การเลือกตั้งท้องถิ่นในระบอบเผด็จการ

ในสมัยนี้คำว่า “ระบอบเผด็จการ” ในวงวิชาการทางรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในสาขาการเมืองเปรียบเทียบ มีความหมายสองด้าน คือหนึ่งหมายถึงระบอบเผด็จการเต็มรูป ซึ่งหมายถึงระบอบที่ไม่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนเลย ซึ่งรูปธรรมประการหนึ่งก็คือการไม่ให้มีการเลือกตั้ง และไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สองหมายถึงระบอบ “ลูกผสม” (hybrid) คือระบอบเผด็จการในความหมายที่ยังมีเป้าหมายในการปกครองแบบเผด็จการ แต่มี “หน้าฉาก” เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสืบสานอำนาจและสร้างความชอบธรรมของตนเอง อาทิ ระบอบที่ถูกอธิบายด้วยแนวคิดแบบเผด็จการที่เน้นให้มีการแข่งขัน (competitive authoritarianism)

การทำความเข้าใจเรื่องคำจำกัดความเรื่องเผด็จการ และความสนใจเรื่องเผด็จการศึกษา/วิทยาในวันนี้ทำให้เราเข้าใจว่าระบอบเผด็จการนั้นมีตรรกะของมัน ตัวผู้นำเผด็จการและชนชั้นนำ (elite) ก็มีวิธีคิด-ตรรกะของเขาเองที่ไม่ได้บ้าหรือโง่เสมอไป แต่ทำเพื่อรักษาอำนาจและสร้างพันธมิตรทางอำนาจอย่างมีเหตุผล (ไม่นับทุกคนทุกกรณีนะครับ) ขณะที่ตัวประชาชนที่อยู่ในระบอบเผด็จการก็มีหนทางในการดิ้นรนอยู่รอด และต่อรองต่อต้านระบอบนั้นในระดับหนึ่ง ไม่ได้โง่หรือยอมจำนนกับระบอบ

มุมมองทางด้านเผด็จการศึกษา/วิทยาไม่ได้มองเรื่องการเลือกตั้งแบบไร้เดียงสาว่าเป็นตัวชี้วัดขั้นต่ำ หรือตัวชี้วัดที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยแบบกระบวนการ แต่จะมองว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นเครื่องมือในการสืบสานอำนาจของระบอบเผด็จการอย่างไร โดยอาจเน้นทั้งสองเรื่อง คือ

Advertisement

1) ชนชั้นนำในระบอบเผด็จการตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้พูดกันนัก เรามักจะมองว่าการที่ชนชั้นนำในระบอบเผด็จการนั้นเปิดให้มีการเลือกตั้งคือการ “ยอม” หรือ การ “ถอย” เข้าสู่ประชาธิปไตย ตามทฤษฎีเปลี่ยนผ่านวิทยาในยุคต้น แล้วก็มองว่าชนชั้นนำเผด็จการอาจจะโกงการเลือกตั้งเพื่อให้ได้อยู่ต่อ และก็แอบคาดหวังว่าเมื่อชนชั้นนำโกงประชาชนก็จะลุกฮือขึ้นโค่นล้มระบอบเผด็จการเหล่านั้น และเข้าสู่ประชาธิปไตย happily every after !!!!

ผู้นำในระบอบเผด็จการส่วนมากในโลกนั้นเขาไม่ได้มองการเลือกตั้งในแบบที่คนที่เชื่อในประชาธิปไตยมองหรอกครับ ลองดูดีๆ จะเห็นว่าระบอบเผด็จการในโลก ยกเว้นระบอบผู้นำสืบสายโลหิตในตะวันออกกลาง จะมีการเลือกตั้ง และพวกเขามองการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสืบสานอำนาจ แถมอยู่ยาวนานด้วย ไม่ใช่มองแบบสาย (เรียกร้อง) ประชาธิปไตยที่มองแค่ว่าการเลือกตั้งคือการเปลี่ยนผ่านอำนาจ และเชื่อในวิธีการมองว่าการเลือกตั้งจะต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม

