สะพานแห่งกาลเวลา : สด-สด จากดาวอังคาร โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-NASA-JPL-Caltech)

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ จะมีเหตุการณ์สำคัญทางวิทยาศาสตร์ ที่ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนพยายามหาหนทางติดตามกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่สนใจเรื่องการสำรวจอวกาศ หลงใหลในเสน่ห์ลึกลับชวนพินิจพิเคราะห์ของดินแดนไกลโพ้นที่ไม่มีใครเคยเห็นด้วยตามาก่อน ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

ในวันนั้น ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร เพอร์ซเวอแรนซ์ โรเวอร์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) จะลงสัมผัสพื้นผิวดาวอังคารครับ

หลายคนอาจบอกว่า เรื่องนี้ไม่เห็นจะพิเศษตรงไหน ยานของนาซาเคยไปลงดาวอังคารมาแล้วหลายหน ล่าสุดก็เมื่อครั้งที่ คิวริออสซิตี ลงถึงพื้นดาวอังคารหนแรกเมื่อปี 2012 ก็น่าจะคล้ายคลึงกัน

Advertisement

คล้ายกันก็จริงครับ แต่ที่ต่างออกไปมากเป็นเพราะหนนี้ เพอร์ซเวอแรนซ์ จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับการสำรวจอวกาศ ด้วยการถ่ายทอดเหตุการณ์การลงสู่พื้นผิวทั้งหมดมายังนาซา แล้วนาซาก็จะป้อนสัญญาณสดๆ ที่ว่าออกอากาศผ่านเว็บไซต์ออกไปทั่วโลกครับ

จะเรียกว่าเป็นการไลฟ์สด จากดาวอังคารมายังโลกเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ถึงแม้จะไม่เป็นเรียลไทม์นักก็ตามที

Advertisement

โอกาสอย่างนี้ไม่ได้มีให้เห็นกันง่ายๆ แน่นอน

เพอร์ซเวอแรนซ์ หรือที่นักวิทยาศาสตร์ในโครงการนี้ของนาซาชอบเรียกสั้นๆ ว่า “เพอร์ซี” มีกล้องติดตั้งไว้มากพอที่จะถ่ายทอดเหตุการณ์ทั้งภาพและเสียง ตั้งแต่ตอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเรื่อยไปจนกระทั่งลงพื้น ซึ่งเรียกกันว่าช่วง “อีดีแอล” ของการเดินทางครั้งนี้มายังโลก
ได้ครบถ้วน

อีดีแอล (Entry, Descent and Landing) คือกระบวนการตั้งแต่ตอนที่ตัวยานเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ลดความเร็วลง เรื่อยไปจนถึงการแลนดิ้ง หรือการลงสัมผัสพื้น

ทั้งหมดกินเวลาเพียง 7 นาที แต่เป็นช่วงเวลาที่ อัลเลน เฉิน หัวหน้าทีมอีดีแอลของนาซาบอกว่า อันตรายที่สุด และวิกฤตที่สุดในบรรดาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดการเดินทาง 6 เดือน 292.5 ล้านไมล์ของเพอร์ซี

และเป็น 7 นาทีที่จะบ่งบอกว่า ภารกิจหนนี้จะสำเร็จ หรือล้มเหลว

เพอร์ซี จะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารที่ความเร็วสูงถึง 19,312 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กรีดผ่านท้องฟ้าดาวอังคาร เสียดสีจนเกราะกันความร้อนแดงจัด ก่อนที่มันจะเริ่มกระบวนการลดความเร็ว ต่อด้วยการปล่อยร่มชูชีพขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 21 เมตรลดความเร็วลง เรื่อยๆ พร้อมๆ กับที่ระดับความสูงก็ลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน

พอความเร็วเหลือราว 579 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ระดับ 7.5 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว ยานจะสลัดฮีทชีลด์ หรือเกราะกันความร้อนออกทิ้งไป

ที่ระดับ 4-1.5 กิโลเมตร ระบบทีอาร์เอ็น (Terrain Relative Navigation) ซึ่งเป็นระบบนำร่องด้วยการวิเคราะห์พื้นผิวด้วยภาพ โดยการเปรียบเทียบภาพพื้นผิวที่จะร่อนลงกับภาพพื้นผิวที่เก็บอยู่ในฐานข้อมูลในหน่วยความจำของระบบ จะว่าไปแล้ว มันก็คือ “ตา” ของเพอร์ซี ที่กำลังตรวจสอบจุดที่จะลงสู่พื้นโดยสวัสดิภาพนั่นเอง

ที่ความสูงราว 20 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว ยานจะสลัดส่วนครอบด้านบนออก เหลือเพียงตัวยานแม่ด้านในที่มี เพอร์ซี โรเวอร์ เกาะติดอยู่ด้านล่าง

ไม่นานหลังจากนั้นยานแม่จะจุดระเบิดจรวดสำหรับการลงสู่พื้นทั้ง 4 ตัวขึ้นพร้อมๆ กัน ชะลอการลงสู่พื้นให้ช้าลงไปอีก

เมื่อยานอยู่ที่ระดับ 20 เมตรเศษๆ ระบบ “สกายเครน” ก็จะเริ่มทำงาน โดยยานแม่จะปล่อยตัวเพอร์ซีให้หลุดลงมา มีเพียงสายสลิง 4 เส้นโยงไว้เท่านั้น เพื่อให้สามารถลงพื้นได้อย่างนิ่มนวลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่สะลิงทั้งหมดจะหลุดออก ติดไปกับยานแม่ที่จะโคจรกลับสู่อวกาศต่อไป

นั่นแหละครับคือ 7 นาทีที่เราจะได้ลุ้นได้ชมกัน (แทบจะ) สด-สด จากดาวอังคาร

ที่บอกว่า เหตุการณ์ที่เราได้ชมกัน ไม่ได้เกิดขึ้นตามเวลาจริง ก็เพราะระยะห่างระหว่างโลกกับดาวอังคารนั้นจะทำให้สัญญาณภาพมาถึงช้าไป 11 นาที กับอีก 22 วินาที

นั่นหมายความว่า ณ เวลาที่สถานีควบคุม เริ่มได้รับสัญญาณแรกสุดจากเพอร์ซีนั้น ช่วงเวลาหฤโหด 7 นาทีของกระบวนการอีดีแอล ได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว

เหลือไว้ให้นักวิทยาศาสตร์และทุกคนบนโลกได้ลุ้นกันว่า เพอร์ซี ลงพื้นโดยสวัสดิภาพ หรือกลายเป็นการโหม่งดาวอังคารพังเสียหายไปพร้อมๆ กันนั่นเอง

ใครที่สนใจติดตามความระทึกที่ว่านี้ สามารถติดตามได้ที่ https://mars.nasa.gov/mars2020/timeline/landing/watch-online/ โดยนาซาจะเริ่มออกอากาศสัญญาณสดในเวลา 14.15 น. ตามเวลาอีสเทิร์นไทม์ของวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับเวลา 02.15 น.ของเช้าวันศุกร์ (คืนวันพฤหัสบดี) ตามเวลาไทย

ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จะเริ่มอีดีแอลราว 1 ชั่วโมงครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image