ถอดบทเรียน : การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ถอดบทเรียน : การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ถอดบทเรียน : การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

เป็นระยะเวลาเกือบสิบปีที่ไม่มีการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และตามลำดับถัดไปในเดือนมีนาคม 2564 ก็จะเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ต่อจากนั้นจึงจะมีการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ซึ่งแน่นอนว่าก่อนจะมีการเลือกตั้งนั้น ก็ย่อมต้องมีการสมัครรับเลือกตั้งเสียก่อน โดยการสมัครรับเลือกตั้งนั้น พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ในมาตรา 49 และมาตรา 50 นอกจากนั้น ในมาตรา 51 วรรคสอง ยังได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้รับสมัครเลือกตั้งต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียภาษีของตนอีกด้วย

การตรวจคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น นอกจากจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแล้ว

ยังเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย เพราะหากผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใด สมัครรับเลือกตั้งทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังฝ่าฝืนสมัครรับเลือกตั้ง อาจต้องรับโทษทางอาญาทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ ตลอดจนอาจถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้

Advertisement

ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 สามารถจัดกลุ่มการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เป็น 3 ด้าน คือ ด้านคุณสมบัติที่ต้องมีของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ด้านคุณสมบัติที่ต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง และด้านคุณสมบัติเพิ่มเติมตามที่กฎหมายต้องการ

คุณสมบัติที่ต้องมี บัญญัติไว้ในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 คือ

1) ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด คุณสมบัติข้อนี้ฟังดูแล้ว อาจจะดูไม่มีความยุ่งยาก แต่ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะมีประเด็นคำถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละรายมีสัญชาติไทยโดยการเกิด หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนในการตรวจสอบเป็นอย่างมาก และจำเป็นต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำการตรวจสอบ

Advertisement

ดังนั้น สำนักทะเบียนกลางจึงได้อำนวยความสะดวกให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ด้วยการมอบหมายให้นายทะเบียนจังหวัด ของแต่ละจังหวัด ช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

2) ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น (สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง ส่วนผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง

3) ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง กรณีมีการย้ายทะเบียนบ้านภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งก็สามารถนับระยะเวลาต่อเนื่องได้

แต่ถ้ามีการย้ายข้ามเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถนำระยะเวลามานับรวมกันได้

4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา นายกเทศมนตรีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา

ตามกรณีข้อ 4) นี้ แม้ว่าจะใช้คุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งเพียงข้อเดียวก็ได้ แต่หากผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติหลายข้อก็ เช่น จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เคยเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาด้วย ก็สามารถยื่นหลักฐานประกอบการสมัครได้ในทุกๆ ข้อ ที่ตนมีคุณสมบัติที่ต้องห้าม บัญญัติไว้ในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งมีจำนวนมากถึง 26 ข้อ ในที่นี้ผู้เขียนขอแยกออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1) ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากโทษทางการเมือง เช่น ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้วแต่กรณี มายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง อยู่ในระหว่างถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง

2) ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากโทษทางวินัยหรือจริยธรรม ในกรณีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สมัครเลือกตั้งที่เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการการเมืองมาก่อน (ทั้งการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ) เช่น เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

เคยพ้นจากตำแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทน หรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแก่ราชการ และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง

3) ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากโทษทางอาญา เช่น ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐาน เป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

4) ลักษณะต้องห้ามอื่นๆ อันเป็นลักษณะส่วนตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น เป็นผู้ติดยาเสพติด เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช

เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการ ส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ในกรณีหลัง คือ ห้ามสมัครหรือรับเลือกตั้งซ้ำซ้อนกัน

กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องไม่ติดยาเสพติดให้โทษ มีประเด็นตั้งต้นว่า จะตรวจสอบได้อย่างไรว่าผู้สมัครรายใดติดยาเสพติด หรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีใบรับรองแพทย์มาประกอบการสมัครรับเลือกตั้งด้วย ดังนั้น ในใบรับรองแพทย์ดังกล่าว ควรมีการรับรองด้วยว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งรายนั้นๆ ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

ส่วนกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ กรณีนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจคุณสมบัติ หรือแม้แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเอง อาจจะสับสนว่า ความเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ต้องพิจารณาประการใด เพราะก่อนหน้านี้ คำพิพากษาของศาลยุติธรรมกับศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไปคนละแนวทางกัน แต่ในกรณีการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการวินิจฉัยตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ พิจารณาจากความเป็นจริงในการดำเนินกิจการ เช่น หากผู้สมัครรับเลือกตั้งมีชื่อเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท แต่หุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นๆ ไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ผู้สมัครรายนั้นก็ไม่ต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง

คุณสมบัติเพิ่มเติมที่กฎหมายต้องการ บัญญัติไว้ในมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 คือ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งยื่นหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี ดังนั้น ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งรายใด ที่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปีภาษี 2561 2562 และ 2563 ก็ควรเตรียมหลักฐานดังกล่าวไว้ โดยเฉพาะผู้สมัครที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2563 ควรรีบจัดการเสียภาษีให้เรียบร้อยก่อนการสมัครรับเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ เพื่อจะได้ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งต้องใช้ประกอบในการสมัครรับเลือกตั้ง

เมื่อยื่นหลักฐานต่างๆ ประกอบการรับสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ผู้สมัครนำมายื่นต่อไป หากเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ก็จะมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นต่อไป

โดยเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการ ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดรับสมัคร ซึ่งตามความเป็นจริงการประสานการตรวจสอบคุณสมบัติไปยังองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ มักจะมีความล่าช้า ดังนั้น เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งไปแล้ว แต่มีความปรากฏว่า ผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนหรือถูกต้อง จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว

นี่คือข้อมูลเบื้องต้นอันเกิดจากการถอดบทเรียน : การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึงนี้ และหวังว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้จะสมัครรับเลือกตั้ง ในการสำรวจตนเองเบื้องต้นก่อนสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายต่างๆ ที่อาจจะตามมาภายหลัง หากคุณสมบัติของตนเองไม่ถูกต้องหรือสมบูรณ์

ธีรพันธ์ อินต๊ะปาน
นิติกรชำนาญการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image