คอลัมน์หน้า 3 : 2 แพร่ง การเมือง สถานการณ์ ณ เมียนมา มีกลิ่น รัฐประหาร

2 แพร่ง การเมือง สถานการณ์ ณ เมียนมา มีกลิ่น รัฐประหาร

สถานการณ์อันกำลังคุกรุ่นในเมียนมา ไม่เพียงแต่สะท้อนความละม้ายเหมือนอย่างยิ่งกับสถานการณ์ที่วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 มกราคม

หากยังคล้ายกับสถานการณ์ใน “ไทย”

ไม่ว่าสถานการณ์ในเมียนมา ไม่ว่าสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นจากจุดที่เหมือนกันตรงไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้ง

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามีการโกง มีการทุจริต

Advertisement

จากนั้น ฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็ปลุกระดมมวลชนของตนให้ออกมาแสดงกำลังตามท้องถนนและรุนแรงถึงขั้นบุกรัฐสภา

กรณีของสหรัฐอเมริกาต้องยุติลงกลางคัน

เป็นการยุติลงเพราะ “สถาบันหลัก” ของสังคมไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิด “รัฐธรรมนูญ” แม้กระทั่งคนของพรรครีพับลิกันก็ไม่เห็นด้วย

Advertisement

แต่กรณีของ “เมียนมา” เรื่องยังไม่จบ

ภายในความเหมือนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเมียนมา ระหว่างเมียนมากับประเทศไทยก็มี “ความต่าง” ปรากฏขึ้นมาให้เปรียบเทียบ

สัมผัสได้จากบทบาทของ “กองทัพ”

ที่สหรัฐอเมริกานั้นมีข่าวเล็ดลอดถึงความพยายามของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะดึงเอา “กองทัพ” เข้ามาแทรกแซงและเข้าข้างตน

แต่ถูก “ปฏิเสธ” อย่างต่อเนื่อง

มิได้ปฏิเสธอย่างธรรมดา หากต่อมา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ออก “แถลงการณ์” แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว

โดยมี “ผบ.เหล่าทัพ” ให้การ “รับรอง”

สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาได้จบไปแล้วจากภาพที่เห็นเมื่อวันที่ 20 มกราคม แต่สถานการณ์ในเมียนมาเสมอเป็นเพียงการเริ่มต้น

ถามว่าจะเป็นเหมือน “ไทย” หรือเป็นเหมือน “สหรัฐ”

ประเทศไทยเคยมีสถานการณ์คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในเมียนมามาแล้วอย่างน้อยก็ 2 ครั้งโดยทิ้งระยะห่างกันไม่กี่ปี

เป็นสถานการณ์เดือนกันยายน 2549 กับเดือนพฤษภาคม 2557

ก่อนเดือนกันยายน 2549 มีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการโค่นรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร

เมื่อโค่นไม่ได้ก็เพรียกหา “รัฐประหาร”

ก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 มีการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน “กปปส.” ประกาศตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เมื่อโค่นไม่ได้ก็เพรียกหา “รัฐประหาร”

เมื่อสถานการณ์เดือนกันยายน 2549 และสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ผ่านมาถึงเดือนมกราคม 2564 ก็เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตถึงการสมคบคิด

สมคบคิดอันนำไปสู่ “รัฐประหาร” ในทางการเมือง

สถานการณ์ของสหรัฐอเมริกาจบไปแล้ว มีคำตอบไปแล้ว สถานการณ์ของประเทศไทยจบไปแล้ว มีคำตอบไปแล้วในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

ขณะที่สถานการณ์ “เมียนมา” เพิ่งเริ่มต้น

สายตาของนานาอารยประเทศเริ่มทอดมองไปยังเมียนมา เพราะไม่แน่ใจว่าคำตอบสุดท้ายของสถานการณ์ในเมียนมาจะดำเนินไปอย่างไร

แบบ “ไทย” หรือแบบ “สหรัฐ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image