ภาพเก่าเล่าตำนาน : นายพลออง ซาน …บิดานางซู จี โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

บิดาแห่งประเทศพม่า…ผู้จบชีวิตด้วยคมกระสุนเมื่ออายุ 32 ปี

สถานการณ์ในประเทศเมียนมา…น่าสนใจ…เพื่อนบ้านใกล้ชิดติดกัน มีชายแดนประกบติดกันยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ตั้งแต่ จ.เชียงราย ลงไปถึง จ.ระนอง …ประชากรราว 55 ล้านคน

ในประเทศเมียนมามี 8 ชนเผ่าหลัก และ 135 เผ่าย่อยๆ กระจายกันอยู่ เหนือสุดติดกับจีนมีหิมะ คนในประเทศพูดกันคนละภาษา พูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่คล้ายกันเลย ภาษากลาง (ภาษาราชการ) คือ ภาษาพม่า

เฉพาะเผ่ากะเหรี่ยง ก็แยกย่อยออกเป็นหลายสิบเผ่า …1 ในนั้น คือ กะเหรี่ยงคอยาว ที่คนไทยรู้จักดี

Advertisement

นี่คือ ตัวตนที่แท้จริงของเพื่อนบ้านของเรา

ชาวเมียนมา “ไม่มีนามสกุล” นะครับ…หากมีการตรวจสอบในทางราชการ หรือชื่อซ้ำกัน จะตรวจจากบันทึกวันเดือน ปี เกิด ชื่อพ่อ แม่

ชื่อคน อาจจะมี 2 พยางค์ เช่น ออง ซาน หรือ ซู จี ไม่มีนามสกุล

Advertisement

ที่เรียกว่า นาง “ออง ซาน ซู จี” เพราะชาวเมียนมาบางคนจะไปนำชื่อพ่อ ชื่อปู่ ย่า ตา ยาย…มาต่อท้ายชื่อ

ซู จี เธอไปเรียนหนังสือ เติบโตที่อังกฤษตั้งแต่เด็ก เธอนำชื่อบิดามาต่อท้าย…เป็น ซู จี ออง ซาน เมื่อเธอมีค่านิยมแบบชาวตะวันตก คือ นำชื่อท้าย (นามสกุล) มาไว้ข้างหน้า เลยกลายเป็น ออง ซาน ซู จี

เพื่อให้ง่ายกว่านั้น ตัวย่อคือ ASSK (Aung San Suu Kyi)

บางคนอาจจะใช้ชื่อ 3-4 พยางค์ …ชาวเมียนมาบอกว่า ก็เก๋ดี จำได้ว่าใคร แต่ไม่มีนามสกุล

เส้นแบ่งเขตไทย-เมียนมา บ้างก็เป็น ภูเขา ที่ราบ แม่น้ำ ลำธาร เป็นสัญลักษณ์ …บางพื้นที่ก็ยังมิได้ตกลงกันว่าเป็นดินแดนขอใคร

ชายแดนในบางพื้นที่เป็น “ด่านตรวจ” ประชาชนทำมาค้าขาย มูลค่าเป็นหมื่นล้านต่อปี มีสะพานมิตรภาพ 2 แห่ง เพื่อค้าขาย สัญจร

บางพื้นที่…แค่เดินลุยน้ำข้ามไป-มาก็แสนสะดวก ผู้คนสองชาติ ไปเที่ยว ไปเล่น ทำมาหากิน …แต่ช่วงนี้ “บ่อน-แหล่งเริงรมย์” ที่นายทุนจีนมาลงทุนในฝั่งเมียนมา มันกระหึ่ม ยวนเย้า เร้าใจยิ่งนัก…

คนไทยเราพูดกันเล่นๆ ว่า… น่าจะมีพลเมืองสัญชาติเมียนมาเข้ามาทำงานในไทยทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ทั้งบนดิน-ใต้ดิน…ซึ่งก็ไม่น่าไกลความจริงนัก

