การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน:เมื่อทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ขยะล้นโลก

การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน:เมื่อทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ขยะล้นโลก

การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน:เมื่อทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ขยะล้นโลก

มติชนฉบับที่แล้วได้พูดถึงยุคสมัยที่มีฮิปปี้ในอเมริกา เป็นปฏิกิริยาต่อสภาพสังคมที่พัฒนาแล้ว ที่ไม่อาจให้ความหมายที่แท้จริงแก่ชีวิต ถึงแม้จะมีวัตถุเจริญพรั่งพร้อม แต่การหาความสุขทางวัตถุไม่ทำให้มีความสุขได้จริง ยิ่งเสพมากเพื่อจะให้ถึงความสุขเต็มที่ ก็กลับจบลงด้วยความรู้สึกที่มัวหมอง เหมือนกับของหวาน เมื่ออร่อยมากก็กินเข้าไปจนเต็มที่ แต่แทนที่จะสุขเต็มที่กลับจบลงด้วยความอืดเฟ้ออื้อตื้อ เชื้อเชิญโรคเบาหวานความดันให้กับตัวเราเสียอีก
คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่พอใจและเบื่อหน่ายต่อสภาพความเจริญแบบสมัยใหม่ เขามองไม่เห็นว่าวัตถุต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาจะทำให้เกิดความสุขที่แท้จริง ชีวิตไม่มีความหมาย “วัฒนธรรม” หรือระเบียบของสังคมที่แสวงหาวัตถุนั้นมีกันไปทำไมยุ่งยาก ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้เรื่องได้ราว พวกนี้ปฏิเสธสังคมและทิ้งสังคม เช่น เห็นว่าการผูกเนกไท ใส่เสื้อสากลไม่มีความหมาย เป็นทุกข์เดือดร้อนเปล่าๆ ถอดออกเสียก็หมดเรื่อง ไม่ต้องไปใส่มัน นอนกลางดินกินกลางทราย คลุกฝุ่นมีความสุขดีกว่า “พวกฮิปปี้มีปรัชญาแบบนั้น” จึงปฏิเสธสังคมไม่เอาระเบียบแบบแผนอะไรทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ก็ปล่อยผมยาวรุงรัง ไม่ต้องอาบน้ำแล้วก็ใส่เสื้อผ้าขะมุกขะมอม ไม่ต้องซักไม่ต้องรีด กินอยู่หลับนอนตามสบาย ตั้งกันขึ้นเป็นคอมมูน (Commune) เกิดขึ้นทั่วไป

ในปี 2517 มีสถิติว่า ในอเมริกาเหนือมีชุมชนคอมมูนพวกฮิปปี้ในชนบทถึง 1,000 คอมมูน ส่วนในเมืองมี 2 เท่า คือ 2,000 คอมมูน แล้วระบาดมาทางประเทศตะวันออกด้วย ไปไหนก็เจอฮิปปี้มากมาย

อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่คนถึงกับปฏิเสธสังคม เรียกว่าไปสุดโต่งตรงข้ามไม่เอาแล้วความเจริญทางวัตถุที่สร้างขึ้นอารยธรรมสมัยใหม่นี้ไม่มีความหมาย พวกนี้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง อยู่อย่างคนยุคโบราณสมัยบุพกาลดีกว่า มีความหมายเป็นจริงตามธรรมชาติและเป็นสุขกว่า นี่เป็น “ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสังคม”

Advertisement

หันมาดูประเทศไทยในยุคที่ผ่านมานี้ คนไทยเราหันไปหาความเจริญสมัยใหม่ โดยมองออกไปต่างประเทศแล้วก็หันมาดู “วัฒนธรรม” ของตนเอง คำว่า “สมาธิ” คำว่า “สมาถะ” คำว่า “วิปัสสนา” นี้ “คร่ำครึ” ไม่มีความหมายเลยสำหรับคนไทยในยุคนี้ แต่พอฝรั่งสนใจเรื่องสมาธิ เรื่องวิปัสสนาขึ้นมา คนไทยก็เอาบ้าง ตอนหลังนี้คนไทยสนใจสมาธิ คำว่า “สมาธิ” กลับมีความหมายเป็นสำคัญ มีคุณค่าหรือแม้กระทั่งโก้หรูขึ้นมาอีก กลายเป็นว่า เรานี้ตามฝรั่งกันมาตลอด แม้แต่จะสนใจเรื่องตัวเองก็ยังต้องไปสนใจตามฝรั่ง

