เดินหน้าชน : อย่าเสียโอกาส

เดินหน้าชน : อย่าเสียโอกาส

เดินหน้าชน : อย่าเสียโอกาส

ลำพังพิษสงจากการระบาดโควิด-19 รอบแรก โถมเข้าใส่ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนชาวไทย อาชีพการงาน รายได้ ภาคธุรกิจการค้า การลงทุน รายได้จากการท่องเที่ยว พยายามดิ้นรนเพิ่งกระเตื้องอย่างช้าๆ

มาโดนระบาดรอบใหม่กระแทกซ้ำ ดิ่งทรุดลงไปอีก

รัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยาจัดโครงการ “เราชนะ” โอนเงินเข้า “เป๋าตัง” รายละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ให้กับประชาชนกลุ่มค่อนข้างอ่อนแอกว่า 31 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท

Advertisement

ดีเดย์เริ่มต้นโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้

ขณะที่ภาคการค้าการขายรายย่อยได้รับการกระตุ้นจับจ่ายจากโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

แต่แน่นอนผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งสองรอบ กับมาตรการของรัฐที่ออกมาแล้ว คงไม่เพียงพอปะทะปะทังความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทำให้เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นายกฯประยุทธ์ต้องเรียกมือเศรษฐกิจรัฐบาล สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เพิ่มเติมแนวทางลดภาระรายจ่ายให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ เช่น ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย การขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้

วันนี้ทุกคนน่าจะได้รู้กันแล้ว มีมาตรการอะไรออกมาบ้าง

นอกจากนี้ มีข้อมูลกระเส็นกระสายจะมี “ก๊อก 2” ออกมาอีกในเดือนเมษายน พุ่งเป้าไปยังกลุ่มมนุษย์เงินเดือน พนักงานบริษัท ผู้อยู่ในระบบประกันสังคม ที่บางส่วนถูกลดเงินเดือน ลดค่าจ้าง ไปจนถึงถูกเลิกจ้าง

ความจำเป็นในการมีมาตรการเฉพาะหน้าเป็นเรื่องจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้ผู้เดือดร้อนมีเงินจับจ่ายสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะเดียวกันอย่างน้อยก็ช่วยให้ธุรกิจรายเล็กรายน้อยประคองตัวไปได้ก่อน

แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ทั่วโลกเริ่มค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

การปรับโครงสร้างรองรับ “นิว นอร์มอล” จึงจำเป็นต้องทำไปควบคู่กัน ใครเริ่มก่อน พร้อมก่อน ได้เปรียบ

มีข้อเสนอเพื่อพลิกวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส เสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต

การลงทุนเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นด้านเทคโนโลยี การลงทุนในทุนมนุษย์ เพิ่มคุณภาพของการศึกษา การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องแก้ไขปัญหาโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ โดยเร่งการลงทุนของภาครัฐในโครงการที่มีเป้าหมายช่วยลดช่องว่างทางสังคม อาทิ โครงข่ายโทรคมนาคม ฐานข้อมูลภาครัฐ และระบบการศึกษาทางไกลที่ทั่วถึงและเป็นธรรม

การลงทุนในสาขาที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต

อาหาร ไทยมีต้นทุนเป็นบวกอยู่แล้ว ในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารป้อนสู่โลก

การแพทย์ สาธารณสุข การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกใส่ใจกับคุณภาพของบริการสาธารณสุขและการแพทย์มากขึ้น ขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านการให้บริการด้านการแพทย์อยู่แล้ว จึงควรใช้จังหวะนี้เร่งลงทุนการแพทย์แบบครบวงจร ทั้งการผลิตบุคลากร การพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัย นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยปี 2563 ไทยอยู่ลำดับที่ 17 ของการจัดอันดับประเทศที่น่าใช้ชีวิตหลังเกษียณ

ผู้บริหารมืออาชีพมักมองเห็นโอกาสในวิกฤต

วันนี้เราได้เริ่มแล้วหรือยัง

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image