ในบางจังหวัด ตู้ ATM โทรศัพท์มือถือ ป้ายบอกทาง ชื่อร้านค้า กิจการร้านค้า ฯลฯ เป็นภาษาเมียนมา ก็มิใช่เรื่องแปลกหูแปลกตาซะแล้ว…

วันนี้….แรงงานจำนวนมหึมากลุ่มก้อนนี้ เป็นเฟืองตัวสำคัญ ที่ไทยขาดไม่ได้ซะแล้ว….(รวมทั้งจาก ลาว กัมพูชา ฯลฯ )

ประวัติศาสตร์ของเมียนมา สลับซับซ้อน มีพลวัตสูง ชนเผ่าต่างๆ แยกกันอยู่ …มี 8 เผ่าหลัก (Ethnic Group)

กว่า 50 ปีมาแล้ว การพูดคุยเพื่อสันติภาพ ความปรองดองระหว่างเผ่า ยังคงเป็นภาพที่พร่ามัว…

ราว 200 ปีที่แล้ว เมียนมาโดนอังกฤษ เข้ายึดครอง ฝรั่งอังกฤษวางหมากกล ไปนำชาวอินเดีย ชาวจีน ชาวมุสลิม จากเมืองโน้นเมืองนี้ที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษเข้ามาทำงาน ทำการเกษตร ทำเหมือง สร้างความมั่งคั่งให้อังกฤษ…มีปัญหาสารพัด

คนต่างถิ่นที่อังกฤษเอาเข้ามา ไม่ผสมกลมกลืน เป็นคนละพวก แถมยังมีความบาดหมางกันอีก ชาวจีนทำมาค้าขายเก่ง ชาวอินเดียก็ใช่ย่อย กลายเป็นเจ้าของกิจการ ทำเอาชาวพม่า “เจ้าถิ่น” ไม่พอใจ

ปลาย พ.ศ.2484 …สงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นบุกแผ่นดินเมียนมา ไปรบ ขับไล่ทหารอังกฤษ… แล้วญี่ปุ่นเข้าปกครอง

ช่วงปี พ.ศ.2488 กองทัพญี่ปุ่นอ่อนแรง โดนสัมพันธมิตรถล่มเละ..ถอยทัพนับหมื่นหนีตายเข้ามา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

ญี่ปุ่นแพ้สงคราม…อังกฤษหวนกลับเข้ามาปกครองเป็นรอบ 2

“ความเป็นเอกราช” ที่ทุกคนโหยหา เป็นเรื่อง “เลือดทาแผ่นดิน” ไหนจะรบกันเองระหว่างชนเผ่า… ไหนจะรบกับข้าศึกนอกประเทศ

ระบบการปกครองที่เหมาะสม เป็นธรรม เท่าเทียม ระหว่างทุกชนเผ่า คือ โจทย์ใหญ่ที่ต้องรบราฆ่าฟันกัน ต้องแย่งชิงอำนาจกัน…

ภาพเก่า…เล่าตำนานตอนนี้… ขอพูดคุยเรื่องของวีรบุรุษชาวพม่า ที่ทำหน้าที่เพื่อแผ่นดินเกิด สร้างเอกราช สร้างประเทศนี้ขึ้นมาด้วยสติปัญญา ความเสียสละ ทุ่มเท แต่ในที่สุด ท่านก็ต้องจบชีวิตด้วยคมกระสุน

ท่านเป็นบิดาแห่งประเทศเมียนมา…และเป็นบิดาของนางซู จี

นายพลออง ซาน ครับ….(ยศ “นายพล” มาแต่งตั้งภายหลัง)

มหาบุรุษผู้มีชื่อเสียงระดับโลกผู้นี้ มิได้สำเร็จจากโรงเรียนทหารที่ไหน แต่ในสายเลือด เปี่ยมไปด้วยความสำนึก รักแผ่นดินเกิด รักพี่น้องชาวพม่า เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ชาวพม่าเคารพในฐานะผู้ให้กำเนิดประเทศพม่า