งานวิชาการอีกจำนวนหนึ่งชี้ว่าในปัจจุบันการพยายามอธิบายว่าการเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรม หรือต่อให้มีความน่าเชื่อถือ (integrity) นั้นแทบจะไม่มีความหมายอะไรมากแล้ว เพราะเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาชี้วัดนั้นก็แทบจะวัดไม่ได้จริง (อธิบายง่ายๆ ว่าเผด็จการเขาเดาข้อสอบถูกเสียมาก) หรือไม่ก็กลายเป็นว่าการเลือกตั้งกลายเป็นเพียงเงื่อนไขทำให้นานาชาติใช้เป็นเงื่อนไขในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับเผด็จการตามฐานคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติไปเสีย นอกจากนั้นแล้วในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเราก็พบการโกงเลือกตั้งอยู่มากมายเช่นกัน

Advertisement

เพียงแต่เราไม่กล้ายอมรับว่าการเลือกตั้งในระบอบเผด็จการโดยเฉพาะเผด็จการลูกผสมนั้นเขาอาจไม่ได้โกงการเลือกตั้งแบบซื้อเสียง แต่เขาอาจจะมีมรรควิธีมากมายในการทำให้คนยอมที่จะเลือกเขา โดยเฉพาะหัวใจสำคัญจริงๆ มันมักจะอยู่ที่ว่าเขาทำให้ชนชั้นนำต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้งในทุกระดับยอมที่จะเข้าร่วมกับเขาต่อไปมากกว่าท้าทายและโค่นล้มพวกเขา

ด้วยฐานคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่าน (transitology) ที่ศึกษาการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย ไปสู่การเปลี่ยนไม่ผ่าน ที่ศึกษาว่าเผด็จการสืบสานอำนาจอย่างไร เราจะพบว่าทั้งหมดนั้นวางอยู่บนฐานคิดในเรื่องของการมองการเมืองผ่านสายตาและมุมมองของชนชั้นนำทั้งสิ้น สิ่งนี้ไม่ใช่การวิจารณ์แบบตีหัวเข้าบ้านว่าไม่มองประชาชน แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งและประเด็นท้าทายในเรื่องนี้เสียมากกว่า

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ดังที่บอกไปแล้วว่า 2) ยังมีงานอีกจำนวนหนึ่งที่พยายามมองว่าประชาชนในระบอบเผด็จการ อาทิ เผด็จการในจีนเอง ที่พยายามใช้การเลือกตั้งหรือการเรียกร้องตามขั้นตอนในองค์กรปกครองในระดับท้องถิ่นเพื่อต่อรองอำนาจและอยู่รอดในสังคมเผด็จการเช่นกัน

ทั้งหมดที่เกริ่นนำมานี้มีคนเคยพูดกันอยู่มากแล้ว แต่สิ่งที่คนศึกษาน้อยและยังไม่มีคำตอบก็คือว่าการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นนั้นมีบทบาทอย่างไรในสังคมเผด็จการทั้งระบอบเผด็จการเต็มรูป และระบอบเผด็จการลูกผสม

ในส่วนภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้้งกับระบอบเผด็จการนั้น แม้ว่าเรามักจะเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นโอกาสให้พลังที่ต่อต้านรัฐบาลสามารถจะรวบรวมสรรพกำลังในการสร้างความไม่แน่นอนในการสืบสานอำนาจให้กับเหล่าเผด็จการได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เผด็จการได้ประโยชน์จากการเปิดให้มีการเลือกตั้ง (แต่เราต้องพยายามเข้าใจให้ได้ว่าในห้วงจังหวะไหนเขาเปิดให้มีการเลือกตั้งได้) เช่น ทำให้ผู้นำในระบอบได้ข้อมูลว่ากลุ่มไหนบ้างที่สนับสนุนเขาในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่มาจากข่าวกรอง หรือความเชื่อจากการคุยกับคนไม่กี่กลุ่ม หรือทำให้ผู้นำเผด็จการรู้ว่าพรรคพวก/ลูกน้องของเขาในแต่ละภาคส่วนนั้นทำงานได้ดีแค่ไหน แต่เรื่องนี้ก็ยังไปไม่ลึกพอที่จะชี้ว่าเมื่อไหร่การตัดสินใจจะให้เลือกตั้งจะเกิดขึ้น เพราะเผด็จการนั้นอยู่ในอำนาจอยู่แล้ว หรืออาจจะเพิ่งยึดอำนาจมา การตัดสินใจว่าจะเปิดให้เลือกตั้งเมื่อไหร่ยังคงเป็นปมปัญหาที่ต้องศึกษากันต่อไป

