เดินหน้าชน : ทางออกเบี้ย‘ชรา’ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

ปมเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั่วประเทศกว่า 1.5 หมื่นราย เนื่องจากไปรับเงินซ้ำซ้อนเงินสวัสดิการของรัฐกับเบี้ยบำนาญพิเศษ ลูกหลานและผู้สูงอายุกังวลและเครียดไปตามๆ กัน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ต้องเป็นคนทวงเงินคืน ไม่ทวงก็ผิดหน้าที่อีก

จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้พบกับทางออกที่ลงตัว บางรายบ่นว่าไม่มีปัญญาไปจ่ายคืน ยอมติดคุกตอนแก่ ตอนรับแต่ละเดือนก็ได้กันหลักร้อย แต่พอถูกทวงคืนคิดเป็นเงินก้อนพร้อมดอกเบี้ย ปาเข้าไปหลายหมื่นจนเกือบหลักแสน

ความเห็นอกเห็นใจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาพูดให้เกิดความชัดเจนในเบื้องต้นว่า งานนี้ไม่มีใครต้องติดคุก
ให้ชะลอไม่ต้องจ่ายไปก่อนรวมทั้งอย่าเพิ่งแจ้งความเอาผิด พร้อมที่จะหาช่องทางของกฎหมายมาแก้ไขเพื่อให้ทุกอย่างลงตัว

ล่าสุด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) มีตัวแทนจากปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สรุปว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น มีจำนวน 15,323 คน

Advertisement

ที่ประชุมตกผลึกหาทางออกเป็น 3 เรื่อง คือ 1.เห็นชอบตาม ครม.ให้ชะลอเรียกเก็บเงินคืนไว้ก่อน 2.ให้ ครม.หาแนวทางเยียวยาผู้ที่ได้รับสิทธิและเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการโดยสุจริต และ 3.ตั้งคณะทำงานพิจารณาการรับสิทธิซ้ำซ้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่าควรให้ผู้รับสวัสดิการกลุ่มใดบ้างที่ควรได้รับสวัสดิการซ้ำซ้อน

ทั้งนี้มีข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เสนอให้กลุ่มบำนาญพิเศษได้รับสวัสดิการซ้ำซ้อน ในประเทศไทยมีการจ่ายเบี้ยบำนาญทั้งหมด 24 ประเภท ที่ทั้งหมดจะถูกปัดฝุ่นใหม่กันอีกรอบ ว่ากลุ่มเบี้ยบำนาญไหนสามารถรับซ้ำซ้อนกับเบี้ยสูงอายุ

การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้เรียกประชุมหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ยืนยันเป็นมติเห็นชอบในที่ประชุมว่า เงินบำนาญพิเศษเป็นคนละก้อนกับเบี้ยผู้สูงอายุ

Advertisement

เนื่องจากเงินบำนาญพิเศษเป็นเงินตอบแทนผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ บุคคลที่เข้าถึงสิทธินี้และสิทธิเบี้ยผู้สูงอายุในช่วงเวลาที่พร้อมกันก็ต้องมีสิทธิในเงินทั้งสองส่วนนี้

ดังนั้น บุคคลที่รับเงินที่ถูกระบุตอนแรกว่ารับเงินซ้ำซ้อนก็ต้องไปกำหนดบทเฉพาะกาลขึ้นมาว่าเป็นการรับเงินได้โดยสุจริต ส่วนที่มีข่าวออกมาว่า มีผู้สูงอายุที่ต่างยอมจ่ายคืนทั้งแบบผ่อนและจ่ายสดทั้งก้อนไปแล้ว ให้ว่าได้แสดงสิทธิเจตนารมณ์ที่จะมาคืน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เดือดร้อน หรือเป็นผู้มีรายได้น้อย

ทั้งหมดจะถูกนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเคาะให้ได้คำตอบสุดท้ายต่อไป

ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือกับคณะกรรมการค่าเบี้ยยังชีพแล้ว สรุปได้ว่า 1.จะไม่ดำเนินคดีอาญากับผู้สูงอายุที่ไม่คืนเบี้ยยังชีพทั้งหมด การแจ้งความต้องตั้งข้อหาฉ้อโกงเงินหลวง แต่เพราะไม่มีใครคิดจะแสดงพฤติกรรมฉ้อโกง ดังนั้น จะไม่มีผู้ใดที่จะติดคุก

2.การรับผิดทางแพ่งหรือการคืนเงิน หากได้มาโดยสุจริตไม่ต้องคืน แต่ถ้าเงินยังเหลืออยู่จะต้องคืน หากไม่เหลืออยู่ก็ไม่ต้องคืน ส่วนกรณีถ้ามีเงินเหลืออยู่ แต่ไม่ใช่เงินที่ได้รับจากเบี้ยยังชีพคนชราไม่ต้องคืน ส่วนแต่ละรายจะสุจริตหรือไม่ จะดูเป็นรายบุคคล มีผู้อยู่ในข่ายเช่นนี้ที่จะต้องถูกไต่สวนทวนพยานว่าสุจริตหรือไม่ประมาณ 6,000 คนทั่วประเทศ ตรงส่วนนี้กำลังหาทางออกกันว่า จะทำให้ 6 พันเคสนี้ไม่เป็นคดีความอาญาได้อย่างไร

3.ในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะ อปท.ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหากไม่ทำตามจะต้องรับผิดชอบด้วย ก็ต้องหาทางออกให้เช่นกัน

สุดท้ายต้องให้ลูกหลานไปแจ้งผู้สูงอายุในบ้านด้วยว่า รัฐบาลไม่คิดค้าคดีความกับผู้สูงอายุ ไม่มีใครติดคุก แต่กรณีที่มีผู้นำมาคืนรัฐแล้ว ก็ถือว่าคืนให้โดยไม่สามารถขอคืนได้อีก

รัฐบาลเข้าตัดไฟแต่ต้นลมทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้จะไม่เกิดเคสเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image