เด็กชายออง ซาน เกิดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2458 ที่เมืองนัตเม่าก์ รัฐมะกวย (Natmauk Magwe) บิดาคือ อูเผ่า เป็นทนายความ มารดาชื่อ ดอ ซู ผู้เป็นปู่ คือ โบมีงยอง เป็นนักต่อสู้ที่รักแผ่นดินเกิดยิ่งชีพ

ออง ซาน ได้มรดกสืบทอดทางความคิดและเป็นนักต่อสู้มาจากปู่ ที่ต่อต้านการปกครองของอังกฤษ

ออง ซาน ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม คือ เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี รักความเสมอภาค ชาวพม่ายกย่อง ออง ซาน เพราะบุรุษผู้นี้มั่นคง ตรงไปตรงมา เคารพในความถูกต้อง ไม่กล่าวคำเท็จและยึดมั่นในคุณธรรม เป็นคนที่ไม่หลงใหลในลาภยศหรือเงินทอง

ขอย้อนอดีตที่อังกฤษบุกอินเดียและรุกคืบไปในพม่าครับ…

อังกฤษเริ่มทำสงครามเพื่อยึดอินเดียในปี พ.ศ.2300 (ก่อนกรุงศรีฯแตกครั้งที่ 2) ด้วยการเอาชนะศึกที่เบงกอล และบากบั่นพากเพียรอีก 100 ปี จึงยึดครองดินแดนอินเดียได้ทั้งหมด

ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าอังกฤษขนทหารลงเรือมาจากเกาะอังกฤษเป็นหมื่น เป็นแสนคนเพื่อทำสงคราม…ไม่ใช่นะครับ…กลยุทธ์ที่ฝรั่งตะวันตกยึดดินแดนได้เกือบทั่วโลก คือ การเสี้ยมให้คนพื้นเมืองรบกันเอง

อังกฤษ “ซื้อ” แม่ทัพนายกองของชนเผ่าในอินเดียให้ทำหน้าที่ไส้ศึก ติดสินบนให้ทรยศหักหลังกันเอง… เพื่ออังกฤษยึดและปกครองอินเดียได้หมด

อังกฤษรุกคืบต่อมาทางตะวันออก…เพื่อจะกินรวบดินแดนพม่า

อังกฤษทำสงครามกับพม่า 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ยึดได้ดินแดนพม่าตอนล่าง ครั้งที่ 2 สถาปนาดินแดนตอนใต้เป็นมณฑลขนาดเล็กเรียกว่า บริติชพม่า รบครั้งที่ 3 ได้พม่าตอนบน และพม่าทั้งหมดกลายเป็นมณฑลหนึ่งของบริติชอินเดียใน พ.ศ.2380

หลังพม่าแพ้พ่าย… อังกฤษล้มราชวงศ์ของพม่า พระเจ้าธีบอ (Thibaw) ถือว่า…เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของแผ่นดินพม่า…

เมื่อพม่าถูกอังกฤษยึดเป็นอาณานิคมโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2398 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.4)

แผ่นดินพม่า มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด รางวัล และโชคลาภสุดขอบฟ้ามหาศาล คือ อังกฤษเข้าทำอุตสาหกรรมไม้สักในพม่าตอนล่าง อัญมณี แร่ธาตุ ในพม่าทำกำไรอู้ฟู่ให้บริษัทของอังกฤษ

อังกฤษเข้ามาบริหารจัดการในพม่าแบบ “จัดเต็ม” ส่งเสริมให้ปลูกข้าวในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี เพื่อส่งข้าวไปขายยุโรป

อังกฤษนำแรงงานชาวอินเดียเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตเนื่องจากค่าแรงต่ำ มีการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างทางรถไฟผ่านที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีเรือเครื่องจักรไอน้ำแล่นขึ้นล่องระหว่างแม่น้ำ เศรษฐกิจของพม่าเติบโตขึ้น แต่เงินทอง ความร่ำรวยกระจุกอยู่ในมือชาวอังกฤษและนายทุนจากอินเดีย