“โยคะ” ก็ได้รับความสนใจต่อเนื่องกันมากระทั่งปัจจุบัน หรืออย่างมหาฤาษีมหาโยคี เข้าไปในประเทศอเมริกาก็ทำให้เกิดขบวนการสมาธิใหม่ เรียกว่า Transcendental Meditation หรือ “TM” ประมาณ พ.ศ.2502 (ค.ศ.1959) แต่ดังขึ้นมาในปี พ.ศ.2510 (ค.ศ.1967) เพราะว่าพวก Beatles ซึ่งเป็นนักดนตรี นักร้องเพลงที่มีชื่อเสียงในระยะนั้นซึ่งคนสนใจนิยมกันมากพวกนี้ไปหา TM ก็ยิ่งทำให้คนไปพลอยนิยมไปด้วย นับว่าเป็นขบวนการอีกพวกหนึ่งไปจากตะวันออก

แม้แต่ศาสนาคริสต์ก็ยังไปจากตะวันออก ก็มีสวนทางกับศาสนาคริสต์ของเดิม เป็นขบวนการศาสนาคริสต์นิกายใหม่ ที่ศาสนาคริสต์ด้วยกันในประเทศตะวันตกไม่ยอมรับ ได้แก่ พวกซันยังมูน (Sun Hyung Moon) ซึ่งยังมีอิทธิพลอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เขาบอกว่าพวกซันยังมูนนี้เข้าไปทำรายได้ เฉพาะในประเทศอังกฤษปีเดียวใน พ.ศ.2521-2522 มีรายได้ล้านปอนด์ ตัวซันยังมูนก็ไปถูกคดีติดคุกอยู่ในอเมริการะยะหนึ่งแล้วออกจากคุกมามีรายได้มากมาย กิจการใหญ่โตขึ้น”

Advertisement

นอกจากนี้มีสิทธิอื่นๆ เกิดมากมาย เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันแม้แต่ประธานาธิบดีเคนเนดี (John F. Kennedy) ที่ถูกยิงเสียชีวิตทำให้เกิดลัทธิบูชาเคนเนดีขึ้นมา มีการเชื่อว่าลัทธินี้สามารถติดต่อกับวิญญาณของเคนเนดีให้มารักษาโรคร้ายแรงได้

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เรื่องอย่างนี้ไม่เป็นไปเฉพาะในประเทศไทย แต่ในประเทศตะวันตกก็ได้เป็นแล้ว ปัจจุบันนี้ประเทศอเมริกาที่กำลังเด่นดังก็คือ พวกขบวนการหรือลัทธิ New Age ต่างๆ …

เมื่อธรรมชาติที่แวดล้อมเป็นปัญหาการพัฒนาก็มาถึงจุด “วิกฤต” : ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องวิกฤตการณ์ “ด้านวัฒนธรรม” หรือ “ทางสังคมและด้านจิตใจ” แล้วก็มาลงท้ายที่ “วิกฤตการณ์ทางสภาพแวดล้อม” ที่กล่าวแล้วว่า “ปัญหาสังคมและปัญหาจิตใจ” มีขึ้นมาก็ยังพออยู่กันไปได้โลกยังพอเป็นที่อาศัยได้ เมื่อตรงนี้อยู่ไม่ได้ก็ไปอาศัยอยู่ตรงโน้นต่อไป พอหลบเลี่ยงกันไป แต่พอมาถึง “ปัญหาสภาพแวดล้อม” นี้มันกลายเป็น “ตัวโลกเอง” ที่เราอยู่อาศัยนี้มันจะพังพินาศก็เลยตกใจกันใหญ่ คราวนี้จึงรู้สึกว่าจะต้องเอาจริงเอาจังก็ตื่นตัวกันขึ้นมา

