โฮมสคูล : การศึกษาทางเลือก… โดย เฉลิมพล พลมุข

ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีการพัฒนาไปสู่ความเป็นอารยประเทศ หรือที่เรียกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ดัชนีชี้วัดหนึ่งก็คือคุณภาพของประชากรในชาติบ้านเมืองนั้นๆ ที่มาจากรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญของระบบการศึกษาตั้งแต่ในระดับปฐมวัยไปจนกระทั่งถึงระดับบัณฑิตศึกษาในหลากหลายบริบท ผู้ที่จบการศึกษามีความรู้ ความสามารถ ทักษะวิชาชีพย่อมจักนำไปประกอบอาชีพในการพัฒนาชาติบ้านเมืองทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

โฮมสคูล (Home school) ก็คือการศึกษาที่มาจากครอบครัวผ่านการเรียนรู้จากพ่อแม่ผู้ปกครองหรือที่เรียกว่าการเรียนที่บ้านโดยได้รับคุ้มครองในด้านกฎหมาย ซึ่งมีทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่สามารถใช้เทียบโอนในระบบการศึกษาได้ ในเมืองไทยเราได้มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ได้รับรองไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ในมาตรา 12 ที่ระบุไว้ว่า นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่นมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง…

การสำรวจหรือเก็บข้อมูลของ twinkl.co.th ที่เกี่ยวข้องกับจำนวนนักเรียนในระบบโฮมสคูลจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ จำนวนนักเรียนในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 40% ภายในเวลาสามปี (2015-2018) ประเทศญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายรับรองถึงระบบโฮมสคูล แต่ก็สามารถดำเนินการได้โดยถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ข้อเท็จจริงหนึ่งยังมีในหลายประเทศแถบยุโรปที่ไม่มีกฎหมายรับรองที่ชัดเจนอาทิ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ กรีซ สวีเดน สำหรับเมืองไทยเราการเรียนการสอนดังกล่าวยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักโดยผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่ยังคงปกป้องบุตรหลานจากสภาพแวดล้อมของสังคม มลพิษมลภาวะ ความเจ็บป่วยจากโรคระบาดต่างๆ โดยมีนักเรียนที่เลือกเรียนในระบบดังกล่าวอยู่ที่ตัวเลข 0.01% (campus-star.com)

ผู้เขียนใคร่ขอนำตัวเลขของผู้เรียนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกจากการสำรวจดังกล่าวอาทิ สหรัฐอเมริกา มีผู้เรียน 2,500,000 คนหรือคิดเป็น 3% แคนาดา มีผู้เรียน 100,000 คนหรือ
1.8 % สหราชอาณาจักร มีผู้เรียน 60,544 ชิลี มีผู้เรียน 15,000 คน แอฟริกาใต้ มีผู้เรียน 30,000 คน รัสเซีย มีผู้เรียน 100,000 คน ฟิลิปปินส์ มีผู้เรียน 12,000 คน นิวซีแลนด์ มีผู้เรียน 6,573 คน ออสเตรเลีย มีผู้เรียน 30,000 คน และเมืองไทยเรามีผู้เรียนประมาณ 1,000 คน…

Advertisement

ระบบการเรียนแบบโฮมสคูลมีทั้งการเรียนแบบไม่ต้องการวุฒิการศึกษาและต้องการวุฒิการศึกษาโดยมีการศึกษาตั้งแต่ก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมต้น-ปลาย ในสังคมไทยเราการเรียนการสอน กศน. หรือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ก็เป็นระบบการศึกษาหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการที่อยู่ในสังคมไทยเราเป็นเวลานาน ในสมัยก่อนหากผู้เรียนหรือครอบครัวใดที่ไม่สามารถจะส่งเสียให้บุตรหลานเข้าเรียนในระบบได้ก็ให้ออกมาทำงานช่วยครอบครัว เมื่อถึงเวลาและโอกาสเหมาะสมก็ให้ไปสมัครเรียน กศน.

การเรียนการสอนแบบ กศน. ในสังคมไทยเราก็ถูกตั้งข้อสังเกตทั้งระบบของการเรียนการสอน ความรู้ความสามารถของครูผู้สอน วันเวลาการเรียน มิอาจจักรวมถึงคุณภาพแห่งความรู้ในรายสาระวิชาต่าง ๆ อาทิ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ หรือรายวิชาที่ต้องมีความรู้เพื่อไปสอบเข้าเรียนแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ พยาบาล การเรียนในระบบดังกล่าวมุมมองหนึ่งก็เสมือนกับการเรียนลัด

หลักการหนึ่งของการศึกษาในเรียนโฮมสคูลก็คือ เชื่อว่าวัยเด็กคือวัยแห่งการเรียนรู้ แสวงหาที่ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน การเรียนตลอดวันในห้องเรียนของโรงเรียน ทำให้เด็กมีความกดดัน ในบางวิชาที่เด็กไม่ชอบหรือไม่ถนัดก็เสมือนกับเป็นการบังคับให้มีการเรียนเพื่อจะได้คะแนนหรือเกรดที่พ่อแม่ผู้ปกครองได้คาดหวังไว้ ความคาดหวังหนึ่งของสังคมที่ว่า เด็กที่ขาดการเข้าสังคม ชอบอยู่กับโลกส่วนตัวก็อาจจักพบได้ในเด็กที่จบจากในระบบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาเช่นกัน

