สถานีคิดเลขที่ 12 : กอดระเบิด

สถานีคิดเลขที่ 12 : กอดระเบิด

สถานีคิดเลขที่ 12 : กอดระเบิด

รัฐบาลเข้าใกล้ครึ่งหลังของวาระที่กำหนดไว้ 4 ปี

การเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเดือน มี.ค.2562 มาถึง มี.ค.2564 ปีนี้ ถ้าเป็นฟุตบอลถือว่าใกล้ “ครึ่งหลัง” แล้ว

แต่การเมืองไม่มีพักครึ่งเวลา ถ้าจะปรับแผนก็ต้องปรับกันในสนามนั่นเอง

Advertisement

รัฐบาลนี้ เดินทางมาเกือบครึ่งทาง ผู้ชมและสังคมคงประเมินได้ว่า ฟอร์มการเล่นเป็นยังไง ชนะเกม ชนะใจประชาชนหรือไม่

ช่วงนี้ จะต้องปรับเปลี่ยนตัวผู้เล่นหลายตำแหน่ง เพราะคำพิพากษาคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2556-2557

คงต้องมีการปรับ-สลับ กันฝุ่นตลบพอสมควร การวิ่งเต้นทำให้การเมืองในพรรคเข้มข้นขึ้น

Advertisement

ปรับแล้วเกมจะดีขึ้นหรือไม่ ต้องติดตามดูกันไป

การทำงานก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกเรื่องที่เห็นเด่นชัด และมีผลต่อประสิทธิภาพของรัฐบาลด้วย คือการสิ้นเปลืองเวลาไปมากกับปัญหาการเมือง

การเมืองในพรรคต้องมีอยู่แล้ว อาศัยการบริหารจัดการก็อาจเบาบางไป

แต่ที่น่าหนักใจ และดูจะแก้ไขยากคือการเมืองภายนอก

เป็นการเมืองเรื่องของ “ความชอบธรรม” ซึ่งหมายถึง ความถูกต้องเหมาะสมที่สาธารณชนยอมรับ

อย่างยึดอำนาจในพม่า ความไม่ชอบธรรม เป็นเงื่อนไขให้เกิดการต่อต้านทั้งในประเทศและนานาชาติ

ปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ในประเทศแถวๆ นี้ มาจากการเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร ยึดอำนาจกันตรงๆ ดื้อๆ

หรือแบบเนียนๆ ยึดอำนาจผ่านกฎกติกา

ปัญหาความชอบธรรมของบ้านเรา เกิดจากกฎกติการะดับสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ ที่ออกแบบเพื่อบุคคลเฉพาะกลุ่ม

ผลการเลือกตั้งชี้ชัดว่า ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง แต่รัฐธรรมนูญดีไซน์มาอีกแบบ ไม่ยอมประมวลผลการเลือกตั้งตามที่ประชาชนเลือก

กลายเป็นเสียง 250 ส.ว. มากำหนดว่าใครจะเป็นนายกฯ หรือเป็นรัฐบาล

ผลที่ออกมา ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งแค่ ส.ส. แต่นายกฯ จะเป็นใคร รัฐบาลจะเป็นใคร เป็นหน้าที่ของรัฐธรรมนูญ และ ส.ว.แต่งตั้ง

รัฐบาลใดที่เข้าสู่อำนาจด้วยบทบัญญัติแบบนี้ ยากที่จะทำงานมีความสุข และยากที่จะอำนวยความสุขให้เกิดกับประชาชน

เพราะบทบัญญัติแบบนี้ เป็น “เงื่อนไข” ทำให้เกิดการต่อต้านโดยอัตโนมัติ

ขณะที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็ไม่มีความสุข เพราะขึ้นชื่อว่าประชาชนผู้เสียภาษี มีสิทธิเลือกตั้ง ย่อมรับไม่ได้ ที่จะอยู่ภายใต้กติกาแบบนี้

พลเมืองส่วนหนึ่งจะลุกขึ้นทวงถาม กลายเป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญและผู้ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญโดยอัตโนมัติ

นี่คือ “ความแตกแยก” ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์เพื่อพวกเรา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหนทางออกจากปัญหาความไม่ชอบธรรม ซึ่งหมายถึงความเป็นปกติของการเมือง

ไม่อย่างนั้น ทิศทางที่บ้านเมืองกำลังมุ่งไป จะไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น

ไหนๆ ปรับ ครม. เปลี่ยนแปลงบุคคล ก็น่าจะปรับความคิด เปลี่ยนแปลงกฎกติกาให้เป็นสากลมากขึ้น

วางระเบิดที่กอดไว้ลง เอาเวลาไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีสัญญาณดีขึ้นจากการระดมฉีดวัคซีน จะเป็นประโยชน์มากกว่า

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image