แต่ที่จริงแล้วปัญหาสภาพแวดล้อมเกิดมานานแล้ว และได้พูดรายละเอียดไว้ที่อื่นบ้างแล้ว โดยสรุปปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมขมวดได้เป็นปัญหา 2 อย่างคือ

(1) ของดีมีอยู่ในโลกก็ถูกผลาญให้หมดไป อาจจะเรียกว่าเป็นปัญหาประเภทความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ พูดง่ายๆ ว่า “สิ่งดีที่มีอยู่ก็หมดไป”
(2) “สิ่งที่เสีย” ก็ถูกระบายให้แก่โลก หมายความว่า “คน” เรานี้เอาของดีที่มีอยู่ในโลกมาใช้ให้หมดไป และพร้อมกันนั้น กินใช้ของเขาหมดไปไม่พอ ยังแถมระบายของเสียใส่ให้แก่โลกเสียด้วย ก็เลยเกิดปัญหา 2 อย่างคือ ของดีก็ผลาญให้หมดไป ของเสียก็ยัดให้แก่โลก

⦁ ปัญหาไม่อยู่แค่นั้น แต่ที่สำคัญมันไปเกี่ยวกระทบกับองค์ประกอบที่ 3 คือ “ประชากร” ด้วย เพราะประชากรโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชากรยิ่งมากก็ยิ่งล้างผลาญทรัพยากรมากขึ้น และยิ่งระบายของเสียใส่ให้โลกมากขึ้น สรุปได้คือ เกิดปัญหา 3 เส้าคือ

(1) ผลาญของดีให้หมดไป (2) ระบายของเสียให้แก่โลก (3) ประชากรยิ่งมากขึ้น ปัญหาด้านผลาญของดีและระบายของเสียก็ยิ่งหนักขึ้น

ขอยกตัวอย่างเขาให้สถิติว่า “ป่า” เป็นทรัพยากรสำคัญของโลก ป่านั้นหมดไป ปีละ 105 ล้านไร่ พื้นที่เพาะปลูกกลายเป็นทะเลทราย ปีละ 36 ล้านไร่ พันธุ์สัตว์พันธุ์พืชสูญไปปีละประมาณห้าพันชนิด หรือ 5,000 Specie เพราะป่าถูกทำลาย ก็มีอุทกภัย คือน้ำท่วมบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น พร้อมกับที่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ บ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วย เนื่องจากน้ำเหือดหาย แม่น้ำและแหล่งน้ำทั้งหลายแห้งไปหรือ “ปริมาณน้ำน้อยลง” มีภัยแล้งมากขึ้น อย่างประเทศไทยปัจจุบันนี้แม้แต่ถิ่นที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็มีการขาดแคลนน้ำ ชนิดไม่น่าจะเกิด ซึ่งคนไทยสมัยก่อนคงนึกไม่ออกว่าจะเกิดมีขึ้นได้ นี่คือตัวอย่างด้านการผลาญของดีที่มีอยู่

ปัญหาที่ 2 : การระบายของเสียให้แก่โลก ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากการผลิตและการบริโภค เวลาเราจะผลิตอะไร เช่น ทำสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากจะเอาทรัพยากรธรรมชาติมาทำลายแล้ว เราก็ปล่อยของเสีย เช่น ควันขึ้นไปเป็นการระบายของเสียให้แก่โลก พอถึงเวลาบริโภคก็เกิดเอาขยะเอาไปใส่ให้แก่โลกอีก เป็นอันว่า “มนุษย์” ไม่ว่าจะผลิตหรือบริโภคโลกใบนี้ต้องถูกทำลายรับแต่ของเสียทั้งนั้น

