ศาสนากับรัฐประหาร…

ศาสนากับรัฐประหาร...ความเป็นมนุษย์หรือคนที่มีชีวิตลมหายใจอยู่ในโลกนี้

ศาสนากับรัฐประหาร…

ความเป็นมนุษย์หรือคนที่มีชีวิตลมหายใจอยู่ในโลกนี้เมื่อเกิดลืมตาดูโลกแล้ว ย่อมต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวต่างๆ ที่ยากต่อการหลีกเลี่ยงทั้งกายภาพและจิตภาพ ในระบบการแพทย์สาธารณสุข สังคม เศรษฐกิจ ความเชื่อวัฒนธรรม การเมืองและศาสนาที่ตนและชนชาติได้ยึดถือเป็นที่พึ่งทั้งทางกาย ใจ จิตวิญญาณ

นิยามในความหมายของ การเมือง (Politics) ก็คือกระบวนการและวิธีการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มคน โดยมักจะนำไปประยุกต์ใช้กับรัฐบาล กิจกรรมทางการเมืองสามารถก่อกำเนิดและดำเนินไปได้ในทุกๆ กลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน รวมไปถึงองค์กรทางด้านธุรกิจ วิชาการและการศาสนานอกจากนี้การเมืองยังมีอีกหลากหลายนัยความหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐแผ่นดิน การบริหารประเทศ การควบคุมการบริหารราชการ อาจจักรวมถึงอำนาจและผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่แอบแฝงอยู่ในนัยของการเมือง

การก่อรัฐประหารของประเทศเมียนมา โดยการนำของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 หรืออาจจะเรียกว่ารัฐประหาร 1221 จากรัฐบาลของ นางออง ซาน ซูจี จากพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ที่ได้ผ่านการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งได้รับชัยชนะจำนวน 396 ที่นั่งจาก 476 ที่นั่งส่งผลให้พรรคสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ของกองทัพได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเพียง 26 ที่นั่ง เป็นเหตุให้นายทหารเข้ากระทำการรัฐประหารด้วยข้ออ้างถึงการทุจริตการเลือกตั้ง แล้วมีการควบคุมจับกุมตัวนางออง ซาน ซูจี กับพวกไว้ในที่สุด (มติชนสุดสัปดาห์ 5-11 กุมภาพันธ์ 2564 หน้า 11)

Advertisement

ข้อมูลหรือภาพข่าวของการทำรัฐประหารดังกล่าวได้แพร่กระจายไปในสื่อต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นในสื่อต่างๆ ทั้งในเมืองไทยเราและสื่อต่างชาติก็คือประชาชนชาวเมียนมาออกมาเดินขบวนประท้วงต่อการทำรัฐประหารของประเทศดังกล่าว มิอาจจักรวมถึงชาวเมียนมาที่มาใช้แรงงานและทำธุรกิจก่อร่างสร้างตัวในแผ่นดินไทยเราก็ได้ออกมาประท้วงร่วมกับภาวะของการเมืองไทยในม็อบที่คงอยู่ที่ผ่านมา การประท้วงด้วยการเดินขบวนตามท้องถนนในประเทศเมียนมาเราท่านได้เห็นพระสงฆ์จำนวนมากออกมาเดินประท้วงพร้อมกับถือป้ายไปตามท้องถนน สำหรับคนไทยเราบางคนหรือพุทธศาสนิกที่รู้สึกถึงความไม่สบายใจที่เห็นพระภิกษุออกมาเดินประท้วง ต่างตั้งคำถามที่ว่า พระภิกษุหรือพระสงฆ์ควรจะเกี่ยวเนื่องหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่…

รัฐประหารเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อ 2,100 ปีที่ผ่านมาแล้วโดยทหารเข้ายึดครองอำนาจปกครองประเทศจากกลุ่มนักการเมืองในสมัยโรมันโดย จูเลียส ซีซาร์ หรือเมื่อก่อน 55 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในครั้งนั้นจูเลียส ซีซาร์เป็นแม่ทัพได้ออกไปสู้รบในแคว้นกอล (ฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ประชาชนได้รับความยากจน บ้านเมืองมีความวุ่นวายแตกสามัคคีของคนในชาติ มีการก่อกบฏต่อต้านรัฐอย่างต่อเนื่องรุนแรง เนื่องด้วยชนชั้นปกครองยึดติดกับกับอำนาจผลประโยชน์และความสุขในกลุ่มของตนเอง จูเลียส ซีซาร์ได้นำกำลังทหารเข้ายึดเมืองดังกล่าวและมีอำนาจเต็มโดยเขาได้นามว่า “ผู้มีอำนาจปกครองโดยเผด็จการ” โดยสามารถอยู่ในอำนาจได้ครั้งละสิบปีหรือเรียกว่าองค์รัฏฐาธิปัตย์แล้วประกาศตนเป็นผู้นำตลอดชีวิต ในที่สุดก็ถูกลูกเลี้ยงฆ่าตายก่อนจะเข้าประชุมสภาเซเนทเมื่อ 44 ปีก่อนคริสต์ศักราช

