควบคู่กันไป เพื่อพัฒนานักเรียนให้ออกไปอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เคารพในกฎหมาย กติกาทางสังคม จึงอาจจะดูมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะแยะ หยุมหยิม บางคนอาจจะรู้สึกอึดอัดกับระบบก็ได้

จากวิกฤตที่มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ต้องเจอทั้งสามวิกฤตพร้อมๆ กัน นักเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถือว่าเสียโอกาสในการเรียนรู้กับคุณครูในโรงเรียน (On Site) มากกว่าต่างจังหวัด ที่เห็นได้ชัด คือเวลาเรียนในโรงเรียนลดลงไปมากกว่านักเรียนในต่างจังหวัด การเรียนที่บ้านในรูปแบบ online, on hand, on demand หรือวิธีการอื่นๆ เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาในการเรียนรู้ของนักเรียน หากการมาเรียนที่โรงเรียน การเรียนกับครูที่โรงเรียนมีคุณภาพมากกว่าการเรียนที่บ้าน นักเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต้องขยันและมีวินัยในการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันเข้าศึกษาต่อให้กับตนเอง เพื่อให้มีความรู้ มีศักยภาพ เท่าเทียมกับนักเรียนในต่างจังหวัดได้ ไม่เช่นนั้นแล้วปีนี้อาจจะเห็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและผลการทดสอบระดับชาติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเฉลี่ยระดับจังหวัดน้อยกว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดเป็นปีแรก

ดร.ประวัติ สุทธิประภา
ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง
นายกสมาคมผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image