ขอตัดตอนเข้ามาสู่เรื่องราวของ ออง ซาน บิดาของชาวพม่าครับ

ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขบวนการชาตินิยมในพม่าต่อต้านอังกฤษ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง พระสงฆ์ เป็นแกนหลัก สร้างสำนึกให้คนทั้งชาติขับไล่อังกฤษเพื่อให้พม่าเป็นเอกราช

เช้ามืด 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก “ฝั่งอ่าวไทย” รบกันดุเดือด ไทยยอมให้กองทัพลูกพระอาทิตย์ใช้ดินแดนเป็นทางผ่าน ญี่ปุ่นใช้เชลยศึกออสเตรเลีย สหรัฐ ฯลฯ ราว 6 หมื่นคน สร้างทางรถไฟ จากชุมทางสถานนีรถไฟหนองปลาดุก ราชบุรี ข้ามแม่น้ำแคว ทะลุป่าเขาแสนทุรกันดาร ข้ามพรมแดนเข้าไปในพม่าที่เมืองตันบิวซายัต (Thanbyuzayat) ในประเทศพม่า ระยะทาง 415 กม.

ญี่ปุ่นเข้าปกครองพม่า และจัดตั้งกองกำลัง “ชาวพม่ารักชาติ” เพื่อขับไล่ฝรั่งอังกฤษ… ชายหนุ่มชื่อ ออง ซาน รวมอยู่ในกองกำลังนั้นด้วย

พ.ศ.2484 หน่วยข่าวกรองญี่ปุ่นลักลอบส่งเด็กหนุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งไปฝึกบนเกาะไหหลำ (ญี่ปุ่นยึดครองในขณะนั้น) ต่อมานักรบหนุ่มเลือดพม่าถูกย้ายไปฝึกบนเกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน)

เมื่อฝึกเสร็จ เด็กหนุ่มพม่าเลือดรักชาติทั้ง 30 คน เดินทางกลับด้วยเรือ มาแวะที่เวียดนาม เลี้ยวเข้ามาพักที่กรุงเทพฯ

26 ธันวาคม พ.ศ.2485 ณ ที่บ้านของแพทย์ชาวพม่าในกรุงเทพฯ เด็กหนุ่มเลือดรักชาติที่ผ่านการฝึก ทำพิธีกรีดเลือดตัวเองใส่ภาชนะรวมกันแล้วดื่มเลือด ร่วมสาบานจะไม่ทรยศต่อกัน เรียกตัวเองว่า “กลุ่มสหายสามสิบคน” (Thirty Comrades) นำโดย ออง ซาน

ภารกิจคือ พม่าต้องเป็นเอกราช

1 ใน 30 สหายที่ร่วมกรีดเลือดในกรุงเทพฯเวลานั้น ต่อมาคือนายพลเน วิน (ผู้นำกองทัพพม่าก่อรัฐประหารปิดประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2505)

ตามข้อมูลระบุว่าบ้านในกรุงเทพฯ ที่กรีดเลือด เป็นบ้านของนายแพทย์ชาวพม่า อยู่แถวซอยสวนพลู

นี่คือประวัติศาสตร์การก่อตั้งกองทัพพม่ากู้ชาติ (BIA : Burma Independence Army) ในกรุงเทพฯ

ผู้เขียนเคยสืบค้นประวัติศาสตร์ช่วงนี้…วันหนึ่งก็มีโอกาสได้ไปเห็น “เก้าอี้นั่ง” (ส่วนหนึ่ง) ที่ 30 สหายใช้ประชุมตั้งโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ทหารกรุงย่างกุ้ง ที่นำมาตั้งแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของบรรพบุรุษของ ออง ซาน

กรีดเลือดเสร็จ ออง ซานและทีมงานออกจากกรุงเทพฯ กลับไปย่างกุ้งเพื่อกู้ชาติ ทีมงานลับ ทำงานได้ผลทั้งในเมืองและชนบท สนับสนุนกองกำลังลูกพระอาทิตย์ขับไล่ทหารอังกฤษออกจากพม่า…

