สถานีคิดเลขที่ 12 : ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

สถานีคิดเลขที่ 12 : ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในชั้นพิจารณา

สถานีคิดเลขที่ 12 : ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการ
คืบหน้าเป็นลำดับ
จุดอ่อนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากเนื้อหารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สอดคล้องหลักประชาธิปไตยสากล หนำซ้ำแก้ยาก
วาระ 1 และ 3 มีเงื่อนไขสำคัญกำกับ
เสียงเห็นชอบกึ่งหนึ่งของรัฐสภาไม่พอ หากแต่ยังต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.แต่งตั้ง 1 ใน 3 หรือ 84 คนด้วย
การรวมศูนย์จุดอ่อนอยู่ในฉบับเดียวกันนี่เอง นำมาสู่การเคลื่อนไหว เสียงเรียก
การจำยอมต้องแก้ไขในที่สุด

แต่ประเด็นแก้ไข และเนื้อหาใหม่ ยังเป็นข้อถกเถียงต่อสู้
โดยเฉพาะจำนวนเสียงที่ใช้แก้ไขในอนาคต
ล่าสุด เสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการมีมติเห็นชอบ ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภารวมกัน ในวาระ 1 และ 3
หากเปรียบเทียบกับรัฐสภาปัจจุบัน มีสมาชิกเต็มจำนวน 750 นั่นหมายความว่า
วาระที่ 1 และ 3 ต้องได้รับเสียงเห็นชอบ 500 คน (เท่ากับจำนวน ส.ส.เต็มสภา)
จำนวนเสียงที่ใช้แก้รัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในหัวข้อหลัก ถกเถียงมาโดยตลอด
ทุกครั้งการแก้ไข
ร่างของฝ่ายค้าน เสนอแก้ครั้งนี้ เขียนไว้ที่กึ่งหนึ่ง ตามเกณฑ์ตัดสินระบอบประชาธิปไตย ขณะฉบับพรรครัฐบาล ระบุ 2 ใน 3
ในบรรดาฝ่ายสนับสนุนให้ใช้เสียงมาก ไม่ว่า 2 ใน 3 หรือมากกว่านั้น ปีกนี้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทการปกครองประเทศสูงสุด ควรแก้ยาก ไม่พร่ำเพรื่อเดี๋ยวแก้ เดี๋ยวรื้อ
ทั้งยังวิตกว่า หากแก้ง่าย ใช้เสียงน้อย
รัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภา จะฉวยโอกาสแก้ไข เพื่อให้ได้เปรียบทางการเมือง
จำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขไว้สูง

น่าเสียดาย ที่กรรมาธิการฯมิได้ชี้แจงเหตุผลอย่างละเอียด ถึงที่มามติเลือก 2 ใน 3 ตั้งอยู่บนฐานคิดหลักใด มีแต่เสียงร่ำลือว่า เป็นการล็อกอีกชั้น ให้รัฐสภากุมชะตาการแก้ไขทั้งหมด
เพื่อแลกกับการที่ยอมให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง ยอมให้ ร่าง-กำหนดพิมพ์เขียว ออกมาอย่างไรก็ได้
แต่การแก้ไขต้องผ่านด่านคัดกรองสุดท้าย ในจำนวนเสียงที่สูงถึง 2 ใน 3
การที่กรรมาธิการหรือใครก็ตาม ห่วงนั่นนี่ เป็นเรื่องที่พอรับฟังได้
แต่ไม่ควรวิตกเกินเหตุ ในสิ่งสมมุติ เรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
อย่างกรณี กลัวว่า หากไม่กำหนดเกณฑ์เสียงแก้ไว้สูงๆ รัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากในสภา อาจเสนอแก้ตามอำเภอใจ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือ ส.ส.ร.อาจเขียนเนื้อหา ล้ำ-ก้าวหน้า ทะลุกรอบที่ควรเป็น

Advertisement

เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นวาระใหญ่ระดับชาติ
กระทบสิทธิ เสรีภาพ ส่วนได้ส่วนเสียของทุกคน
ประชาชน ภาคประชาสังคม จึงเป็นผู้เข้ามากำกับ ควบคุม การแก้ไขอีกชั้น
อย่าว่าแต่รัฐธรรมนูญเลย การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ คุมเสียงข้างมากในสภา แต่ทว่าก็เคยตกม้าตายมาแล้ว
เนื่องจากประชาชนคัดค้าน ต้องทบทวน ถอยสุดซอยในท้ายที่สุด
รัฐธรรมนูญที่เป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น
เขียน-แก้ตามอำเภอใจไม่ได้หรอก ยกเว้นในยุคเผด็จการ

จำนวนเสียงที่ใช้แก้รัฐธรรมนูญสำคัญ แต่ก็มิได้เป็นหลักประกันแก้สำเร็จสูงสุด
เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องอยู่บนพื้นฐานการเห็นพ้องต้องกัน การมีส่วนร่วม กำหนดประเด็นเนื้อหา ความต้องการของประชาชน มิพักต้องพูดถึงการทำประชามติ
ถ้ารัฐธรรมนูญดีอยู่แล้ว ยึดโยงประชาชน ทุกภาคส่วนให้การยอมรับ
แม้ใช้เสียงครึ่งเดียว ก็ใช่ว่าจะเขียน แก้ รื้อใหม่ เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตัวอย่างไรก็ได้ ตามใจชอบได้อย่างง่ายๆ

ตรงกันข้าม อย่าว่าแต่แก้เลย แม้แต่ไม่ยอมให้แก้ ต้องการรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย
รัฐบาลเสียงข้างมากคุม 2 สภาเบ็ดเสร็จ ก็ยังทำไม่ได้
จำนวนเสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นแค่เกณฑ์กติกา
แต่ในทางปฏิบัติ กำหนดเนื้อหาตามอำเภอใจ-มีวาระซ่อนเร้นการเมืองไม่ได้หรอก

Advertisement

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image