คำว่า “การผลิต” ที่ถือว่าเป็นการ “สร้าง” ในความหมายของมนุษย์กลายเป็นการทำลายธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เวลานี้เมื่อมนุษย์พูดว่า “สร้าง” ก็แปลได้ว่า “กำลังทำลาย” จึงต้องเข้าใจความหมายคำว่า “สร้าง” กันใหม่ว่า “การผลิตเป็นการสร้างทางเศรษฐกิจ” แต่ก็มีความหมายอย่างหนึ่งว่าเป็นการทำลายด้วย โดยเฉพาะการทำลายธรรมชาติ เพราะนอกจากจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้หมดเปลืองไปแล้ว ก็ทำให้ของเสียเกิดขึ้นมากมาย มีมลภาวะ (Pollution) มีสารเคมีที่เป็นพิษ เกิดช่องโหว่ในชั้นโอโซนที่อยู่เหนือโลกขึ้นไปโดยเฉพาะที่ขั้วโลก และมีปัญหาเรื่องขยะต่างๆ ตลอดจนกากนิวเคลียร์

ของเสียพวกหนึ่งเป็นอันตรายมากคือ แก๊ส เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเมื่อปล่อยขึ้นไปในอากาศก็ทำให้เกิดปัญหามากมายปัญหาหนึ่งก็คือ ทำให้เกิด “ฝนน้ำกรด” ฝนซึ่งเป็นน้ำธรรมชาติที่ดีที่เราเคยอาศัย แต่เดี๋ยวนี้ชักจะอาศัยไม่ได้กลายเป็นของไม่บริสุทธิ์ และมีอันตรายไปเสียแล้ว เพราะถูกแก๊สจากโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์แล้วกลายเป็นฝนกรดที่ทำอันตรายแก่โลกมาก

การเกิดช่องโหว่ของชั้นโอโซนในอากาศนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ และปัญหาการเกษตร ทำให้ชีวิตทั้งหลายถูกกระทบกระเทือน เช่น ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เกิดมะเร็งผิวหนังในสหรัฐ ในสหรัฐอีกครึ่งศตวรรษ ประมาณกันว่าจะมีคนเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง 200,000 ราย อย่างนี้เป็นต้น

⦁ อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ “ปัญหาขยะ” ซึ่งมากขึ้นจนกระทั่งโลกนี้จะเต็มไปด้วยขยะ เมื่อ พ.ศ.2530 (ค.ศ.1987) เรือขยะลำหนึ่งชื่อ Mobro ออกจากเกาะ Long Island ในเมืองนิวยอร์ก วิ่งเที่ยวหาที่ทิ้งขยะประมาณเกือบ 10,000 กม. กว่าจะทิ้งได้ เป็นครั้งแรกที่ทำให้ประเทศอเมริกาเริ่มตื่นตัวว่า บัดนี้ภัยขยะร้ายแรงถึงอย่างนี้แล้ว

มีเรื่องเล่าถึงอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องที่กรีนพีซ (greenpeace) หรือองค์การสันติภาพเขียว ซึ่งเป็นองค์การที่รักษาสภาพแวดล้อมได้เปิดเผยว่า ประเทศอเมริกาได้ไปทำสัญญากับประเทศจีน จะเอาขยะไปทิ้ง ประเทศจีนก็ตกลง แต่ให้เอาไปทิ้งที่ประเทศทิเบต ที่อยู่ใต้ปกครองของตน เมื่อกรีนพีซเปิดเผยออกมาอย่างนี้ประเทศอเมริกาก็เลยอาย ต้องถอยไม่ได้ไปทิ้ง ปัญหาขยะนี้กำลังเป็นเรื่องหนักอกหนักใจมากแก่ประเทศอเมริกา คือ ปัญหาที่ทิ้งขยะทิ้งกันมานาน อีกไม่ช้าจะเต็ม แล้วจะไม่มีที่ทิ้ง ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มีแต่เพิ่มขึ้น และเพิ่มอัตราความเร็วที่มากยิ่งขึ้นด้วย