กองทัพอังกฤษต้องสู้พลาง ถอยพลาง กลับไปในอินเดีย

ญี่ปุ่นปกครองพม่า..ตั้ง บามอ เป็น นรม. และตั้ง ออง ซาน เป็น รมว.กห. (รวมทั้งแต่งตั้งยศเป็นนายพล) เหตุการณ์ไม่ราบรื่น เพราะกลุ่ม BIA ตั้งตัวเป็นผู้มีอิทธิพล จึงขัดผลประโยชน์กับทหารญี่ปุ่น

ทหารลูกหลานซามูไรก็โหด.. กดขี่เอาเปรียบชาวพม่า

ออง ซาน และขบวนการ BIA พลิกกลับ..หันไปต่อต้านญี่ปุ่น

ใน พ.ศ.2488…ญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษได้หวนกลับเข้าไปในพม่าเป็นรอบที่ 2 เพื่อสถาปนาการปกครองระบอบอาณานิคมอีกครั้ง

ออง ซาน กลายเป็นผู้นำอันชอบธรรมของพม่าที่อังกฤษให้การสนับสนุน …กลับมารอบนี้อังกฤษมีท่าทีจะให้เอกราชแก่พม่า

ในเดือนมกราคม 2490 นายแอตลี (Atlee) นายกรัฐมนตรีอังกฤษเชิญ ออง ซาน ไปเจรจาการคืนเอกราชให้พม่า ณ กรุงลอนดอน

27 มกราคม พ.ศ.2490 มีการลงนาม ข้อตกลง ออง ซาน-แอตลี (Aung San-Atlee Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับกลุ่มการเมืองของออง ซาน โดยตัดกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ออกไป

อู ซอ ซึ่งเป็น 1 ใน 30 สหายเดินทางร่วมไปลอนดอนด้วย ไม่ค่อยพอใจกับสัญญาดังกล่าว…แสดงออกชัดเจนว่า “ไม่เอาด้วย”

ตามที่ได้กล่าวตั้งแต่ต้น…ดินแดนพม่ามี 135 ชนเผ่า 8 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ พม่า (Bamah) ฉิ่น (Chin) กะฉิ่น (Kachin) คะยิ่น (Kayin) คะยา (Kayah) มอญ (Mon) ยะไข่ (Rakhine) ฉาน (Shan)

พอจะเป็นประเทศเอกราช…ก็มิใช่เรื่องง่าย…อำนาจ เงินตรา

ปัญหาโลกแตก…ชนเผ่าในดินแดนพม่าต่างก็จ้องตาเป็นมันที่จะ “เป็นใหญ่” ในรูปแบบ “การปกครองตนเอง” เพราะก็ไม่ได้เคารพนบนอบ “ชนเผ่าพม่า” ที่มีประมาณร้อยละ 68

ออง ซาน กลับมาย่างกุ้ง แบบวีรบุรุษ… เชิญผู้นำชนกลุ่มน้อยมาร่วมลงนามในข้อตกลงปางโหลง (Panglong Agreement) เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 (ซึ่งกลายเป็นวันสหภาพ)

สาระสำคัญคือ…ให้ชนเผ่าต่างๆ มารวมอยู่กันเป็นประเทศ 10 ปี เพื่อสร้างชาติให้เข้มแข็ง มีผู้แทนจากรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และรัฐชิน จำนวน 23 คน ที่ตกลงจะร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล

…หลังจาก 10 ปีแล้ว ชนเผ่าใดจะแยกตัวเป็นอิสระ ก็มีเสรีภาพ ในขณะที่ออง ซาน รับบทบาทนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลเฉพาะกาล….