Advertisement

ไฮบริด โฮมสคูล (Hibrid Homeschooling) ก็คือการเรียนการสอนแบบลูกผสมระหว่างการเรียนในสถาบันการศึกษากับการเรียนกับครอบครัวที่บ้าน โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาในหนึ่งสัปดาห์ ผู้ปกครองจะเลือกหลักสูตรที่ให้เด็กนักเรียนจะไปโรงเรียนเพียง 2-3 วันเวลานอกจากนั้นก็จะเรียนกับครอบครัว โดยผู้เรียนสามารถเลือกใช้สื่อการสอนออนไลน์ สื่อที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงสื่อที่บริษัทจัดทำธุรกิจสื่อการสอนไว้จำหน่าย สิ่งหนึ่งก็คือความสามารถ ทักษะความรู้ที่ตนถนัดและชอบได้ อาทิ การเข้าชมรมดนตรี การขับร้อง สมาชิกบุ๊คคลับ ศิลปะแขนงต่างๆ เครื่องยนต์กลไก เกมการเพาะปลูก รวมถึงการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ

ไมค์ แมคเชน (Mike Mcshane) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาโฮมสคูลได้กล่าวถึง โรงเรียน Regina Caeli schools ที่มีวิทยาเขตในอยู่ 11 รัฐของอเมริกา ได้มีโปรแกรมที่เรียนที่บ้านเพียง 3 วัน และแต่งตัวด้วยชุดเครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนเพียง 2 วัน ในระบบดังกล่าวโรงเรียนจะเน้นให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการอภิปราย ถกเถียง แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ อาทิ การอภิปรายด้านปัญญาความรู้แบบโสเครตีส (Socratic seminar) และศึกษาตำราคลาสสิกต่างๆ ของคาทอลิก

สังคมไทยเราและสังคมในระดับโลกในวันเวลานี้ ผลกระทบหนึ่งที่ปฏิเสธมิได้ก็คือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายในจำนวนของผู้ติดเชื้อไปทั่วโลก อาชีพการงานของผู้ปกครองหลายครอบครัวต้องอยู่ในภาวะวิกฤต การตกงานหรือการไม่มีงานทำ การต้องแสวงหางานหรือเงินหนทางใหม่เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว มิอาจจักรวมถึงระบบการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน สถาบันการศึกษา หากเป็นผู้เรียนที่อยู่ในระดับปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนทั่วประเทศก็ถูกสั่งจากเจ้ากระทรวงให้ยุติการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนและสั่งการให้ไปจัดการสอนในระบบออนไลน์แทน…

ข้อมูลหนึ่งของนายสมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นที่ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ออกแบบจัดระบบการศึกษาไว้รองรับในระบบออนไลน์ หากครูหรือโรงเรียนใดไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ก็ให้ครูได้ส่งใบงานให้นักเรียนและติดตามผลสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือใบงานที่ต้องทำที่บ้านทำให้เด็กบางส่วนไม่มีวินัย ไม่ทุ่มเทกับการเรียนรู้ ไม่มีสมาธิกับการเรียน สิ่งหนึ่งก็คือระบบดังกล่าวถูกสั่งจากเจ้ากระทรวง ผอ.เขตการศึกษาโดยที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูไม่มีโอกาสในการออกแบบการเรียนรู้ในภาวะของโควิด-19 (มติชนรายวัน 12 มกราคม 2564 หน้า 18)

สิ่งสะท้อนหนึ่งก็คือ กลุ่มนักเรียนเลวได้จัดกิจกรรมเรื่องนโยบายเรียนออนไลน์ที่ไร้ประสิทธิภาพ ไร้มาตรฐาน ไร้สาระ ไร้ประโยชน์และไร้ความรับผิดชอบ โดยมองว่าในเมืองไทยเราจะมีโรงเรียนที่สนองนโยบายดังกล่าวไม่มากนักซึ่งจะอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมทั้งจำนวนครู บุคลากรและเครื่องมือสื่ออุปกรณ์ต่างๆ ขณะเดียวกันยังมีโรงเรียนอีกจำนวนนับหมื่นโรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในระบบดังกล่าวได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นวิธีการประคับประคองในสภาพปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น…

สำหรับการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาหรือระดับปริญญา ในหลายสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยหลังจากการสอบปลายภาคที่ 1/2563 ไปในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แล้วเมื่อถึงต้นเดือนนี้ก็กำหนดให้มีการเรียนการสอนในเทอม 2/2563 ตารางการเรียนการสอนทั้งผู้สอนและผู้เรียนต้องมีการปรับตัวขนาดยิ่งใหญ่ อาทิ ต้องมีการสอนในระบบออนไลน์ที่ทางสถาบันการศึกษาได้กำหนดไว้ สภาพปัญหาหนึ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้ก็คือ การจัดการเรียนการสอนในภาวะจำยอมหรือจำเป็นของการระบาดของโรค จักเป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพของผู้เรียน หรือการสอนที่มีประสิทธิภาพของผู้สอนไปด้วยหรือไม่

สังคมไทยเรามีการจัดการเรียนใน ระบบ กศน. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช การเรียนทางไกล การเรียนทางไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้เรียนบางคนขณะต้องโทษในเรือนจำเรียนจบในระดับปริญญา อะไร สิ่งใดคือมาตรฐานของการเรียนรู้ที่แท้จริงของชีวิต วันเวลานี้มาถึงเราท่านทุกภาคส่วนต่างต้องช่วยกันรับผิดชอบในคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนไทยทุกคน เพื่อส่งเขาให้ไปถึงฝันแห่งอนาคตในวันข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image