รื้อระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

รื้อระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

รื้อระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

กรณีผู้สูงอายุมากกว่า 15,000 คนทั่วประเทศ รับเบี้ยคนชราหรือผู้สูงอายุสองทาง ทั้งรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และรับเบี้ยบำนาญพิเศษอีกทางหนึ่งจนเป็นที่มาของการเรียกร้องให้คืนเบี้ยคนชรากับผู้สูงอายุที่รับเงินทั้งสองทาง ซึ่งมีการตีความว่าเป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน และเป็นที่มาของการถกเถียงกันว่าจะต้องจ่ายเงินคืนหรือไม่
หากย้อนไปพิจารณาระเบียบกระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ.2552 ซึ่งได้ออกหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กำหนดว่าผู้มีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ซึ่งหลักเกณฑ์เดิม การจ่ายเบี้ยยังชีพปี พ.ศ.2548 ไม่มีข้อกำหนดนี้

หลักเกณฑ์เดิมปี พ.ศ.2548 ระบุการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงว่า “เป็นผู้มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ถูกทอดทิ้ง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้”

ประเด็นการเรียกเงินคืน การรับเบี้ยสองทาง ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โดยการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการทวงเงินคืน สำหรับผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อนนั้น จะต้องพิจารณาให้รอบคอบในการเรียกเงินคืน ทั้งนี้ เพราะการที่ผู้สูงอายุรับเงินเบี้ยยังชีพ และรับเบี้ยบำนาญพิเศษ อาจจะเป็นเรื่องที่เขาไม่ทราบเรื่องระเบียบ ข้อกฎหมาย และรับไปด้วยความสุจริตใจ จะต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นคนจน ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ หรือไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ

Advertisement

ดังนั้นการเรียกเงินคืน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” จะเท่ากับเป็นการซ้ำเติม และสร้างภาระความเดือดร้อนให้แก่ผู้สูงอายุอีกต่อหนึ่งหรือไม่ และเห็นว่าการหาทางออกเพื่อเยียวยา จะเป็นวิธีการหนึ่ง โดยเฉพาะทางออกในการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การช่วยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี พ.ศ.2552 เพื่อปลดล็อกเปิดทางให้รับเบี้ยเลี้ยงทั้งสองทางได้ หรือจะหาแนวทางเยียวยาอย่างไร ไม่ต้องจ่ายเงินคืน เพราะเห็นว่ามีข้อบกพร่องที่ส่วนราชการในส่วนที่ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้มานานนับเป็นสิบๆ ปี

ผมจึงเข้าใจว่า “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” จึงควรจะเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจริงๆ เพื่อช่วยผู้สูงอายุสำหรับผู้มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ เป็นผู้ยากไร้ ถูกทอดทิ้งขาดการอุปการะเลี้ยงดู และไม่สามารถที่จะพึ่งตนเองได้

โดยเห็นว่า จะต้องมีการปรับระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ ซึ่งเสนอว่า “ผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองได้” ไม่ควรให้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะต้องมาวางหลักเกณฑ์ว่าผู้สูงอายุที่ไม่เข้าข่ายรับเบี้ยยังชีพ มีคุณลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง เช่น เป็นผู้มีรายได้ประจำที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ หรือมีรายได้จากการประกอบการ โดยทรัพย์สินของตนเอง เช่น เป็นเจ้าของกิจการ โรงแรม คอนโดมิเนียม รีสอร์ต โรงงาน ห้างร้าน และห้างสรรพสินค้า หรือเป็นผู้ที่มีเงินออมอยู่ในบัญชีเป็นของตนเองมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น ซึ่งทำให้คนมีฐานะพึ่งตนเองได้จะต้องเสียสละเงินส่วนนี้ ถือเป็นการสนับสนุนคนที่แข็งแรงช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า

Advertisement

การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเฉพาะคนจน ที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ เท่ากับเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในทางฐานะความเป็นอยู่ให้ลดลง และยกระดับการดูแลคนอ่อนแอให้มีความแข็งแรงมากขึ้น นับเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยด้วยซ้ำไป

จึงเห็นว่ารัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีการทบทวนการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยเฉพาะข้อเสนอให้การจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุใหม่ เฉพาะกลุ่มที่มีคุณลักษณะตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2548 เท่านั้นผมจึงเห็นด้วยว่า ควรจ่ายเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ หรือเฉพาะคนจน ตามเกณฑ์ลักษณะที่กำหนดขึ้นเท่านั้น ไม่ควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า และจะทำให้เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะได้ขยายวงเงินให้กับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มากกว่า 600 บาท หรือ 700 หรือ 800 ต่อเดือน เพื่อให้คนจนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะช่วยลดช่องว่างลดความเหลื่อมล้ำไปในตัว

จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดทำฐานข้อมูลประชากรที่เกี่ยวข้องกับความยากจน ฐานะรายได้ และบุคคลที่เป็นผู้มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพ ถูกทอดทิ้ง เป็นผู้ยากไร้ ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการสำรวจข้อมูลบุคคล และวิเคราะห์บุคคลที่จะเป็นฐานของข้อมูลผู้สูงอายุที่จะต้องได้รับสวัสดิการผู้สูงอายุ “เบี้ยยังชีพ” ซึ่งอาจจะรวมถึงฐานข้อมูลผู้ยากไร้อื่นๆ เพื่อจัดสวัสดิการด้านอื่นๆ ให้กับบุคคลประเภทที่ควรจะได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความยากจนที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในประเทศลงได้ต่อไป

จึงเสนอว่า ถึงเวลาที่จะต้องกลับมาทบทวน ปรับระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ และจะช่วยให้ตอบโจทย์การแก้ความยากจน และให้คนจนที่ไม่มีรายได้เพียงพอจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image