สถานีคิดเลขที่12 : หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย ปราปต์ บุนปาน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านผ่านพ้นไปแล้ว

ต้องยอมรับว่าคราวนี้ ส.ส.ฝ่ายค้าน เตรียมตัวมาดีเกินคาด จนสามารถดึงความสนใจของสังคมและประชาชนผู้นิยมระบอบประชาธิปไตยได้มากพอสมควร

แม้ความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบรัฐสภาจะเหลือน้อยลง แม้กระแสของม็อบบนท้องถนนคล้ายจะพุ่งสูงเกินเพดานของนักการเมือง แม้จะมีเครื่องมือสื่อสาร-รับฟังข้อมูลชนิดใหม่ๆ เช่น แอพพลิเคชั่น “คลับเฮาส์”

ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2564 สมาชิกพรรคฝ่ายค้านเริ่มรุกไล่ผู้นำรัฐบาลด้วยข้อมูลเชิงรายละเอียดอันน่าสงสัย ทั้งระดับส่วนรวมและส่วนตัว ซึ่งนายกรัฐมนตรี-รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นอดีตนายทหารใหญ่ สามารถแจกแจงให้คำตอบได้ยาก

Advertisement

กระทั่งมีลักษณะ “ตอบเหมือนไม่ตอบ”

ก่อนจะมีการเปิดประเด็นกรณี “ทุจริต” ในหลายโครงการของภาครัฐ ที่ “ฟังขึ้น” และเรียกปฏิกิริยา “เสียอาการ” จากบรรดารัฐมนตรีผู้ถูกอภิปราย ตลอดจนมือประท้วง ได้ชัดเจน

แล้วลงท้ายด้วยการกล่าวถึงสภาวะ “ไม่ปกติ” ต่างๆ ในโครงสร้างทางการเมืองยุคปัจจุบัน

Advertisement

หากวัดเฉพาะเนื้อหาของการอภิปราย ย่อมต้องประเมินว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน “สอบผ่าน”ทั้งพรรคเพื่อไทยที่ดูหนักแน่น เอาจริง และทำการบ้านมามากขึ้น และพรรคก้าวไกลที่รักษามาตรฐานของอนาคตใหม่เอาไว้ได้

นี่เป็นบทพิสูจน์ว่า “ผู้แทนราษฎร” ยังมีน้ำยาและสามารถรับบทเป็นที่พึ่งของเหล่าราษฎร

เพราะแม้ในหลายๆ เรื่อง ประชาชน-คนรุ่นใหม่ จะออกเดินนำหน้านักการเมือง แต่ถึงที่สุด พวกเขาก็ยังต้องพึ่งพิงทักษะการพูดจาสื่อสารกับสาธารณะ การเรียบเรียงข้อมูลแบบมืออาชีพ และสถานภาพทางสังคมของบรรดาตัวแทนประชาชนในสภา

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ในฝ่ายค้านนั้นยังดำรงอยู่มิเสื่อมคลาย

ทั้งคนหน้าเดิมๆ ที่โหวตให้ข้างรัฐบาลมาเกือบตลอด รวมถึง 4 ส.ส.ชุดใหม่จากพรรคก้าวไกล ที่เริ่มแสดงท่าที “เธอปันใจ” ตั้งแต่กรณีเห็นต่างเรื่องการแก้ไข ม.112 มาจนถึงการลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย

นี่คือรอยร้าวที่มิได้เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นรอยปริแยกระหว่าง “ความเป็นจริงทางการเมือง” สองชุด คือ ความเป็นจริงบนพื้นฐานทางอุดมการณ์ กับ ความเป็นจริงว่าด้วยฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ เงินตรา และอำนาจรัฐ

ทั้งนี้ สังคมการเมืองไทยก็มิได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดย ส.ส. ฝ่ายค้าน เพียงองค์ประกอบเดียว

ความอยู่รอดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้ข้องเกี่ยวกับศักยภาพการนำเสนอข้อมูลของฝ่ายค้าน ไม่ได้อยู่ที่กระบวนการลงมติในสภา ซึ่งอย่างไรเสียฝ่ายซึ่งกุมเสียงมากกว่าก็ชนะ และไม่ได้ยึดโยงกับความคิดเห็นของประชาชนนอกสภาสักเท่าใด

ทว่าเสถียรภาพของรัฐบาลชุดนี้ดูจะผูกพันอยู่กับเกมคณิตศาสตร์ทางการเมือง ว่าใครได้คะแนน “ไว้วางใจ” มากน้อยกว่ากัน ผ่านชุดคำถาม อาทิ

รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐที่ได้คะแนนไว้วางใจน้อยกว่าคนอื่นๆ และบางคนก็มีบาดแผลใหญ่โตชัดเจนเหลือเกินในการอภิปรายฯ งวดนี้ จะมีสถานภาพและตำแหน่งแห่งที่อย่างไรต่อไปภายใน ครม. และพรรค?

การที่ ส.ส.กลุ่มเล็กๆ ในพรรคพลังประชารัฐ เลือกงดออกเสียง แทนที่จะโหวตไว้วางใจ รมว.คมนาคม ของพรรคภูมิใจไทย การที่ ส.ส.บางคนในพรรคประชาธิปัตย์ เลือกแสดงท่าทีงดออกเสียง มากกว่าจะไว้วางใจหัวหน้าพรรคของตนเอง นั้นมีความหมายอย่างไรในทางการเมือง?

ทำไมนายกรัฐมนตรีผู้ที่พูดเยอะสุด ด้วยน้ำเสียงก้องดังและท่วงท่าขึงขังมากที่สุด ต้องอารมณ์เสียบ่อยครั้งที่สุด และน่าจะเหนื่อยใจในการปฏิบัติหน้าที่มายาวนานที่สุด จึงไม่เคยได้คะแนนไว้วางใจสูงที่สุดสักที

นี่หมายความว่าท่านผู้นำรัฐบาลมิใช่บุคคลผู้มี “บารมีทางการเมือง” สูงสุดกระนั้นหรือ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image