จึงเป็นที่มาของภาษิตโรมันที่ว่า “Inter arma Silent leges” เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็ย่อมเงียบลง…

Advertisement

การทำรัฐประหารจำนวนสี่ครั้งในเมียนมาหลักจากได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ ครั้งแรกใน พ.ศ.2491 โดย เจ้าฟ้ากัมโพชรัฐสิริปวรมหาวงศาสุธรรมราชา หรือ เจ้าส่วยแต้ก เป็นประธานาธิบดีคนแรก และ อู นุ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ซึ่งต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองจากชาติพันธุ์ต่างๆ ที่หลากหลาย ต่อมา พลเอกอาวุโส เนวีน ได้ครองอำนาจต่อนานถึง 26 ปี (พ.ศ.2531) รัฐประหารครั้งที่สองในปี พ.ศ.2431 ขณะนั้นประเทศมีหนี้สิน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การเรียกร้องของประชาชนที่เรียกว่าการก่อการกำเริบ 8888 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 นักศึกษาในเมืองย่างกุ้งออกมาประท้วงรัฐบาลของทหารแล้วถูกสั่งให้สลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม หนึ่งในนั้นที่ได้ออกไปประท้วงด้วยก็คือ นางออง ซาน ซูจี และรัฐประหารครั้งที่สามในปี พ.ศ.2535 นำโดย พล.อ.อาวุโส ต้าน ชเว ได้ล้มอำนาจของ พล.อ.อาวุโส ซอมอง ในข้ออ้างถึง ปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถปกครองประเทศได้ ได้ทำการเปลี่ยนระเบียบแห่งรัฐโดยเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากพุทธสังคมนิยมมาเป็นกึ่งเสรีตามแนวทุนนิยมและเปลี่ยนชื่อจากพม่าเป็นเมียนมา…(prachachat.net)

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ศ.2558 พรรคของออง ซาน ซูจี ได้รับคะแนนเสียงในสภาประชาชน หรือสภาล่าง 196 ที่นั่ง ในสภาชนชาติหรือสภาสูง 95 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 291 ที่นั่งขณะที่พรรคของทหารได้เพียง 33 ที่นั่ง โดยอองซาน ซูจี มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มิได้เป็นประธานาธิบดีเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญที่บัญญัติถึงข้อห้ามเกี่ยวกับคู่ชีวิตไว้ รัฐบาลของเขาบริหารประเทศได้ในช่วงสั้นเพียงห้าปีก็ถูกก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หลังจากการทำรัฐประหารของประเทศเมียนมาเพียงหนึ่งสัปดาห์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขของนิกายโรมันคาทอลิกแห่งศาสนาคริสต์ได้มีรับสั่งและตรัสเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 หลังเสร็จสิ้นพิธีสวด “บททูตสวรรค์แจ้งข่าว” ว่าทรงสวดอ้อนวอนให้บรรดาผู้ที่อยู่ในอำนาจในเมียนมา ให้ทำหน้าที่เพื่อยังประโยชน์สู่ส่วนรวมกับทุกคนในประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพของประเทศและความอยู่ร่วมกับประชาธิปไตยอย่างสมัครสมานและกลมกลืน…