ปัญหาสองอย่างนี้เกิดจากใคร ก็เกิดจาก “คน” เพราะฉะนั้นองค์ประกอบที่สามคือ ประชากร Population แต่เขามักมองกันในแง่ที่ประชากรเพิ่มมากขึ้นรวดเร็ว จะล้นโลก แต่ที่ปัญหาประชากรมี 2 อย่าง คือ

1) ประชากรในประเทศฝ่ายกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา ที่ยากจนพวกหนึ่ง ซึ่งเป็น “ฝ่ายโลกที่ 3”
2) ประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว หรือร่ำรวยพวกหนึ่ง โดยเฉพาะเรียกว่า “ฝ่ายโลกที่ 1”

ประชากรพวกนี้ที่จริงมีปัญหาในการก่อความเสียหายแก่สภาพแวดล้อมด้วยกันทั้งนั้น แต่ในปัจจุบัน พวกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหนังสือตำรับตำราเป็นของประเทศพัฒนาแล้ว จะเพ่งเล็งไปที่ประเทศยากจนที่กำลังพัฒนาว่ามีการเพิ่มปริมาณมาก ทำให้เกิดปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรม แต่ไม่ค่อยดูตัวเองว่าประชากรทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งพวกตัวเองด้วยนี้ล้วนทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ธรรมชาติของโลกทั้งสิ้น

หากพูดปัญหาโดยรวม คือ ประชากรของโลกปัจจุบันนี้กว่า 5,500 ล้านคน โดยมีอัตราเพิ่มปีละกว่า 92 ล้านคน ในบรรดากว่า 92 ล้านที่เพิ่มขึ้นแต่ละปีนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วคุมประชากรอยู่ (Population Control) โดยมีการวางแผนครอบครัวอย่างดี ก็เลยไม่มีประชากรเพิ่ม ส่วนประเทศกำลังพัฒนามีประชากรเพิ่ม 88 ล้านคน ใน 92 ล้านคน เพราะฉะนั้นเขาจึงเพ่งไปที่ประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา

ทั้งนี้ ก็เพราะว่าคนเกิดมากในประเทศที่ยากจน เมื่อไม่มีอะไรจะกินก็ต้องไปบุกรุกธรรมชาติ หาที่ทำกิน ตัดไม้ทำลายป่า เพื่อจะหาเลี้ยงชีพ ทำให้สภาพแวดล้อมเสียหาย อันนี้ก็เป็นปัญหาที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน

ที่นี้อาจพูดไปว่า การลดอัตราเพิ่มประชากรก็ไม่เป็นหลักประกันที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะคนน้อยบริโภคมาก ถ่ายของเสียมาก คือประเทศด้อยพัฒนาหรือยากจนนั้น พอมีอัตราเกิดน้อยลง พร้อมทั้งมีฐานะดีขึ้น รวยขึ้น ก็กินมากขึ้น ถ่ายเทของเสียมากขึ้น มันก็กลับไปมีความหมายเกือบเหมือนเดิม

เพราะฉะนั้น ปัญหาธรรมชาติแวดล้อม ถ้าใช้วิธีเก่าการแก้ปัญหาก็ไม่เห็นความหวังที่จะแก้ได้สำเร็จ เพราะอะไร? เพราะว่าแม้แต่ในขณะนี้ ในจำนวนประชากรทั่วโลกเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องเพิ่มขึ้นเลย ทำให้มนุษย์ทุกคนบริโภคและถ่ายเทของเสียเท่ากับคนอเมริกา ทรัพยากรธรรมชาติก็ไม่พอ สภาพแวดล้อมก็ทนไม่ไหว “โลกก็ไปไม่รอด” คนก็อยู่ไม่ได้ จะเหมือนอย่างที่นาย Alan Durning เขียนไว้ว่า

“จะเอาอย่างความเป็นอยู่แบบบริโภคมากน่ะรึ กว่าประชากรโลกจะบรรลุฝันอเมริกา (American dream) กันทั่ว พวกเราก็คงจะทำให้โลกนี้กลายเป็น แผ่นดินร้างไปเสียก่อนนานแล้ว” (Durning, 16) ไงเล่าครับ…

โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image