บทนำ : เกมแก้ รธน.

บทนำ : เกมแก้ รธน.

บทนำ : เกมแก้ รธน.

รัฐสภาได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามญัตติที่เสนอโดย ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ว. ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นการเล่นเกมการเมืองซื้อเวลา และมติของรัฐสภาเป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการทำลายอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาเอง ทำลายหลักอำนาจสูงสุดของรัฐสภา เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ระบุไว้แล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา 152 (15) ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา รัฐสภาจึงชอบที่จะดำเนินการได้ ส่วนจะแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่จะพิจารณาได้เอง โดยคำนึงถึงข้อห้ามในการแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 255 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 256 เป็นสำคัญ

รัฐธรรมนูญ 2560 ยกร่างโดยกรรมการยกร่างซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. แล้วผ่านการทำประชามติ ในปี 2559 ก่อนใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้ง 2562 เป็นรัฐธรรมนูญที่แกนนำพรรครัฐบาลระบุว่า ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สำคัญๆ ได้แก่ การกำหนดให้มี ส.ว. 250 คน จากการแต่งตั้งของ คสช. มีอำนาจลงมติรับรองบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เหมือนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ระบบการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังมีปัญหาทำให้เกิดข้อโต้แย้งลงเอยด้วยการที่พรรคที่ได้รับเลือกตั้ง มี ส.ส.เข้าสภาเป็นอันดับ 1 ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว และไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2562 พรรคการเมืองต่างๆ ชูประเด็นจะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมรัฐบาลว่าจะต้องกำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายของรัฐบาล และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่เวลาผ่านมาใกล้ 2 ปีแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบอุปสรรคมาตลอด ขณะที่มีการชุมนุมของเยาวชน ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมาเกิดกรณีส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความดังกล่าว จึงต้องจับตาดูผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และปฏิกิริยาจากสังคมไปพร้อมๆ กัน จะตอบรับท่าทีของรัฐบาลและ ส.ว.ในเรื่องนี้อย่างไร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image