สำหรับศาสนาพุทธ ก็มีระดับผู้นำที่อยู่ในบริษัทสี่ก็คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระภิกษุที่ต้องต่อสู้ในหลักการของการเมืองและศาสนามายาวนานรูปหนึ่งก็คือ องค์ทะไล ลามะ องค์ที่ 15 ที่เป็นประมุขสงฆ์นิกายมหายานของทิเบต ปัจจุบันท่านอายุ 89 ปี ซึ่งท่านได้ขอลี้ภัยที่เมืองธารัมศาลาทางตอนเหนือของประเทศอินเดียมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 หรือเมื่อ 62 ปีผ่านมาแล้ว วัตรปฏิบัติของท่านได้แพร่กระจายไปทั่วโลกทั้งคำสอนและวิถีแห่งการปฏิบัติตามหลักธรรมะเพื่อเข้าถึงความจริงของชีวิตด้วยภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ อย่างเชี่ยวชาญ สำหรับในเมืองไทยเราความเป็นพุทธะมีอยู่อย่างหลากหลายทั้งคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายธรรมยุตและมหานิกาย คณะสงฆ์จีน คณะสงฆ์เวียดนาม พระฝรั่งที่บวชและปฏิบัติอยู่ในวัดสายพระป่า พระที่ทำงานให้กับสังคมสงเคราะห์และพระที่บริหารด้านการศึกษาตั้งแต่การศึกษาของสงฆ์ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์

คำถามหนึ่งที่ดูเสมือนมีความย้อนแย้ง หรือปัญหาที่ดูจักหาทางออกมิได้ระหว่างวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ของไทยเราและการมีส่วนร่วมหรือแสดงทางการเมืองไทย ทั้งการเสนอแนะทางออกปัญหาการเมืองด้วยหลักการสันติวิธีในวิถีแห่งหลักการของศาสนา การแสวงหาทางออกแห่งความขัดแย้งทั้งระบบความคิด ความเชื่อ ความรู้ พระภิกษุหรือพระสงฆ์ไทยส่วนหนึ่งต่างได้หาทางออกด้วยกฎระเบียบของคณะสงฆ์ที่ถูกส่งผ่านด้วยการบังคับบัญชาตามขั้นตอนหรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 พระภิกษุหนุ่มรุ่นใหม่หลายรูป มีแนวคิดไปกับนักการเมืองรุ่นใหม่ บางรูปถึงกับไปอยู่ในกลุ่มม็อบปลดแอกรวมถึงการลี้ภัยไปต่างประเทศ บางรูปก็แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลและการออกรายการโทรทัศน์ที่ดูเสมือนว่า วัตรปฏิบัติและการปฏิบัติตามหลักคำสอนมีความย้อนแย้งกัน

อะไร สิ่งใด คือทางออกที่เหมาะสมทั้งของสภาพปัญหาในศาสนาและปัญหาการเมืองไทยเราและบ้านใกล้เรือนเคียงที่ต้องเผชิญปัญหาที่ใกล้เคียงกัน…

การทำรัฐประหารในสังคมไทยเราในจำนวนสิบสามครั้งครั้งที่ผ่านมาโดยครั้งที่หนึ่งสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และครั้งล่าสุดโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น โดยทำรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 วาทะหนึ่งที่ปรากฏในสื่อต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องก็คือ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะครบเจ็ดปีของการปกครองประเทศไทย เหตุผลหนึ่งของการยึดอำนาจในครั้งนั้นก็คือ การทุจริตคอร์รัปชั่น การบริหารราชการที่ล้มเหลวของรัฐบาลที่ผ่านมา

ระยะเวลาแห่งวันเวลาเกือบเจ็ดปีที่ผ่านมาเมืองไทยเรามีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ได้ตราไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ในจำนวน 279 มาตรา หนึ่งในจำนวนของสมาชิกรัฐสภาในมาตรา 107 ที่ระบุถึง วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคนซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลต่างๆ และมาตรา 113 ที่ระบุถึง สมาชิกวุฒสภาต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ มิอาจจักนับถือการจะต้องไปออกเสียงใช้สิทธิทางการเมืองของพระภิกษุสงฆ์ของไทยที่มีระเบียบข้อบังคับไว้ คำถามหนึ่งที่ว่า พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ภิกษุณี สามเณรีเขาเหล่านั้น สิทธิตามรัฐธรรมนูญเขาย่อมได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมทั่วถึงด้วยหรือไม่…

การก่อรัฐประหารกับหลักการของศาสนาเป็นไปได้ด้วยกันหรือไม่ หรือว่าจะมีความย้อนแย้งทั้งหลักการและแนวทางแห่งการปฏิบัติหรือความคงอยู่แห่งความเป็นมนุษย์ อำนาจและผลประโยชน์แห่งชนชั้นของผู้ปกครองกับประชาชนหาเช้ากินค่ำธรรมดามีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมยุติธรรมอย่างดีหรือไม่…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image