ในมุมต่อมา เผด็จการอาจจะเปิดให้มีการเลือกตั้งเพื่อลดกระแสความไม่พอใจและตอบสนองข้อเรียกร้องในสังคม และบางทีก็อาจจะเป็นการตอบสนองที่ไม่ค่อยจะเป็นเรื่องที่ตรงจุด หมายถึงว่าการเลือกตั้งอาจจะลดกระแสความคาดหวังในสังคมที่มีต่อระบอบการเมืองที่อาจจะกระจายทรัพยากรได้ไม่ดีพอทีนี้เมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นมาทุกคนก็จะได้กลับไปคิดไปฝันกันใหม่ หรือที่อาจจะหนักกว่านั้นก็คือ การเลือกตั้งอาจจะเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างเงื่อนไขการต่อรองระหว่างประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนกับชนชั้นนำผ่านพันธสัญญาประเภทโครงการประชานิยม หรือระบบอุปภัมภ์ทั้งในพื้นที่กับกลุ่มตระกูลการเมือง หรือกับรัฐบาลกลางในแบบประชานิยมโครงการ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงก็คือการทำให้ประชาชนถูกครอบหรือติดกับกรอบของระบบอุปถัมภ์ในรูปแบบใหม่ๆ เพราะสุดท้ายการเลือกตั้งก็อาจเป็นเรื่องของการสร้างพันธมิตร หรือ เอามาเป็นพวก (co-optation) หรือผนวกเข้าสู่เครือข่ายอำนาจ

ในมุมที่สาม เรื่องที่สำคัญก็คือการเลือกตั้งเปิดโอกาสให้ผู้นำเผด็จการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจกับชนชั้นนำอื่นๆ หมายถึงการสร้างเครือข่ายอำนาจที่มีพลวัตของเผด็จการกับกลุ่มอำนาจอื่นๆ ในระนาบอำนาจเดียวกัน และในลำดับชั้นอำนาจที่รองลงมา เช่น การเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทำให้เผด็จการสามารถสร้างเครือข่ายและจัดความสัมพันธ์อำนาจระหว่างผู้นำเผด็จการจากส่วนกลาง และชนชั้นนำในระดับท้องถิ่นด้วย และการสร้างเครือข่ายนี้คือสถาบันความสัมพันธ์ที่ยืนยาวที่เรียกว่าความสัมพันธ์แบบสถาบัน (institutional) กับวงอำนาจต่างๆ และยังเปิดโอกาสให้เข้ามาแบ่งปันทรัพยากรและแสวงหาอำนาจร่วมกัน หรือภาษาวิชาการก็คือมาเก็บค่าเช่าร่วมกัน (บ้านๆ เรียกหากิน-โกงตามอำนาจที่ให้ เช่น อำนาจอนุมัติต่างๆ ที่อาจจะได้สินน้ำใจเล็กน้อยหรือมาก) รวมทั้งเข้ามาช่วยลดภาระในการรักษาอำนาจไว้ เช่น ชนชั้นนำเผด็จการในส่วนกลางเองก็จะต้องรักษาอำนาจผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นการเปิดให้มีการรับสมัครพรรคพวกใหม่ๆ มาผสมด้วยในส่วนกลาง และในท้องถิ่นก็จะทำให้เผด็จการส่วนกลางที่แกนกลางอำนาจนั้นลดภาระค่าใช้จ่ายในการระดมกระสุน/ทรัพยากรในการหาเสียงในรอบต่อไป

ลองเอาเรื่องนี้มาคิดดูในบ้านเรา ที่ชอบมีการฟันธงว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ผ่านมานั้นพรรคต่างๆ แทรกลงไปไม่ได้ในท้องถิ่น บ้านใหญ่เอาไปกินหมด ถ้าลองใช้มุมมองที่ผมเพิ่งสรุปมาจากองค์ความรู้เรื่องการเลือกตั้งในสังคมเผด็จการมาอธิบาย ก็จะเห็นว่าจะบ้านใหญ่หรือไม่ ภายใต้โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอยู่ และระบบรัฐรวมศูนย์นั้น ไม่ว่าจะแน่มาจากไหน จะบ้านใหญ่หรือบ้านใหม่ หรืออิสระ หรือพรรคไหน ก็ต้องเข้าสู่ระบบในการวิ่งงบกับกระทรวงต่างๆ อยู่ดี การที่จะเห็นนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลุกขึ้นมาประกาศเอกราชกับรัฐบาลกลาง หรือออกมาท้าทายรัฐบาลกลางนั้นก็เห็นจะเป็นได้ยาก และก็ไม่แปลกใจว่าส่วนมากแล้ว ผู้นำท้องถิ่นระดับนายกท้องถิ่นนั้นมักจะมีลักษณะรักทุกฝ่ายนั้นแหละครับ เพราะกว่าจะได้งบอุดหนุนต่างๆ ลงมาก็ต้องวิ่งและไหว้ไปทั่ว ดังนั้น ความสัมพันธ์แบบเป็นศัตรูและเผชิญหน้ากับรัฐบาลกลางแบบแตกหักไม่น่าจะเกิดได้ง่ายนัก

