ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ เอกสารสิทธิที่ดินและประชากร

ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ เอกสารสิทธิที่ดินและประชากร

ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่
เอกสารสิทธิที่ดินและประชากร

1

ย่อมเป็นที่ทราบดีว่าที่ดินเป็นสินทรัพย์อันมีค่า ทุกครัวเรือนล้วนประสงค์มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน เพื่อทำมาหากินเป็นความมั่นคงหรือถ่ายโอนเป็นมรดกให้ลูกหลานในวันข้างหน้า ที่ดินจำนวนหนึ่งเป็นสมบัติของชาติจึงมิได้ออกเอกสารสิทธิให้บุคคลครอบครอง ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยเล็กๆ ศึกษาสถิติการถือครองที่ดินโดยมีเอกสารสิทธิตามกฎหมายเป็นรายจังหวัด เปรียบเทียบกับจำนวนประชากร พร้อมเสนอข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่

2

Advertisement

กรมที่ดิน เป็นหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ออกเอกสารสิทธิที่ดินตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2444 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาถึงปี 2562 ได้ออกเอกสารสิทธิให้บุคคลหรือนิติบุคคลจำนวน 39 ล้านแปลง กระจายในทุกจังหวัด จำนวนมากน้อยต่างกัน ในจังหวัดที่มีป่าไม้หรือพื้นที่อนุรักษ์–จำนวนโฉนดจะมีจำนวนน้อยกว่าจังหวัดอื่น นักวิจัยคำนวณอัตราส่วนการถือครองที่ดินเปรียบเทียบกับประชากรร้อยคน พบความแตกต่างค่อนข้างสูง ค่าพิสัยระหว่างร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 93 (หมายถึง ในจำนวนประชากร 100 คนของจังหวัด มีเอกสารสิทธิ 93 แปลง) รูปภาพที่ 1 แสดงการกระจายของการถือครองที่ดินต่อประชากรร้อยคนส่วนใหญ่ระหว่าง 60% ถึง 70%

ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ เอกสารสิทธิที่ดินและประชากร

3

Advertisement

ตารางที่ 1 แสดงสถิติ 12 จังหวัดที่มีอัตราการถือครองที่ดิน (ต่อประชากรร้อยคน) สูงที่สุด เกินกว่า 75% ขึ้นไป จังหวัดลำปาง ลำพูน และแพร่อยู่ในลำดับต้นของตาราง ท้ายตารางแสดง 7 จังหวัดที่มีอัตราการถือครองที่ดินน้อยที่สุด กรณีจังหวัดแม่ฮ่องสอนค่อนข้างสุดโต่ง (เอกสารสิทธิไม่ถึง 10%) ซึ่งเข้าใจได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าไม้หรือที่สูงการออกเอกสารสิทธิจึงทำได้จำกัด อาจเป็นด้วยเหตุผลนี้แม่ฮ่องสอนมักติดอยู่ในลำดับท้ายๆ ของประเทศเมื่อวัดด้วยผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) เพราะพื้นที่ทำการเกษตรน้อย โรงงานอุตสาหกรรมก็น้อยหรือไม่มี แต่ในความจำกัดยังมีของดีประจำจังหวัด ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมแต่ละปีจำนวนไม่น้อย จังหวัดกำแพงเพชรและตากก็ทำนองเดียวกันมีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จังหวัดกำแพงเพชรหรือตาก ยังมีโรงงานอุตสาหกรรม มีการค้าชายแดน และมีผลผลิตการเกษตรที่โด่งดัง (กำแพงเพชรขึ้นชื่อกล้วยหอม)

4

งานวิจัยนี้เป็นส่วนย่อยของการศึกษาความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจังหวัดและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน สกสว. โดยตระหนักว่าที่ดินเป็นทรัพยากรอันมีค่า ไม่เพียงเป็นแค่ปัจจัยการผลิต ยังมีคุณค่าที่มองไม่เห็นในด้านจิตใจ ด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ นโยบายที่ดิน (land policy) เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ธนาคารโลกเคยสนับสนุนนโยบายการออกเอกสารสิทธิ (land titling program) ในหลายสิบประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ผลงานวิจัยที่ดิน (ระดับตำนาน) โดย ศ.ดร.ทองโรจน์ อ่อนจันทร์ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และคณะสนับสนุนให้กรมที่ดินลงทุนพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และบัญชี นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการออกเอกสารสิทธิได้รวดเร็ว ส่งเสริมให้เกษตรกรหลายล้านคนมีเอกสารสิทธิถือครองและเข้าถึงสินเชื่อสถาบันการเงิน และผลบวกต่อประสิทธิภาพการผลิตและการเติบโตของสาขาการเกษตรในสามทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นโยบายการออกเอกสารสิทธิที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ ในด้านหนึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้เพื่อเป็นสาธารณสมบัติ รักษาสภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยังยืน อีกด้านหนึ่งมีแรงกดดันให้รัฐออกเอกสารสิทธิเพื่อประชาชนมีที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร-อุตสาหกรรม-การพาณิชย์-การท่องเที่ยว รวมทั้งพื้นที่พัฒนาถนนรางรถไฟและสนามบินเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสมดุลหรือ “ดุลยภาพ” ของนโยบายที่ดินอยู่ที่ใด? ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนใดคนหนึ่งจะตอบได้ แต่ต้องร่วมกันพิจารณาโดยอิงฐานการวิจัยอย่างเข้มข้นและวิจารณญาณของผู้บริหารระดับชาติ/จังหวัดด้วยความสุขุมรอบคอบ

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
ณัฐพล สร้อยสมุทร
เมรดี อินอ่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image