เดินหน้าชน : 2ประเทศ1ระบอบ โดย โกนจา

ทั่วโลกออกมาประณามหลังทหารเมียนมา นำโดย มิน อ่อง ลาย ผบ.สูงสุด ออกมาประกาศยึดอำนาจ มีแถลงการณ์ออกมา 2 ฉบับ ที่พูดถึงการเลือกตั้งว่าไม่มีความถูกต้อง ชอบธรรม, กกต.โกง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาแทรกแซงไม่ให้การเมืองของเมียนมาเละเทะไปกว่านี้ พร้อมคุมตัวมุขมนตรีแต่ละรัฐ และนักการเมืองฟากประชาธิปไตยไป

การประกาศกฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะเวลา 1 ปี หมายความว่า กองทัพเมียนมามองเป็นเกมระยะยาว และนำรองประธานาธิบดี ที่เป็นคนของกองทัพขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดีปัจจุบัน

แพลตฟอร์มเหมือนประเทศไทยเป๊ะๆ พัฒนาการทางประชาธิปไตยของ 2 ประเทศช่างถอดแบบมาจากพิมพ์เดียวกัน

กองทัพ 2 ประเทศมีอำนาจล้นฟ้าเข้ามามีบทบาทเหนือประชาธิปไตยในทุกๆ กรณี

Advertisement

ผมนั่งอ่าน ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ “อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่ออกมาวิเคราะห์ถึงเหตุผลการยึดอำนาจครั้งนี้ มีเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่าง แต่สรุปง่ายๆ คือ พรรคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของออง ซาน ซูจี ไปเหยียบเท้าของกองทัพ ด้วยเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ

“มันเป็นความกลัว มันเป็นความพารานอยด์ และด้วยปัจจัยหลายอย่าง ฉะนั้น จะบอกว่าฟางเส้นสุดท้ายคืออะไร ส่วนตัวค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าเขาคิดเรื่องการปฏิวัติ เขาคิดมานานแล้ว มันอยู่ในหัวของผู้นำกองทัพมานานแล้ว เพียงแต่จะปฏิวัติเมื่อไหร่เท่านั้นเอง แสดงว่าวันนี้เป็นวันที่ฤกษ์ดี” ผศ.ดร.ลลิตาระบุ

เช่นเดียวกับ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ที่สื่อออกมาตรงๆ ว่า ทหารเมียนมาตัดสินใจรัฐประหารอีกครั้ง หลังจาก 10 ปีของการปล่อยให้มีการเลือกตั้ง และ 5 ปีของการบริหารประเทศของ ออง ซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากเสียงประชาชนอย่างแท้จริง 5 ปีที่ผ่านมา เมียนมาพัฒนาขึ้นในหลายด้าน สิ่งเดียวที่ทำให้การพัฒนานั้นต้องหยุดลง คือ การที่ซูจีพยายามผลักดันปฏิรูปกองทัพ การกระทำของเขาในวันนี้พิสูจน์ชัดว่า ทหารไม่ได้ใช้อำนาจเพื่อพิทักษ์ประเทศและประชาชนตามที่อ้าง แต่ต้องการผูกขาดอำนาจไว้ที่เหล่านายพล รักษาอำนาจตัวเอง

Advertisement

หากมองดูในระดับภูมิภาคและระดับโลก ประเทศที่วนเวียนอยู่กับคำว่า การรัฐประหาร หรือยึดอำนาจของทหาร ชื่อของ “ไทย-เมียนมา” ถือว่าอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก

ซึ่งผลกระทบจากการใช้ระบอบเผด็จการทหารปกครองประเทศ ต้องไปอ่านบทความของ วิลเลียม เปเส็ก นักข่าวมือรางวัลประจำกรุงโตเกียว ที่เว็บไซต์ข่าว นิกเคอิ นำออกมาเผยแพร่ เปรียบเทียบประเทศไทยกับ “ทศวรรษที่หายไป” นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 จนถึงการรัฐประหารสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 คน

จากประเทศคู่แข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลก วันนี้ถูกลดบทบาทไปนานนับสิบปี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต่อสู้กับโลกกำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว แต่การเมืองไทยกลับฉุดรั้งความเจริญไว้ และไทยกำลังเผชิญกับหายนะแบบสโลว์โมชั่น

ความเห็นของ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ น่าจะเป็นบทสรุปในความเหมือนของระบอบเผด็จการทหารที่กำลังกลืนกิน 2 ประเทศที่มีพรมแดนใกล้ชิดติดกัน

ผศ.ดร.ประจักษ์ระบุว่า ในศตวรรษที่ 21 มีข้อเท็จจริง 3 ข้อที่งานวิจัยทางรัฐศาสตร์สรุปไว้อย่างเป็นเอกฉันท์ 1.ไม่มีประเทศไหนที่ทำรัฐประหารแล้วจะเจริญได้ 2.ไม่มีประเทศใดที่นายพล
บริหารประเทศแล้ว ประเทศจะพัฒนา 3.การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ คือบ่อเกิดของความแตกแยกในสังคม และทำให้ประเทศถอยหลัง

ทักษะที่นายพลไทยและพม่ามี ซึ่งนายพลประเทศอื่นๆ ในโลกไม่มี (นายพลประเทศอื่นมีทักษะปกป้องประเทศชาติเป็นสำคัญ) คือ 1.ทักษะในการทำรัฐประหารยึดอำนาจ 2.สร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนและแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนมีฐานะร่ำรวย 3.อุปถัมภ์พวกพ้อง ตั้งพรรค และเข้ามาเล่นการเมือง และรัฐประหาร

“ไทย-พม่า” คือ “2 ประเทศ 1 ระบอบ” ที่กำลังสร้างหายนะให้ประเทศชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image