ยิ่งต้องเจอระบบราชการส่วนภูมิกาค ตั้งแต่นายอำเภอ และผู้ว่าฯ ที่ยุบองค์กรปกครองท้องถิ่นเองหรือชงเรื่องในการยุบองค์กรปกครองท้องถิ่นได้ แถมเจอกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าไปอีก ก็ไม่ต้องห่วงครับ เรียกว่าขยับกันแทบไม่ได้ ดังนั้นไม่ขัดแย้งแตกแยกกับส่วนกลางจะดีที่สุด ไม่งั้นโครงการต่างๆ จะผ่านลงสู่ประชาชนที่เป็นฐานคะแนนนั้นเป็นไปได้ยากเย็น

ผมมีตัวอย่างงานที่น่าสนใจที่ผมหยิบยืมแนวคิดหลายส่วนมาเขียนในส่วนแรกไปแล้ว และยังจะนำมาอธิบายเพิ่มในส่วนต่อไปด้วย นั่นก็คืองานศึกษาการเลือกตั้งท้องถิ่นในรัสเซีย (O.J.Reuter etal. 2016. “Local Elections in Authoritarian Regimes: An Elite-Based Theory with Evidence from Russian Mayoral Elections”. Comparative Political Studies. 49(5), 662-697) ซึ่งศึกษาพลวัตทางอำนาจของระบอบเผด็จการเน้นการแข่งขันของรัสเซียภายใต้การนำของปูติน และพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีในเมืองต่างๆ ของรัสเซีย การศึกษาแบบนี้ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันมากนักในการศึกษาการเมืองการปกครองท้องถิ่นในเมืองไทย ที่มักเน้นในเรื่องของโครงสร้างและการปฏิรูปโครงสร้างการปกครอง-การคลัง หรือศึกษาระบบอุปถัมภ์โดยเน้นดูว่าระบบอุปถัมภ์ทำงานอย่างไรในท้องถิ่นและเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน

งานของรอยเตอร์และคณะนำเสนอมุมมองจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่และชี้ให้เห็นปรากฏการณ์พิเศษที่เกิดในการเมืองเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นในรัสเซียที่ชี้ให้เห็นสัญญาณสำคัญของพลวัตของระบอบเผด็จการเน้นแข่งขันในการเมืองรัสเซียในภาพรวม โดยชี้ว่าจุดสำคัญในการพิจารณาก็คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรัสเซียจากยุคที่ก้าวออกจากสังคมคอมมิวนิสต์ ซึ่งการปกครองในรูปเทศบาลนั้นมักจะเป็นไปในลักษณะของการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงตามเมืองต่างๆ แต่เมื่อ 20 ปีผ่านไปสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่านายกเทศมนตรีของเมืองต่างๆ ในรัสเซียเกือบครึ่งนั้นถูกเปลี่ยนให้เป็นไปแบบของการแต่งตั้ง

แต่ไม่ได้แต่งตั้งแบบยึดอำนาจ แต่หมายความว่าสภาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่นั้นกลับลงมติเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นแบบนายกเทศมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งจากสภา อาทิ รูปแบบของผู้จัดการเมือง (city manager) และมีความพยายามเปลี่ยนกฎหมายที่ให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลางสามารถกำหนดได้ว่าจะยกเลิกระบบเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรง (แต่ก็ไม่สำเร็จ)

เรื่องผู้จัดการเมืองนั้น แม้ว่าหลายที่ในโลกจะชื่นชมว่าดี แบบสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นการเอาผู้บริหารมืออาชีพมาบริหารท่ามกลางการควบคุมของสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องพิจารณาอีกด้านหนึ่งด้วยว่าการมีผู้บริหารเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถควบคุมผู้บริหารหลักคนนี้ทางตรงได้ และในเมืองที่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน สมาชิกสภาท้องถิ่นแต่ละที่อาจจะต้องเข้าไปประนีประนอมกัน จนเราไม่รู้สึกว่าคนที่เป็นนายกเทศมนตรีของเรามาจากการเลือกของเราเลยก็อาจเป็นได้

ในรายละเอียดของเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้ในส่วนที่หนึ่งอาจไม่ค่อยน่าแปลกใจว่าเมืองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเมืองที่สมาชิกสภาจำนวนมากสังกัดพรรคของปูติน แต่ว่า (ย้ำ) ก็พบสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ว่า เมืองที่เปลี่ยนเป็นแบบไม่เลือกตั้งทางตรงนั้นกลับเป็นเมืองที่มีการแข่งขันทางการเมืองที่สูสีกัน กล่าวคือเป็นกรณีที่นักการเมืองท้องถิ่นหรือชนชั้นนำในท้องถิ่นสู้กันแบบหายใจรดต้นคอ คือไม่มีใครชนะเด็ดขาด

ขณะที่เมืองที่มีการชนะกันอย่างเด็ดขาด (ซึ่งบ้านเราอาจจะเรียกบางเมืองว่าบ้านใหญ่ หรือเมืองที่ผู้นำท้องถิ่นโดดเด่นด้วยความนิยม) ทางระบอบปูตินกลับปล่อยให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีทางตรงต่อไป

เกิดอะไรขึ้น? ทำไมเผด็จการไม่มองว่าผู้นำท้องถิ่นที่เข้มแข็งทั้งหมดนั้นเป็นศัตรูของเขาที่จะต้องกำจัด?

รอยเตอร์และคณะเสนอว่า แม้ว่าการเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในระบอบเผด็จการนั้นจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และมีต้นทุนที่สูง แต่เผด็จการเองก็ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้เช่นกัน เพราะบรรดานักการเมืองในระดับท้องถิ่นนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างจักรกลทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ เพราะการปล่อยให้พวกนี้พอมีอิสระบ้างจะเป็นสัญญาณที่สร้างความน่าเชื่อถือว่าพวกเขาจะได้รับความสนับสนุนมากจากฐานรากในพื้นที่ ยิ่งในพื้นที่มีแนวโน้มว่าจะไม่มีการพลิกโผกันคือถ้าผู้นำท้องถิ่นแบบบ้านใหญ่หรือนอนมา พวกผู้นำท้องถิ่นจะยิ่งได้รับความสนใจและสนับสนุนจากเผด็จการเพราะผู้นำท้องถิ่นที่มีคะแนนเสียง และได้รับความนิยมจากประชาชนจะมีส่วนช่วยยืดชีวิตของระบอบเผด็จการให้ยืนยาว

(ดังนั้น อย่าได้ฝันกันง่ายๆ แบบรุ่นครูบาอาจารย์ผมว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นคือการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจคือประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เพราะจะต้องดูเงื่อนไขอีกมากมายที่ทำให้เราเห็นว่าที่ผ่านมาทำไมยิ่งกระจายอำนาจแบบที่เป็นอยู่ ส่วนกลางยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น และส่วนท้องถิ่นทำไมกลายเป็นแขนขาของส่วนกลางมากขึ้นด้วย และต้องนำเอาสิ่งเหล่านี้ออกมาตีแผ่ให้เห็นผ่านการวิจัยมากขึ้น พูดอีกอย่างก็คือการเลือกตั้งและการปกครองท้องถิ่นในระบอบประชาธิปไตย และในระบอบเผด็จการทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน)

ดังนั้นรอยเตอร์จึงมองว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ หรือ เมื่อเผด็จการเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ได้แปลว่าเผด็จการล่าถอย หรือค่อยๆ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือเรียนรู้ประชาธิปไตย แต่หมายถึงว่ามันคือช่วงเวลาที่เผด็จการต้องการพันธมิตรทางอำนาจหรือต้องการเปิดให้มีสมาชิกใหม่ในเครือข่ายอำนาจของตน และเกิดขึ้นได้เมื่อเผด็จการนั้นมั่นใจว่าตนนั้นถืออำนาจและทรัพยากรทางการเมืองเอาไว้อย่างเต็มที่และมั่นคง และเมื่อผู้นำท้องถิ่นได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแล้ว เขาก็จะเลือกที่จะเข้ามาร่วมในวงอำนาจกับเผด็จการมากกว่าเลือกที่จะท้าทายเผด็จการ