ถือได้ว่า ออง ซาน ประสบความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ ในการรวมชนกลุ่มน้อยต่างเข้ากับพม่าในการประชุมที่ปางโหลง …แต่ก็มีข้อท้วงติงว่า “มิได้มาครบทุกเผ่า”…

คนที่ชิงชัง รังเกียจ “สัญญาปางโหลง” ก็มี ถึงจะกรีดเลือดสาบานกันมาแล้ว ก็ไว้ใจไม่ได้

ข้อเสนอที่นำ “ชนกลุ่มน้อย” มาลงนามในข้อตกลง สร้างความไม่พอใจสำหรับบางคนในกลุ่ม 30 สหาย ด้วยเหตุผลว่า ออง ซานเอาใจชนกลุ่มน้อยจนเกินไป…หลังจาก 10 ปี ถ้าหากชนกลุ่มน้อยแยกตัวออกไปตั้งรัฐอิสระ ประเทศพม่าก็จะไม่มีอะไรเหลือ

แม่น้ำกว้างใหญ่ ทรัพยากรป่าไม้ แร่ธาตุ อัญมณี ล้วนอยู่ในอาณาเขตดินแดนชนกลุ่มน้อย

วีรบุรุษออง ซาน มุ่งหน้าทำงานการเมืองต่อไปเพื่อเตรียมเป็นเอกราช โดยลงรับสมัครเลือกตั้ง… กลุ่มสันนิบาตเสรีชนของ ออง ซาน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2490

เช้าวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 (ก่อนพิธีวันเอกราช 6 เดือน)

วันนั้น…รถบรรทุกทหารมีผ้าใบคลุมหลังคา…มาจอดหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงย่างกุ้ง ที่สภาไม่มีทหารยาม มือปืน 3 คนถือปืนกลกระโดดลงมา วิ่งขึ้นบันไดสภา…เพชฌฆาตทั้ง 3 ถลันเข้าไปในห้องประชุม

ออง ซาน และคณะที่กำลังทำงาน ทุกคนได้ยินเสียงปืนจากข้างล่าง

มือสังหารจากนรก ถีบประตูห้องเปิดออก…สาดกระสุนจากปืนกลมือใส่วีรบุรุษออง ซาน เข้าที่หน้าอก ท่านล้มคว่ำจมกองเลือดขาดใจตายในขณะอายุ 32 ปี ลูกสาวชื่อ ซู จี อายุ 2 ขวบ…

มือปืนยมทูตยิงกราดรัวทั่วห้อง คณะทำงานเตรียการเป็นเอกราช 7 คนตายหมด…ปิดฉากชีวิต “วีรบุรุษ-บิดาแผ่นดินพม่า”

และแล้ว….อู นุ เพื่อนรัก 1 ใน 30 สหาย ขึ้นเป็น นรม.พม่าทันที

การสอบสวนต่อมาพบว่า ร้อยเอก เดวิด วิเวียน นายทหารของอังกฤษที่รับผิดชอบคลังอาวุธได้ขายอาวุธ กระสุน เหล่านี้ให้กับกลุ่มของ อู ซอ ผู้กระหายอำนาจ…อู ซอ รับสารภาพในศาล

30 ธันวาคม 2490 ศาลตัดสินประหาร อู ซอ และพรรคพวก

4 มกราคม พ.ศ.2491 อังกฤษทำพิธีมอบเอกราชให้ประเทศพม่า โดยไม่มี นายพลออง ซาน…

อู นุ ปกครองประเทศ ปัญหาหลัก คือ ชนเผ่าที่ยัง

2 มีนาคม 2505 นายพลเน วิน เพื่อนรักในกลุ่ม 30 สหาย ยึดอำนาจจาก อู นุ…. ฉีกรัฐธรรมนูญ ฉีกข้อตกลงปางโหลงทิ้งทันที

นายพลเน วิน ปกครองประเทศด้วยระบบสังคมนิยม…ยาวนาน 26 ปี… ตัดขาดจากโลกภายนอก… ประเทศพม่าได้รับฉายา “ฤๅษีแห่งเอเชีย”

ตัวละคร….ล้วนแล้วแต่…พวกกรีดเลือดสาบานทั้งนั้น….

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image