คุณภาพคือความอยู่รอด : เร็วกว่า ดีกว่าไหม โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

สถานการณ์ COVID-19 ได้บีบบังคับให้โลก “ยุคดิจิทัล” มาถึงเร็วกว่าที่คิด อันเป็นผลจากการดำรงชีวิตภายใต้มาตรการป้องกันไวรัสโควิดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของการต้องรักษา “ระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) ซึ่งทำให้เราต้องปรับเปลี่ยน “วิธีคิดวิธีทำงาน” เป็น New Normal อาทิ การทำงานจากบ้าน (WFH) การเรียนการสอนทางไกล การประชุมด้วยระบบ Zoom เป็นต้น

ทุกวันนี้ เราจึงปฏิเสธ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ได้ยาก เพราะมีบทบาทและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างมากมาย และเห็นได้ชัด

เราต่างรู้ดีว่า Digital Transformation เป็นได้ทั้ง “โอกาส” และ “ความกดดัน” ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องของการปฏิวัติ “อุตสาหกรรม 4.0” (Industry 4.0) และนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” (Thailand 4.0) ของภาครัฐ

ความพร้อมและความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่ Digital Transformation จึงเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงาน (Mindset Transformation) ให้เท่าทันกับ “การเปลี่ยนแปลง”

Advertisement

แต่ปัญหาในวันนี้ ก็คือ วิธีคิด วิธีทำงาน รวมตลอดถึงกลไกในการขับเคลื่อนของภาครัฐราชการและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ยังคงเป็นรูปแบบเดิมๆ (“ระบบ Analog”)

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เคยรายงานว่า มีอุตสาหกรรม 12 ประเภทที่คาดว่าจะถูก disrupt จากการปฏิวัติดิจิทัล ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี การค้าปลีก การเงิน โทรคมนาคม การศึกษา การท่องเที่ยว การผลิต สุขภาพ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การขนส่ง สื่อสาธารณะ การบันเทิง และการให้บริการของภาครัฐ

ความรุนแรงของการถูก disrupt ในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีความมากน้อยแตกต่างกัน เช่น อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์จะถูกปรับเปลี่ยนและได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการผลิตจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงภายในอนาคตอันใกล้นี้ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมาก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยยังคงพึ่งพิงอุตสาหกรรมการผลิตสูงมากตราบเท่าทุกวันนี้

Advertisement

เรื่องของการปรับเปลี่ยนสู่สังคมดิจิทัล (Digital Transformation) นี้ จึงไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะถูก disrupt เท่านั้น แต่เทคโนโลยีดิจิทัลยังจะทำให้งานต่างๆ ถูก disrupt และหดหายไปด้วย เพราะเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามาทดแทนงานที่คนทำมากขึ้นทุกที

ดังนั้น การกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และการเลือกดำเนินนโยบายอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ Digital Transformation อย่างถูกต้องแก่ผู้ประกอบการ ธุรกิจอุตสาหกรรม และสังคมส่วนรวม จึงเป็น “ปัจจัยแห่งความสำเร็จ” สำหรับ “การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน” อย่างแท้จริง

เมื่อไหนๆ เราก็ต้องถึงเวลาของ Digital Transformation เข้าสักวันหนึ่ง เราก็น่าจะลงมือทำได้แล้ว อย่างน้อย “เร็วกว่า จะดีกว่าไหม” ครับผม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image