ตัวอย่างสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือในตอนที่มีความพยายามจะสร้างกฎหมายใหม่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากส่วนกลางนั้นสามารถยกเลิกการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีทางตรงได้ (ไม่ต้องผ่านการเห็นชอบของสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน) แม้ว่าจะถูกคัดค้านอย่างหนักจากนายกเทศมนตรีหลายเมืองถึงกับรวมตัวกันออกมาวิจารณ์ สุดท้ายร่างกฎหมายนี้ของพรรครัฐบาลก็ถูกถอนออกไปจากฝ่ายพรรครัฐบาลเอง แต่หนึ่งเดือนผ่านไปทางพรรครัฐบาลเองกลับตั้งกลุ่มคล้ายกับสันนิบาตเทศบาลขึ้นมา และบรรดานายกเทศมนตรีที่มาจากพรรครัฐบาลก็สัญญากับพรรคว่าจะร่วมแรงร่วมใจช่วยพรรคหาเสียงและผลักดันนโยบายของพรรคและรัฐบาล นอกจากนี้แล้วจะพบว่าแม้ว่าความพยายามในการเสนอกฎหมายดังกล่าวจะถูกยกเลิกไป แต่ทว่าจำนวนนายกเทศมนตรีที่เข้ามาขอสังกัดพรรครัฐบาลก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า ถ้ามาร่วมงานกับพรรครัฐบาลก็คือการร่วมงานกับรัฐบาล และพวกเขาก็จะรอดจากการที่สมาชิกพรรครัฐบาลในสภาท้องถิ่นของเขาจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงกฎหมาย (หรือยกเลิกกฎหมาย) ว่าด้วยการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรง

การเคลื่อนไหวเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีไม่ให้มาจากการเลือกตั้้งทางตรง ซึ่งมาจากการพยายามของระบอบเผด็จการในการรวบอำนาจ สร้างดีล และสร้างแขนขาในพื้นที่ ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับความคาดหวังของประชาชนทั้งประเทศที่ตามผลสำรวจมองว่าพวกเขาต้องการนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่เอาเข้าจริงชะตาชีวิตทางการเมืองท้องถิ่นของพวกเขาเป็นเรื่องที่พวกชนชั้นนำแต่ละระดับเขาเจรจาต่อรองกันเสียมากกว่า และสุดท้ายประชาชนในพื้นที่ก็มองว่าบรรดานายกเทศมนตรีของพวกเขาก็เป็นคนของระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ไม่ว่าคนพวกนี้จะเริ่มเป็นสมาชิกของพรรครัฐบาลมาก่อนหรือไม่ แต่สุดท้ายส่วนมากก็ต้องเข้ากับรัฐบาลอยู่ดี

อีกทางเลือกในการตีความและอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ การอธิบายว่าแม้จะมีเมืองที่ฝ่ายไม่เอารัฐบาลมีชัยชนะและไม่ใช่พวกของรัฐบาล การพยายามดึงมาเป็นพวกดูจะเป็นทางออกที่ดีกว่าไปยกเลิกการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีทางตรง หรือใช้วิธีจัดการผ่านการจับกุมด้วยข้อหาว่าทุจริต ซึ่งรวมทั้งข้อหาทุจริตการเลือกตั้ง (ซึ่งก็เป็นตัวชี้วัดว่าระบอบเผด็จการนั้นมีอำนาจในการจัดการผู้นำที่หาญกล้ามาท้าทายและไม่ยอมเป็นพวกเดียวกับเขา) และในทางกลับกันหากมีการแพ้ชนะอย่างฉิวเฉียดในเมืองที่ฝ่ายตนเองอาจเพลี่ยงพล้ำ สภาท้องถิ่นที่เป็นพวกรัฐบาลก็จะเลือกทางออกในการกุมสภาพของการนำโดยการยกเลิกการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีทางตรงเพราะพวกเขาก็ยังแต่งตั้งได้อยู่ดี

หวังว่าบทเรียนเล็กๆ ในเรื่องนี้จากรัสเซียและการตั้งคำถามหลายอย่างในบทความชิ้นนี้น่าจะพอมีประโยชน์ในการย้อนคิดเรื่องการเปิดให้มีการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมาเมื่อปลายปีที่แล้ว และการเปิดให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image